backup og meta

ยาแก้ผมร่วง มีกี่ชนิด ออกฤทธิ์แตกต่างกันอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

    ยาแก้ผมร่วง มีกี่ชนิด ออกฤทธิ์แตกต่างกันอย่างไร

    ยาแก้ผมร่วง เป็นยารักษาอาการผมร่วงในผู้ที่มีผมร่วงแล้วผมไม่งอกใหม่ ทำให้ผมค่อย ๆ บางลงหรือหัวล้าน ทั้งนี้ ยาแก้ผมร่วงมีทั้งชนิดใช้ทาภายนอกหรือชนิดสำหรับรับประทานซึ่งออกฤทธิ์แตกต่างกันไป เช่น ไมน็อกซิดิล (Minoxidil) ออกฤทธิ์กระตุ้นการงอกของเส้นผม ผ่านการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและการเติบโตของรูขุมขน ฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) ออกฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยนฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ไปเป็นฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ผมร่วงและต่อมลูกหมากโต

    ผมร่วงเกิดจากอะไร

    ปกติแล้ว เส้นผมบนหนังศีรษะของมนุษย์จะร่วงวันละ 100-150 เส้น และผมงอกใหม่ขึ้นทดแทนสม่ำเสมอ แต่ในบางราย ผมอาจร่วงโดยไม่มีผมงอกใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    • พันธุกรรม หรือเรียกว่า ภาวะผมบางจากพันธุกรรม นับเป็นสาเหตุหลักของปัญหาผมร่วง เกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงเมื่อมีอายุมากขึ้น
    • ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุของผมร่วงแบบชั่วคราวที่เกิดขึ้นในระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์ ให้กำเนิดบุตร อยู่ในช่วงวัยทอง หรือมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
    • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคข้ออักเสบ โรคซึมเศร้า โรคเกาต์ มะเร็ง
    • การฉายรังสีหรือเคมีบำบัด เพื่อรักษาโรคมะเร็ง มักมีผลข้างเคียงทำให้ผมร่วงหลังจากการรักษาได้
    • การใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สำหรับเส้นผม ได้แก่ ยาย้อมผม น้ำยาฟอกสีผม สเปรย์จัดแต่งทรงผม รวมถึงสารเคมีจากมลภาวะรอบตัว เช่น สารหนู สารปรอท ลิเทียม (Lithium) แทลเลียม (Tallium)

    ยาแก้ผมร่วง มีกี่ชนิด อะไรบ้าง

    เมื่อมีปัญหาผมร่วงและไปพบคุณหมอหรือเภสัชกร มักได้รับคำแนะนำให้ใช้ยาแก้ผมร่วง ดังนี้

    • ไมน็อกซิดิล (Minoxidil) เป็นยาสำหรับใช้ภายนอกในรูปแบบของโฟม หรือแชมพู ซึ่งออกฤทธิ์เพิ่มการไหลเวียนของเลือดและกระตุ้นการเติบโตของรูขุมขนบริเวณที่ใช้ เพื่อให้ยานี้ออกฤทธิ์ได้เต็มประสิทธิภาพ ควรใช้วันละ 2 ครั้ง และควรใช้เป็นประจำติดต่อกันหลายเดือนเพื่อให้เห็นผลชัดเจน หากหยุดใช้ยากลางคันจะทำให้ผมกลับไปร่วงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ไมน็อกซิดิลเหมาะสำหรับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการผมร่วงกะทันหัน ผมร่วงโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือผมร่วงหลังคลอดบุตร
    • ฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) เป็นยาสำหรับรับประทานและยาใช้ภายนอกสำหรับผู้ชายอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น มีคุณสมบัติต้านภาวะผมบางจากกรรมพันธุ์ โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนไปเป็นฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นให้ผมร่วงและต่อมลูกหมากโต ผลข้างเคียงที่อาจพบได้เมื่อใช้ยานี้ คือ ความต้องการทางเพศลดลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
    • สเตียรอยด์ (Steroid) มีทั้งรูปแบบยาฉีดและยาสำหรับรับประทาน ใช้ในกรณีที่ผมร่วงจากภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ โดยการฉีดสเตียรอยด์ทุก ๆ 4-6 สัปดาห์ อาจช่วยกระตุ้นให้เส้นผมงอกภายใน 1-2 เดือน อย่างไรก็ตาม หากวิธีนี้ใช้ไม่ได้ผล คุณหมออาจจ่ายยาสเตียรอยด์ให้รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 8-10 สัปดาห์
    • ดูแทสเทอไรด์ (Dutasteride) เป็นยาชนิดสำหรับรับประทานที่ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาฟีนาสเตอไรด์ คือ ยับยั้งการเปลี่ยนเทสโทสเตอโรนไปเป็นไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน โดยตัวยาจะช่วยให้ผมหยุดร่วงและผมงอกใหม่ได้เร็วขึ้นในระยะไม่นานหลังใช้ยา
    • สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) เป็นยาชนิดสำหรับรับประทานและอาจใช้เป็นส่วนผสมของแชมพูเพื่อแก้ปัญหาผมร่วง โดยออกฤทธิ์ลดการผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน รวมถึงเทสโทสเตอโรน เพื่อชะลอปัญหาผมร่วงเนื่องจากภาวะผมบางจากพันธุกรรมหรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

    วิธีการรักษาผมร่วงแบบอื่น

    นอกเหนือจากการใช้ยาแล้ว ปัญหาผมร่วงอาจรักษาได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • การปลูกผม (Hair Transplantation) เป็นการนำเส้นผมหรือผิวหนังที่มีผมอยู่มาปลูกถ่ายบนศีรษะบริเวณที่ผมบางหรือผมร่วงในผู้ที่ศีรษะล้าน โดยทั่วไป ขั้นตอนการปลูกผมเริ่มต้นด้วยการฉีดหรือทายาชาเพื่อป้องกันอาการเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นได้ และโดยรวมจะใช้เวลาในการปลูกผมทั้งสิ้นประมาณ 4-6 ชั่วโมง
    • การฉายแสงเลเซอร์ระดับต่ำ (Low-Level Laser Therapy) เป็นการฉายอนุภาพโฟตอน (Photon) เข้าไปยังเนื้อเยื่อของหนังศีรษะ เพื่อกระตุ้นให้เส้นผมงอกใหม่ วิทยาลัยผิวหนังแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า การฉายแสงเลเซอร์ระดับต่ำเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาผมร่วงเนื่องจากพันธุกรรมหรือการทำเคมีบำบัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา