sexually harassment คือ พฤติกรรมคุมคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางกาย ทางคำพูด หรือแม้แต่การพิมพ์ข้อความที่ส่อไปทางเรื่องเพศลงในโซเชียลมีเดีย โดย sexually harassment เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย การกระทำเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจให้แก่ผู้ที่ถูกกระทำ เช่น ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ไม่ปลอดภัย หวาดกลัว ขุ่นเคืองใจหรืออับอาย นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล เก็บตัว จนก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางกายในระยะยาวได้
sexually harassment คืออะไร
sexually harassment คือ การคุมคามหรือล่วงละเมิดทางเพศกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้รับความยินยอมทั้งทางกายและทางวาจา เช่น การแตะเนื้อต้องตัว โอบกอด การพูดส่อไปในเรื่องทางเพศ การจ้องมองส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การพูดล้อเลียนรูปร่าง การเขียนจดหมาย ส่งข้อความหรือส่งรูปภาพร่างกายให้กับผู้อื่น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยอาจเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ได้ หากทำให้ใครคนใดรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ปลอดภัย กลัว ขุ่นเคืองใจหรืออับอาย ก็ถือเป็นการคุมคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศทั้งสิ้น
การคุมคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศอาจส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยอาจทำให้ผู้ที่ถูกกระทำรู้สึกเป็นตราบาปในจิตใจ จนอาจเกิดเป็นภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หมดความนับถือในตัวเองหรืออาจรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย รวมทั้งอาจกระทบต่อสุขภาพกายทำให้มีอาการเหนื่อยล้า ปวดหัว นอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร จนอาจส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วยได้
พฤติกรรมแบบไหน คือ sexually harassment
พฤติกรรมที่แสดงออกถึงการคุมคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยผู้อื่นไม่ให้ความยินยอม ซึ่งอาจมีหลายรูปแบบดังนี้
- การแสดงออกทางกาย เช่น การเข้าไปยืนใกล้ผู้อื่นมากเกินไป ลูบตัว กอด จูบ โอบไหล่ โอบกอด การนวด แสดงสีหน้า ขยิบตา เลียริมฝีปากหรือส่งจูบให้ผู้อื่น การสะกดรอยตาม การถ่ายภาพใต้กระโปรง
- การแสดงออกทางกิริยาอาการ สายตาหรือวาจา เช่น การส่งเสียงเรียก ผิวปากหรือแซว การพูดตลกเรื่องเพศ การพูดเสียดสีหรือพูดชี้นำทางเพศ การพูดขอร่วมเพศกับคนที่ไม่รู้จัก คำถามล่วงล้ำที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว พูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกาย รูปลักษณ์หรือเสื้อผ้าที่ผู้อื่นสวมใส่ การแสดงท่าทางคุกคามทางเพศ การจ้องมองร่างกายผู้อื่น การมองใต้กระโปรง พูดเรื่องโกหกหรือปล่อยข่าวลือเรื่องทางเพศของคนอื่น
- การแสดงออกทางโซเชียลมีเดีย เช่น การส่งอีเมล การส่งข้อความ การโพสต์ การส่งรูปภาพ ที่เป็นข้อความอนาจาร ส่อไปในเรื่องทางเพศหรือส่งรูปภาพร่างกายไปให้ผู้อื่น
sexually harassment ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร
การคุมคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศเป็นพฤติกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจได้ ดังนี้
ผลกระทบต่อสุขภาพจิต
ผลกระทบต่อสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกคุมคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศ ได้แก่
- ความกลัว ความโกรธ
- ความรู้สึกอัปยศ เป็นตราบาป
- ความรู้สึกผิด โดดเดี่ยว เก็บตัว
- ความรู้สึกหมดกำลังใจ หมดความนับถือตัวเอง
- ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล
- โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Posttraumatic Stress Disorder หรือ PTSD)
- โรคแพนิก (Panic Disorder)
- ความคิดใช้สารเสพติด
- ความคิดฆ่าตัวตาย
ผลกระทบต่อสุขภาพกาย
ผลกระทบต่อสุขภาพกายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกคุมคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศ ได้แก่
- ความเครียดที่รุนแรง อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูง
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดหัว มึนงง สับสน
- นอนไม่หลับ
- เบื่ออาหาร ไม่ยอมกินอาหาร
สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อถูก sexually harassment
เมื่อถูกคุมคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศควรปฏิบัติตัวตามขั้นตอนต่อไปนี้ เพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกคุกคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศ
- แสดงออกถึงความไม่พอใจ ผู้ที่ถูกกระทำควรแสดงออกถึงความรู้สึกไม่พอใจทันที จากนั้นให้ถอยห่างจากบุคคลนั้น
- ส่งเสียง เพื่อขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างและเพื่อให้ผู้กระทำหยุดพฤติกรรมที่คุกคามทางเพศทันที
- เก็บบันทึกหลักฐาน ผู้ที่ถูกกระทำควรเก็บบันทึกหลักฐานด้วยการถ่ายภาพ บันทึกเสียงหรือบันทึกวิดีโอ เพื่อใช้เป็นหลักฐานให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อยืนยันตัวผู้กระทำผิด
- แจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น ควรแจ้งปัญหาให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อจับตัวผู้กระทำผิด หรือเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวัน
การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิด sexually harassment
สำหรับวิธีการป้องกันตัวเองและผู้อื่นไม่ให้ถูกคุมคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศอาจทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ไม่ควรเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ปิดสนิทและไม่มีคน หรือการเข้าไปอยู่ในห้องกับผู้อื่นสองต่อสอง เพราะอาจเสี่ยงต่อการถูกคุมคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศ
- สังเกตและระวังตัว ควรระมัดระวังตัวเองอยู่เสมอโดยเฉพาะหากอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีคน หรืออยู่ในพื้นที่เบียดเสียด เช่น บนรถเมล์ รถไฟฟ้า ในห้องปิดสนิท
- ไม่นิ่งเฉย ต้องแสดงออกถึงความไม่พอใจและไม่นิ่งเฉยกับการคุกคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่นเพื่อให้พฤติกรรมนั้นหยุดลง
- ขัดขวางการกระทำผิด หากพบเห็นผู้อื่นกำลังถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ อาจเข้าไปให้ความช่วยเหลือทันที เช่น ส่งเสียงเตือน เรียกคนให้มาช่วย เพื่อหยุดพฤติกรรมเหล่านั้น ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยป้องกันการคุกคามหรือการล่วงละเมิดทางเพศในระยะยาวได้หากทุกคนช่วยกัน
- ร้องเรียน ควรร้องเรียนและแจ้งเหตุให้กับผู้ดูแลพื้นที่หรือองค์กรที่ทำงานอยู่ทราบทันที เพื่อให้ช่วยป้องกันเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต