backup og meta

เล็บขาว สาเหตุ และการดูแลสุขภาพเล็บ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    เล็บขาว สาเหตุ และการดูแลสุขภาพเล็บ

    เล็บขาว หรือมีรอยจุดสีขาวบนเล็บ อาจเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อราที่เล็บ หรืออาจเกิดจากการบาดเจ็บที่เล็บ ร่างกายขาดแร่ธาตุ หรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ดังนั้น หากพบอาการเล็บขาวเป็นระยะเวลานาน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด และทำการรักษาเพื่อฟื้นฟูสุขภาพเล็บให้กลับมามีสุขภาพดีดังเดิม

    เล็บขาว เกิดจากอะไร

    สาเหตุที่ทำให้เล็บขาว อาจมีดังนี้

  • การติดเชื้อราที่เล็บ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อราเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) ที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่อับชื้น เช่น บริเวณสระว่ายน้ำ โรงยิม ห้องอาบน้ำรวม เสื้อผ้าที่มีการสะสมของเหงื่อ เมื่อสัมผัสอาจทำให้เชื้อราเข้าสู่เล็บมือและเล็บเท้า และส่งผลให้เล็บมีสีขาวหรือสีน้ำตาล มีขุยใต้เล็บ เล็บหนาขึ้นแต่เปราะบาง และส่งกลิ่นเหม็น นอกจากนี้ การทำเคมีบำบัดอาจทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่าย จึงอาจส่งผลให้มีโอกาสติดเชื้อราที่เล็บได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
  • โรคผิวหนังอักเสบ เช่น โรคสะเก็ดเงิน อาจก่อให้เกิดความเสียหายที่เล็บส่งผลให้เล็บมีสีขาวได้
  • การบาดเจ็บที่เล็บ เช่น ประตูหนีบนิ้ว ค้อนทุบนิ้ว หรือของแข็งอื่น ๆ กระทบกับเล็บ อาจส่งผลให้เนื้อเยื่อใต้เล็บเสียหาย และเกิดเป็นจุดสีขาวบนเล็บ เมื่อเล็บยาวขึ้นอาจสามารถตัดเล็บที่มีจุดสีขาวออกได้ตามปกติ
  • ร่างกายขาดแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม สังกะสี อาจทำให้เล็บเปลี่ยนสีเป็นสีขาว หรือมีจุดสีขาวบนเล็บได้
  • สารพิษ เช่น ตะกั่ว สารหนู โลหะ หากรับประทานเข้าไป อาจทำให้เกิดเป็นเส้นสีขาวบนเล็บได้
  • พันธุกรรม บางคนอาจมียีนที่ทำให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับเม็ดเลือดขาว และทำให้เล็บเปลี่ยนสีเป็นสีขาวตั้งแต่แรกเกิด บางคนอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น สูญเสียการได้ยิน ซีสต์และหูดขึ้นบนผิวหนัง
  • โรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ปอดบวม เบาหวาน ตับแข็ง โลหิตจาง ไทรอยด์เป็นพิษ อาจส่งผลให้มีอาการเล็บขาวได้ แต่อาจเป็นสาเหตุที่พบได้น้อย
  • เล็บขาว รักษาได้อย่างไร

    การรักษาเล็บขาว อาจแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุที่เป็น ดังนี้

  • ยาต้านเชื้อรารูปแบบรับประทาน เช่น ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) และฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ใช้สำหรับรักษาผู้ที่มีอาการติดเชื้อราที่เล็บ โดยรับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 6-12 สัปดาห์ หรือตามดุลพินิจของคุณหมอ ยาต้านเชื้อราอาจทำให้ตับทำงานผิดปกติ ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับตับและโรคหัวใจ ควรแจ้งคุณหมอให้ทราบก่อนใช้ยา
  • ยาต้านเชื้อราแบบทาเฉพาะที่ คุณหมออาจให้ยาในรูปแบบน้ำยา หรือครีม เพื่อใช้รักษาการติดเชื้อราที่เล็บ โดยทาบริเวณเล็บที่ติดเชื้อรา และผิวหนังรอบ ๆ เล็บวันละ 1 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ควรล้างเล็บให้สะอาดก่อนทายา
  • การถอดเล็บ สำหรับผู้ที่ติดเชื้อราที่เล็บรุนแรง คุณหมออาจแนะนำให้ผ่าตัดถอดเล็บออก
  • การดูแลสุขภาพเล็บ

    การดูแลสุขภาพเล็บให้แข็งแรง อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อเพิ่มสารอาหารและแร่ธาตุให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและสังกะสี เช่น นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ตับ หอยนางรม
    • ตัดเล็บให้สะอาด เพื่อลดการสะสมเชื้อรา แบคทีเรีย และสิ่งสกปรกอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ และไม่ควรกัดเล็บ
    • หลีกเลี่ยงการใช้เล็บเพื่อเปิดฝาภาชนะ เพราะอาจส่งผลให้เล็บฉีกหรือเล็บหักได้
    • ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังรอบเล็บและเล็บมือเล็บเท้า
    • หมั่นล้างมือและเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งสนิท เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและป้องกันความอับชื้นที่อาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา
    • หลีกเลี่ยงการทำเล็บหรือติดเล็บปลอม ไม่ควรตัดจมูกเล็บออก หรือแคะเล็บให้ลึกเข้าไป เพราะสารเคมีในน้ำยาทาเล็บและการตะไบหน้าเล็บอาจทำให้เล็บเสียหายและเปราะบางได้
    • สวมใส่รองเท้าเมื่อไปสถานที่ที่มีความชื้นสูงหรือมีน้ำขัง เช่น ห้องอาบน้ำ สระว่ายน้ำ และควรเลือกรองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้น
    • หากจำเป็นต้องสัมผัสสารเคมี ควรสวมถุงมือให้รัดกุมและล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสสารเคมี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา