backup og meta

ผมร่วง สาเหตุ อาการและการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    ผมร่วง สาเหตุ อาการและการรักษา

    ผมร่วง คือ การสูญเสียเส้นผมบนหนังศีรษะ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หากมีผมร่วงมากกว่าปกติอาจเป็นปัญหาสุขภาพหนังศีรษะและเส้นผมที่เกิดจากพันธุกรรม ฮอร์โมนไม่สมดุล หรือพฤติกรรมการทำร้ายหนังศีรษะและเส้นผม เช่น การฟอกสีผม การมัดผมแน่นที่ทำให้เส้นผมและหนังศีรษะอ่อนแอ ส่งผลให้มีผมร่วงและผมขาดง่าย อีกทั้งยังอาจนำไปสู่ปัญหาผมบางและศีรษะล้านได้หากไม่ทำการรักษา

    คำจำกัดความ

    ผมร่วง คืออะไร

    ผมร่วง คือ การหลุดร่วงของเส้นผม ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เนื่องจากเส้นผมมีวงจรการหลุดร่วงประมาณ 100-150 เส้น/วัน และจะมีเส้นผมใหม่เจริญเติบโตมาแทนที่ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีผมงอกใหม่ หรือผมร่วงมากเกินไปจนเห็นหนังศีรษะอย่างชัดเจน ควรเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันภาวะศีรษะล้าน

    อาการ

    อาการของผมร่วง

    • ผมร่วงบริเวณด้านบนหนังศีรษะ เป็นอาการผมร่วงที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากโดยอาจมีผมร่วงบริเวณตามแนวหน้าผากขึ้นไป ส่งผลให้หน้าผากกว้างขึ้น
    • ผมร่วงเป็นหย่อม ส่งผลให้มองเห็นหนังศีรษะเป็นบางจุด
    • ผมร่วงกะทันหัน ที่เกิดจากการหวีผมแรง การหนีบผม การมัดผมแน่น หรือการดึงผม ทำให้ผมร่วงกะทันหันโดยยังไม่ถึงวงจรการหลุดร่วงของเส้นผมตามธรรมชาติ
    • ผมร่วงและหนังศีรษะอักเสบ ที่สังเกตได้จากอาการคันหนังศีรษะ และตกสะเก็ด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคกลากและสะเก็ดเงินบนหนังศีรษะ
    • ผมร่วงทั้งหนังศีรษะ อาจเกิดจากการทำเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ที่อาจทำให้เส้นผมและขนตามร่างกายหลุดร่วง แต่อาการนี้อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและผมมักงอกขึ้นใหม่ได้หลังเสร็จสิ้นการรักษา

    ควรเข้าพบคุณหมอทันที หากสังเกตว่าผมร่วงมากและผมบาง รวมถึงมีอาการผิดปกติ เช่น สะเก็ดบนหนังศีรษะ อาการคันรุนแรง

    สาเหตุ

    สาเหตุของผมร่วง

    สาเหตุของผมร่วง มีดังนี้

    • พันธุกรรม หากครอบครัวมีปัญหาผมร่วงก็อาจส่งผลให้บุตรหลานมีปัญหาผมร่วงได้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีลักษณะเป็นผมร่วงตรงกลางของหนังศีรษะ หรือบริเวณขมับทั้งสองข้าง
    • อายุที่มากขึ้น อาจทำให้เซลล์ในร่างกายเสื่อมสภาพ ที่ส่งผลให้เส้นผมหยุดการเจริญเติบโต นำไปสู่อาการผมร่วงและศีรษะล้าน
    • ฮอร์โมนไม่สมดุล โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ วัยหมดประจำเดือน การตั้งครรภ์ ที่อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล และอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม จนนำไปสู่อาการผมร่วง
    • ปัญหาทางจิตใจ เช่น ความเครียด ภาวะซึมเศร้า อาจทำให้เกิดพฤติกรรมการดึงผม เพื่อผ่อนคลายความเครียด ส่งผลให้หนังศีรษะเสียหาย มีอาการผมร่วงและผมบาง
    • สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น แชมพูสระผม ครีมนวดผม ยาย้อมผม สเปรย์จัดแต่งทรงผม น้ำยาฟอกสีผม รวมถึงการเป่าผมด้วยลมร้อน การหนีบผม การหวีผมอย่างรุนแรง และการมัดผมแน่น ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของหนังศีรษะและเส้นผม ทำให้ผมร่วง
    • ร่างกายขาดสารอาหาร เช่น วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินบี 7 วิตามินดี สังกะสี เหล็ก ที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม หากร่างกายได้รับสารอาหารเหล่านี้ไม่เพียงพออาจส่งผลให้เส้นผมแห้งเสียและผมร่วง
    • การติดเชื้อรา อาจเกิดจากการสัมผัสเชื้อราร่วมกับหนังศรีษะไม่แห้ง ทำให้เชื้อราเจริญเติบโตมากกว่าปกติ ส่งผลให้รูขุมขนและรากผมถูกทำลาย นำไปสู่อาการผมร่วงบริเวณที่มีผื่น
    • ผลข้างเคียงของยา การใช้ยาบางชนิดสามารถทำให้ผมร่วงมากขึ้นได้ เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยารักษาข้ออักเสบ ยารักษาโรคเกาต์ ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาภาวะซึมเศร้า รวมถึงการฉายรังสีและการทำเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง
    • โรคภูมิแพ้ตัวเอง เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ที่รบกวนการเจริญเติบโตของเส้นผม ส่งผลให้มีผมร่วงเป็นหย่อม

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงของผมร่วง

    ปัจจัยเสี่ยงของผมร่วง มีดังนี้

    • อายุที่มากขึ้น
    • พันธุกรรม
    • ความเครียด
    • พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ที่ส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหาร
    • โรคเรื้อรัง เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคเบาหวาน  โรคไทรอยด์ โรคด่างขาว

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยผมร่วง

    การวินิจฉัยผมร่วง อาจทำได้ดังนี้

    • สอบถามประวัติสุขภาพ เช่น พฤติกรรมการดูแลเส้นผม พฤติกรรมการรับประทานอาหาร และประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว
    • การตรวจเลือด คุณหมออาจเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจในห้องแล็บ เพื่อหาสาเหตุที่อาจทำให้ผมร่วง
    • การตรวจชิ้นเนื้อบนหนังศีรษะ คุณหมออาจเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อบนหนังศีรษะและเส้นผม จากนั้นนำมาส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่อาจทำให้ผมร่วง
    • การเพาะเชื้อ โดยเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อบนหนังศีรษะนำไปเพาะเชื้อ เพื่อตรวจสอบว่าอาการผมร่วงเกิดจากการติดเชื้อราหรือไม่

    การรักษาผมร่วง

    การรักษาผมร่วง อาจทำได้ดังนี้

    • ยาไมน็อกซิดิล (Minoxidil) คือ ยาที่มีในรูปแบบโฟม และสารละลาย ใช้เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม สำหรับในรูปแบบโฟมควรใช้ในปริมาณ ½ ฝา โดยถูบนหนังศีรษะเบา ๆ และรอให้โฟมแห้งสนิทก่อนเข้านอน สำหรับรูปแบบสารละลาย ควรใช้ในปริมาณ 1 มิลลิลิตร หรือ 20 หยด วันละ 2 ครั้ง โดยชโลมบนหนังศีรษะที่แห้งสนิท และงดสระผมเป็นเวลา 4 ชั่วโมง หรือใช้ก่อนเข้านอน
    • ยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) คือ ยาในรูปแบบรับประทาน ใช้เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม ลดผมร่วง โดยควรรับประทานวันละ 1 เม็ด ไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารก
    • การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) กรณีที่ผมร่วงเป็นหย่อมจากภาวะภูมิแพ้ตัวเอง ยานี้จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมให้งอกขึ้นใหม่ โดยควรเข้ารับการฉีดทุก ๆ 4-8 สัปดาห์
    • อาหารเสริม เช่น วิตามิน แร่ธาตุ สำหรับผู้ที่มีอาการผมร่วงจากร่างกายขาดสารอาหาร เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตให้เส้นผม และช่วยลดอาการผมร่วง
    • ฉีดพลาสมาในเลือด อาจช่วยชะลอการหลุดร่วงของเส้นผม โดยคุณหมอจะเจาะเลือดเพื่อนำเข้าเครื่องแยกพลาสมา เมื่อเลือดแยกชั้น จะใช้เข็มดูดเกล็ดเลือดที่อยู่ด้านบนนำมาฉีดในบริเวณที่ผมร่วง และควรเข้ารับการฉีดซ้ำทุกเดือน วิธีนี้อาจช่วยให้อาการผมร่วงดีขึ้นภายใน 2-3 เดือน
    • ปลูกผม เป็นวิธีรักษาผมร่วงโดยการตัดชิ้นเนื้อของหนังศีรษะบริเวณที่มีผมขึ้นหนา แล้วนำมาปลูกถ่ายบนหนังศีรษะบริเวณที่มีผมร่วง ผมบาง และศีรษะล้าน เพื่อช่วยสร้างรากผมให้แข็งแรงและกระตุ้นการเจริญเติบโตของผมเส้นใหม่

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันผมร่วง

    • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำลายรากผม เส้นผม และหนังศีรษะ เช่น การย้อมผม การฟอกสีผม การหนีบผม การมัดผมแน่น การหวีผมแรง เพราะอาจทำให้รูขุมขน หนังศีรษะและเส้นผมอ่อนแอ นำไปสู่อาการผมร่วง
    • ควรเลือกใช้แชมพูและครีมนวดที่ปราศจากน้ำหอม และควรเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมสูตรอ่อนโยนหรือใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เพื่อป้องกันผมร่วง
    • เน้นการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินบี 7 สังกะสี เหล็ก โปรตีน เช่น อาหารทะเล คะน้า กล้วย กะหล่ำ แตงกวา มะเขือเทศ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อัลมอนด์ เนื้อแดง เนื่องจากเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม
    • เลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่มีสารพิษที่อาจส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือดที่หล่อเลี้ยงเส้นผม ซึ่งอาจส่งผลให้เส้นผมหยุดการเจริญเติบโตและนำไปสู่อาการผมร่วง
    • หากมีพฤติกรรมการดึงผมตัวเอง ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาทางรักษา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา