backup og meta

ผมร่วงเกิดจากอะไร วิธีรักษาและการป้องกันผมร่วง

ผมร่วงเกิดจากอะไร วิธีรักษาและการป้องกันผมร่วง

โดยปกติ คนเราจะมีผมร่วงประมาณวันละ 50-100 เส้น การทราบว่า ผมร่วงเกิดจากอะไร อาจช่วยให้เข้าใจวงจรชีวิตของเส้นผม ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผมร่วง และสามารถดูแลผมได้เหมาะสมขึ้น แม้ภาวะผมร่วงจะพบได้ทั่วไป แต่หากผมร่วงมากอาจเกิดจากปัจจัยด้านกรรมพันธุ์และฮอร์โมน หรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียด การใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผม การฟอกสี การทำสีผม การรัดผมแน่นเกินไป ภาวะผมร่วงอาจรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยการใช้ยารักษาและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ผมหลุดร่วง หากสังเกตถึงอาการผมร่วงที่ผิดปกติ หรือทำให้เส้นผมบนศีรษะเริ่มบาง ควรรีบไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ ควรหมั่นดูแลเส้นผมอย่างถูกวิธีเพื่อให้เส้นผมมีสุขภาพดี และลดความเสี่ยงการเกิดภาวะผมร่วง

[embed-health-tool-heart-rate]

ผมร่วงเกิดจากอะไร

สาเหตุของภาวะผมร่วงผิดปกติหรือโรคผมร่วงที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ปัจจัยด้านกรรมพันธุ์และฮอร์โมน โรคผมร่วงชนิดนี้เรียกว่า โรคผมร่วงจากกรรมพันธุุ์หรือโรคผมบางแบบกรรมพันธุ์ (Androgenetic Alopecia) กรรมพันธุ์มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะผมร่วงมากกว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากยีนหลายตัวมีส่วนกำหนดลักษณะของเส้นผมของมนุษย์ อีกทั้งบางคนยังมีระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen hormones) หรือฮอร์โมนเพศชายสูง จึงทำให้เกิดโรคผมร่วงได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะในผู้ชายที่มักมีผมร่วงและผมบางอย่างเห็นได้ชัด และพบได้มากกว่าเพศหญิง

ทั้งนี้ โรคผมร่วงอาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้ได้เช่นกัน

  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เช่น การตั้งครรภ์ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ วัยหมดประจำเดือน อาจทำให้ผมร่วงได้
  • โรคผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) ที่ส่งผลต่อสุขภาพผิวหนังบริเวณศีรษะ อาจทำให้เกิดโรคผมร่วงได้
  • อายุที่มากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น เซลล์เส้นผมจะเสื่อมสภาพ ความหนาแน่นและขนาดของเส้นผมจะน้อยลง จนอาจทำให้ผมร่วงและบางลงได้
  • โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้เส้นผมร่วงเป็นหย่อม ๆ อาจเกิดขึ้นบริเวณเดียวหรือหลายจุดทั่วศีรษะ และอาจส่งผลกระทบต่อเส้นขนบริเวณอื่น ๆ ด้วย เช่น ขนตา ขนคิ้ว หนวดเครา
  • ความเครียดที่รุนแรง ความเครียดเรื้อรังจะส่งผลต่อรากผม และอาจทำให้รูขุมขนเข้าสู่ระยะพักตัว ส่งผลให้ผมหลุดร่วงแล้วไม่มีผมเส้นใหม่งอกขึ้นมาทดแทน นอกจากนี้ ภาวะเครียดทางร่างกาย เช่น อาการบาดเจ็บจากการผ่าตัด ภาวะน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้มีอาการผมร่วงภายใน 1-6 สัปดาห์ อีกทั้งภาวะเครียดอาจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมดึงผมตัวเอง ทำให้ผมร่วงและบางลงได้
  • การดูแลเส้นผมไม่ดี เช่น การมัดผมแน่นหรือตึงเกินไปเป็นเวลานาน การใช้ไดร์เป่าผมที่มีความร้อนสูง การหวีหรือแปรงผมอย่างรุนแรง การเช็ดผมแรง ๆ ขณะผมเปียก อาจทำให้เส้นผมเสียหายและหลุดร่วงได้ง่าย
  • ผลข้างเคียงของยา การใช้ยารักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคข้ออักเสบ โรคซึมเศร้า โรคเกาต์ โรคมะเร็ง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อเส้นผม และทำให้ผมร่วงได้
  • สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผม เช่น น้ำยาย้อมผม น้ำยายืดผม น้ำยาฟอกสีผม อาจไปทำลายรากผมและทำให้เส้นผมไม่แข็งแรง ส่งผลให้ผมหลุดร่วงมากกว่าปกติ

สัญญาณและอาการผมร่วง

สัญญาณและอาการผมร่วง อาจมีดังนี้

  • มีเส้นผมบางลงจนเห็นหนังศีรษะได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณกลางศีรษะ
  • เส้นผมและเส้นขนบริเวณอื่น ๆ เช่น ขนคิ้ว ขนตา หลุดร่วงเป็นหย่อม ๆ
  • ผมหลุดง่าย เมื่อหวีหรือสระผมแล้วผมติดหวีหรือติดมือมากกว่าปกติ
  • มีสะเก็ดผิวหนังกระจายทั่วศีรษะ ทำให้ผมบริเวณนั้นบางลง อาจเกิดจากโรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคเซ็บเดิร์ม โรคสะเก็ดเงิน

วิธีรักษาเมื่อผมร่วง

วิธีรักษาโรคผมร่วง อาจทำได้ดังนี้

  • การปลูกผม เป็นการผ่าตัดขนาดเล็กเพื่อนำรากผมจากบริเวณที่มีผมขึ้นหนาไปปลูกถ่ายในบริเวณที่มีเส้นผมขึ้นบางตา นิยมใช้รักษาปัญหาผมร่วงในระดับรุนแรง เช่น ผมร่วงจากอุบัติเหตุและการผ่าตัด ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ในผู้ชาย
  • การใช้ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil) มีทั้งชนิดใช้ภายนอกและชนิดรับประทาน ยานี้ช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และมีเส้นผมงอกใหม่ ทั้งนี้ควรใช้ในปริมาณและระยะเวลาที่คุณหมอแนะนำเท่านั้น และชนิดที่ใช้ภายนอกเป็นสารละลายและโฟมซึ่งจะทำให้เส้นขนขึ้นเฉพาะที่ ต้องชโลมน้ำยาให้สัมผัสกับหนังศีรษะมากที่สุด เป็นเวลา 2 ครั้ง/วัน ในช่วงเช้าและกลางคืน อาจต้องใช้ติดต่อกันเวลาอย่างน้อย 4-6 เดือนจึงจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน
  • การใช้ฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) เป็นยายับยั้งการทำงานของฮอร์โมนแอนโดรเจน ใช้ในผู้ป่วยเพศชายเท่านั้น ทำให้ผมร่วงช้าลง กระตุ้นการงอกของเส้นผมใหม่ ยาชนิดนี้ใช้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด/วัน และอาจต้องใช้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน
  • การฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นการรักษาโดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ โดยคุณหมอจะฉีดยาชนิดนี้เข้าไปที่ผิวหนังบริเวณที่ศีรษะล้านหรือมีเส้นผมไม่หนาแน่น อาจต้องฉีดยาทุก 4-8 สัปดาห์ วิธีนี้ได้ผลลัพธ์ดีสำหรับผู้ที่มีภาวะผมร่วงเป็นหย่อม ๆ

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันผมร่วง

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันผมร่วงก่อนกำหนดหรือผมร่วงมากเกินไป และช่วยบำรุงให้เส้นผมดูหนาและสุขภาพดี อาจทำได้ดังนี้

  • หลังสระผม ควรซับผมเบา ๆ ให้ผมแห้งสนิท หลีกเลี่ยงการขยี้ผมด้วยผ้าขนหนูหรือใช้ผ้าขนหนูรวบผมแล้วบิดเป็นเกลียว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนและสารเคมีกับเส้นผม เช่น การหนีบผม การม้วนผม การฟอกสี การยืดผมถาวร การดัดผม เพราะอาจทำให้เส้นผมเปราะบาง ขาดง่าย ทั้งยังระคายเคืองหนังศีรษะและผิวหนัง
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงเส้นผมที่เหมาะกับสภาพผมและหนังศีรษะ อาจช่วยบำรุงรากผมให้แข็งแรงและลดการอุดตันของรูขุมขน ทำให้ผมร่วงน้อยลงได้
  • สระผมด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิเหมาะสม ไม่น้ำร้อนหรือเย็นจนเกินไป
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารที่ช่วยบำรุงเส้นผม เช่น เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ ธัญพืช ซีเรียล ข้าวโอ๊ต จมูกข้าวสาลี ซึ่งอุดมไปด้วยธาตุเหล็กและโปรตีน ช่วยให้เส้นผมแข็งแรง
  • จัดการกับความเครียดที่อาจส่งผลสภาพจิตใจจนทำให้เกิดภาวะผมร่วง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hair loss. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hair-loss/symptoms-causes/syc-20372926. Accessed August 29, 2022

HAIR LOSS: WHO GETS AND CAUSES. https://www.aad.org/public/diseases/hair-loss/causes/18-causes. Accessed August 29, 2022

Understanding Hair Loss — the Basics. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/hair-loss/understanding-hair-loss-basics. Accessed August 29, 2022

Hair loss. https://www.nhs.uk/conditions/hair-loss/. Accessed August 29, 2022

Patterned hair loss. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/patterned-hair-loss. Accessed August 29, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/10/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผมร่วงเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและป้องกันได้อย่างไร

สาเหตุผมร่วง และวิธีป้องกัน มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา