หลายคนอาจมีความเข้าใจผิดในเรื่องการ ถอนผมหงอก เพื่อช่วยขจัดผมเก่าที่เสื่อมสภาพ หรือความเชื่อผิด ๆ ที่ยิ่งถอนจะยิ่งทำให้ผมหงอกเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันการถอนผมหงอกอาจยิ่งเร่งกระบวนการหลุดร่วงของเส้นผมและอาจทำร้ายรูขุมขน ซึ่งอาจทำให้ผมไม่งอกขึ้นใหม่และอาจส่งผลให้ผมบางลงในระยะยาวได้
ผมหงอก เกิดจากอะไร
ในปัจจุบัน อาจยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดผมหงอกอย่างแน่ชัด แต่ปัญหาผมหงอกมักเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุมาก โดยอาจเริ่มมีผมหงอกในช่วงอายุประมาณ 30-40 ปี จึงอาจเป็นไปได้ว่าผมหงอกอาจเกิดขึ้นเมื่อเซลล์เม็ดสีเมลานินในรูขุมขนค่อย ๆ ตายลงเมื่อมีอายุมากขึ้น ทำให้เส้นผมมีเม็ดสีเมลานินน้อยลงหรือไม่มีเม็ดสีเมลานินเหลือเลย ส่งผลให้เส้นผมมีสีอ่อนลงหรือเปลี่ยนไปเป็นสีอื่น ๆ เช่น สีเทา สีขาว สีน้ำตาล ซึ่งผมหงอกจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วอาจขึ้นอยู่กับยีนในร่างกายที่ได้รับสืบทอดมาทางพันธุกรรม หรือในบางกรณีอาจมีสาเหตุมาจากความเครียด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจากโรคบางชนิด เช่น โรคด่างขาว โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง โรคต่อมไทรอยด์ โรคทางระบบประสาท ภาวะขาดวิตามินบางชนิด
ถอนผมหงอก ดีหรือไม่
อาจมีบางความเชื่อ กล่าวว่า ยิ่งถอนผมหงอกจะยิ่งทำให้ผมหงอกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่การถอนผมหงอกนั้นจะยิ่งทำให้ผมบางลงเร็วขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาผมบางหรือหัวล้านได้ในอนาคต เพราะการถอนผมเป็นการเร่งกระบวนการให้เส้นผมเข้าสู่ระยะสุดท้าย (Telogen Phase) ของวงจรเส้นผมเร็วกว่าปกติ
โดยวงจรเส้นผมอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะเจริญเติบโต (Anagen Phase) เป็นระยะเริ่มแรกของการเจริญเติบโตที่ร่างกายจะกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์รากผม เพื่อให้ผมงอกยาวออกมากจากรูขุมขน ซึ่งระยะนี้อาจใช้เวลาประมาณ 3-7 ปี
- ระยะหยุดเจริญเติบโต (Catagen Phase) เป็นระยะที่เส้นผมจะหยุดการเจริญเติบโต โดยรากผมจะมีขนาดเล็กลงและเริ่มแยกตัวออกจากเส้นเลือดที่เลี้ยงผม ซึ่งจะอยู่ในระยะนี้ประมาณ 2-3 สัปดาห์
- ระยะสุดท้ายของเส้นผม (Telogen Phase) เป็นระยะที่ผมเก่าจะแยกตัวออก โดยมีเส้นผมใหม่ค่อย ๆ ดันเส้นผมเก่าออกมา ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จากนั้นจะวนกลับสู่ระยะเจริญเติบโตอีกครั้ง
ดังนั้น การถอนผมหงอกจึงถือเป็นการเร่งกระบวนการหลุดร่วงของเส้นผมตามธรรมชาติ ซึ่งการถอนผมหงอกบ่อยครั้งนอกจากจะไม่ช่วยให้ผมใหม่เปลี่ยนเป็นสีดำสนิทได้แล้ว ยังอาจทำร้ายรูขุมขนและเร่งกระบวนการหลุดร่วงของเส้นผมที่อาจทำให้เส้นผมไม่งอกขึ้นใหม่
การดูแลรักษาเส้นผมเมื่อเริ่มมีผมหงอก
การดูแลเส้นผมให้ผมแข็งแรงและสุขภาพดีอาจสามารถช่วยชะลอการเกิดผมหงอกได้ และยังอาจช่วยให้ผมมีสุขภาพดียิ่งขึ้น ดังนี้
- งดการสูบบุหรี่ เนื่องจากการสารเคมีในควันบุหรี่อาจเร่งกระบวนการเสื่อมสภาพของเซลล์เม็ดสีในเส้นผม ซึ่งส่งผลให้เส้นผมอ่อนแอลง และอาจเกิดผมหงอกก่อนวัยได้
- รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินดี เหล็ก สังกะสี ทองแดง และกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อปลาทะเล ตับ ไข่ นมไขมันต่ำ ผักใบเขียว ถั่ว ธัญพืช เนื่องจากสารอาหารเหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของรูขุมขนและเส้นผม
- เข้ารับการรักษาโรคประจำตัวอย่างเคร่งครัด เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคไพบอลดิซึม (Piebaldism) กลุ่มอาการวาร์เดนเบิร์ก (Waardenburg Syndrome) โรคด่างขาว โรคผมร่วงเป็นหย่อม โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง โรคไทรอยด์ เนื่องจากโรคเหล่านี้อาจส่งผลให้ผมสูญเสียเม็ดสีเมลานิน และผมหงอกเร็วขึ้น
- จัดการกับความเครียด เพราะความเครียดอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่สามารถเร่งกระบวนการการเสื่อมสภาพของเม็ดสีในเส้นผม และอาจทำให้ผมหลุดร่วงได้ง่ายขึ้น จึงควรจัดการกับความเครียดด้วยการหากิจกรรมที่ชอบเพื่อผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ออกกำลังกาย
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากในช่วงเวลานอนหลับร่างกายจะเริ่มกระบวนการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และยังช่วยลดฮอร์โมนความเครียดที่อาจเป็นสาเหตุทำให้ผมอ่อนแอลง