backup og meta

เล็บเหลือง สาเหตุ และการดูแล

เล็บเหลือง สาเหตุ และการดูแล

เล็บเหลือง อาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น กลุ่มอาการเล็บเหลือง การติดเชื้อราที่เล็บ การแพ้ยาทาเล็บ รวมถึงอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเบาหวาน โรคปอด โรคไทรอยด์ ความผิดปกติของระบบน้ำเหลือง และโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ ซึ่งอาจจำเป็นต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-bmr]

สาเหตุที่ทำให้เล็บเหลือง

เล็บเหลือง อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • ติดเชื้อราที่เล็บ

การติดเชื้อราที่เล็บเกิดขึ้นเมื่อเชื้อราบริเวณเล็บมีการเจริญเติบโตมากเกินไป จนทำให้เกิดการติดเชื้อที่เล็บ และมีอาการเล็บเหลือง เปราะบาง รูปร่างผิดปกติ และมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการไหลเวียนของเลือดลดลง ที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในบริเวณมือและเท้าลดลง จนไม่สามารถควบคุมปริมาณของเชื้อราได้ หรืออาจเกิดจากความอับชื้นในบริเวณเล็บมือหรือเล็บเท้า โดยอาจมีปัจจัยอื่นเข้ามากระตุ้น เช่น การมีเหงื่อออกมาก การเช็ดมือหรือเท้าไม่แห้ง การเดินเท้าเปล่าบริเวณรอบสระว่ายน้ำและห้องอาบน้ำ

  •  ยาทาเล็บ

การใช้ยาทาเล็บบ่อย ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เล็บเปลี่ยนสีได้ ซึ่งมักจะไม่เป็นอันตรายใด ๆ และอาจค่อย ๆ หายได้เองเมื่อหยุดทาเล็บ

  • กลุ่มอาการเล็บเหลือง

กลุ่มอาการเล็บเหลืองเป็นภาวะที่พบได้ยาก ซึ่งอาจเกิดจากการที่เล็บเจริญเติบโตช้า หนังกำพร้ารอบเล็บเสียหาย ส่งผลให้เล็บเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองและหนาขึ้น

นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว อาการเล็บเหลืองอาจเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดโรคสะเก็ดเงิน โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ ไซนัสอักเสบ วัณโรค และโรคปอด หากพบว่ามีอาการเล็บเหลืองนานเกินกว่า 10 วัน รวมถึงมีอาการเจ็บปวดที่เล็บ เล็บบวม เลือดออก ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดและทำการรักษาในทันที

การรักษาเล็บเหลือง

การรักษาเล็บเหลือง อาจทำได้ ดังนี้

  • ยาต้านเชื้อรารูปแบบรับประทาน เช่น เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผื่นที่ผิวหนัง ตับได้รับความเสียหาย อีกทั้งยังไม่แนะนำสำหรับผู้ที่เป็นโรคตับและโรคหัวใจ
  • ยาต้านเชื้อราในรูปแบบทา ใช้สำหรับทาบนเล็บและผิวหนังรอบเล็บเพื่อช่วยกำจัดเชื้อรา โดยควรทายาวันละ 1 ครั้ง และควรล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนทายา ควรตะไบเล็บร่วมด้วย
  • การผ่าตัด สำหรับผู้ที่มีอาการเล็บเหลืองเนื่องจากการติดเชื้อราที่เล็บอย่างรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา อาจจำเป็นต้องรับการผ่าตัดเพื่อถอดเล็บออก และทายาต้านเชื้อราบนผิวหนังใต้เล็บโดยตรง
  • หลีกเลี่ยงการทาเล็บ สำหรับผู้ที่มีอาการเล็บสีเหลืองเนื่องจากน้ำยาทาเล็บ ควรงดการทาสีเล็บอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อให้สีเล็บกลับมาเป็นปกติ

นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีอาการเล็บเหลืองเนื่องจากโรคทางเดินหายใจ โรคสะเก็ดเงิน โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ ไซนัสอักเสบ และวัณโรค ควรรักษาโรคที่อาจเป็นสาเหตุของอาการเล็บเหลือง ซึ่งอาจแตกต่างกันออกไปตามแต่ละโรค

วิธีดูแลเล็บให้มีสุขภาพดี

วิธีดูแลเล็บให้มีสุขภาพดี อาจทำได้ดังนี้

  • ตัดเล็บมือและเล็บเท้าให้สั้นในระดับที่พอเหมาะ รวมถึงทำความสะอาดบริเวณเล็บและหนังกำพร้าโดยรอบ หากเล็บแข็งเกินไปหรือตัดยาก ควรแช่มือและเท้าในน้ำอุ่นผสมเกลือประมาณ 5-10 นาที ก่อนตัดเล็บ
  • ไม่ควรตัดหนังขอบเล็บออก
  • ไม่ควรกัดเล็บหรือหนังกำพร้าเพราะอาจทำให้เล็บได้รับความเสียหาย
  • ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์หรือโลชั่นสำหรับบำรุงเล็บและมือเป็นประจำ
  • ไม่ควรใช้เล็บเจาะ แกะ แคะ หรือเปิดของแข็ง ๆ เช่น กระป๋องน้ำอัดลม กระป๋องนม
  • เลือกสวมรองเท้าที่พอดีกับเท้า ระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้น และควรสวมรองเท้าในบริเวณที่มีน้ำขังหรือมีความชื้นสูง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อรา เช่น รอบสระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำสาธารณะ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Slideshow: What Your Nails Say About Your Health. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/ss/slideshow-nails-and-health. Accessed May 04, 2022

Slide show: 7 fingernail problems not to ignore. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/multimedia/nails/sls-20076131?s=7. Accessed May 04, 2022

Nail fungus. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/nail-fungus/symptoms-causes/syc-20353294. Accessed May 04, 2022

Fungal nail infection. https://www.nhs.uk/conditions/fungal-nail-infection/. Accessed May 04, 2022

TIPS FOR HEALTHY NAILS. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/EVERYDAY-CARE/NAIL-CARE-SECRETS/BASICS/HEALTHY-NAIL-TIPS. Accessed May 04, 2022

Fingernails: Do’s and don’ts for healthy nails. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/nails/art-20044954. Accessed May 04, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/04/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

กัดเล็บบ่อยๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

ถอดเล็บ ขั้นตอนการรักษาและการดูแล


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา