เล็บเท้าเป็นเชื้อรา อาจเกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโทไฟท์ (Dermatophytes) ที่อาจแพร่กระจายจากเล็บหนึ่งไปสู่อีกเล็บหนึ่งได้ หากสังเกตพบอาการเล็บเปลี่ยนสีจากสีขาวเป็นสีเหลือง เล็บหนาขึ้น หรือส่งกลิ่นเหม็น และมีอาการคันบริเวณเล็บเท้า ควรรับการรักษาจากคุณหมอทันที เพื่อป้องกันเล็บเสียหายอย่างถาวร
[embed-health-tool-bmr]
เล็บเท้าเป็นเชื้อรา มีสาเหตุจากอะไร
เล็บเท้าเป็นเชื้อราอาจเกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโทไฟท์ ที่เจริญเติบโตมากเกินไป โดยอาจมีปัจจัยบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นและเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อราที่เล็บเท้า ดังนี้
- สภาพอากาศร้อนชื้น ที่ส่งผลให้ร่างกายขับเหงื่อบริเวณฝ่าเท้าออกมามาก และเกิดการอับชื้น
- การสวมรองเท้าแน่นจนเกินไปทำให้ไม่มีการระบายอากาศ
- การเดินเท้าเปล่าในบริเวณที่เปียกชื้น มีน้ำขังอย่างสระว่ายน้ำ หรือห้องอาบน้ำสาธารณะ
- การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ติดเชื้อรา เช่น รองเท้า ถุงเท้า พรมเช็ดเท้า
- อายุที่มากขึ้น อาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และเล็บยาวช้าลง ทำให้ประสิทธิภาพในการต้านเชื้อราลดลง
- ภาวะทางสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน ปัญหาการไหลเวียนของเลือด อาการบาดเจ็บที่เล็บ ประวัติการผ่าตัดบริเวณนิ้วเท้าและเล็บเท้า โรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต โรคสะเก็ดเงิน
อาการของ เล็บเท้าเป็นเชื้อรา
อาการของเล็บเท้าเป็นเชื้อรา อาจสังเกตได้ดังนี้
- เล็บเท้าหนาขึ้น
- เล็บเปลี่ยนสีจากสีขาวเป็นสีเหลือง สีน้ำตาล สีเขียว หรือสีดำ
- เล็บเปราะบาง แตกหักง่าย
- เล็บมีรูปทรงบิดเบี้ยว ปลายเล็บอาจมีลักษณะบานออก หรือม้วนขึ้นด้านบน
- อาจมีอาการเจ็บเวลากดเล็บ
- มีสิ่งสกปรกหรือขุยสะสมอยู่ใต้เล็บ
- เล็บเท้าอาจส่งกลิ่นเหม็น
- คันบริเวณผิวหนังรอบเล็บเท้า
หากสังเกตว่ามีอาการดังกล่าว ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรงที่อาจแพร่กระจายไปยังเล็บอื่น ๆ
เล็บเท้าเป็นเชื้อรา รักษาอย่างไร
วิธีการรักษาเมื่อเล็บเท้าเป็นเชื้อรา มีดังต่อไปนี้
- ยาต้านเชื้อรารูปแบบรับประทาน เช่น เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยคุณหมออาจแนะนำให้รับประทานวันละ 1-2 ครั้ง เป็นเวลา 6-12 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านั้น ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผื่นที่ผิวหนัง หัวใจเต้นผิดปกติ อีกทั้งยังอาจเป็นอันตรายต่อตับ จึงไม่แนะนำสำหรับผู้ที่เป็นโรคตับและโรคหัวใจ
- ยาต้านเชื้อราในรูปแบบทา ที่มีในรูปแบบครีมและยาทาเล็บ เช่น ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) เอฟินาโคนาโซล (Efinaconazole) ใช้สำหรับทาบนเล็บและผิวหนังรอบเล็บเพื่อช่วยกำจัดเชื้อรา โดยคุณหมออาจแนะนำให้ทาวันละ 1 ครั้ง จนกว่าเล็บจะงอกขึ้นมาใหม่ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 เดือน หรือ 12-18 เดือน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ
- การผ่าตัด สำหรับผู้ที่มีอาการติดเชื้อราที่เล็บเท้าอย่างรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา อาจจำเป็นต้องรับการผ่าตัดเพื่อถอดเล็บออก และทายาต้านเชื้อราบนผิวหนังใต้เล็บโดยตรง
วิธีป้องกันไม่ให้เล็บเท้าเป็นเชื้อรา
วิธีป้องกันไม่ให้เล็บเท้าเป็นเชื้อรา อาจทำได้ดังนี้
- ล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่เป็นประจำทุกวันและเช็ดให้แห้งสนิท โดยเฉพาะหลังจากการทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออก เช่น การออกกำลังกาย
- ตัดเล็บให้สั้น เพื่อลดการสะสมของสิ่งสกปรกที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อ
- ทำความสะอาดรองเท้าและถุงเท้าเป็นประจำ และควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่ถุงเท้าและรองเท้าที่อับชื้นหรืออาจโรยผงต้านเชื้อราในรองเท้า
- ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ถุงเท้า รองเท้า พรมเช็ดเท้า กรรไกรตัดเล็บ
- เลือกรองเท้าและถุงเท้าที่ทำจากวัสดุที่สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี และควรเลือกขนาดรองเท้าที่พอดีกับเท้า เพื่อให้ระบายอากาศดี ลดความอับชื้น
- เมื่อต้องแช่เท้าอยู่ในบริเวณที่มีน้ำขังเป็นเวลานาน ควรรีบถอดรองเท้า ล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง