backup og meta

ย้อมผม อย่างไรให้ปลอดภัย ป้องกันอันตรายต่อผิวหนัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/03/2023

    ย้อมผม อย่างไรให้ปลอดภัย ป้องกันอันตรายต่อผิวหนัง

    ปัจจุบันการ ย้อมผม เป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยม เพื่อปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพใหม่ตามที่ตัวเองชื่นชอบ บางคนอาจย้อมผมปกปิดผมหงอกตามช่วงอายุ หรือย้อมผมเพื่อความสวยงามตามแฟชั่น อย่างไรก็ตาม ยาย้อมผมมีส่วนประกอบของสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ ระคายเคืองต่อหนังศีรษะและผิวหนังเมื่อสัมผัส ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการย้อมผมอย่างปลอดภัย และการรักษาเมื่อเกิดอาการแพ้ เพื่อปกป้องสุขภาพของหนังศีรษะ

    ยา ย้อมผม คืออะไร

    ยาย้อมผม คือ ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมที่มีหลายประเภท ยาย้อมผมที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย แบ่งออกเป็น  5 ประเภท ดังนี้

    • ยาย้อมผมชนิดชั่วคราว

    เป็นผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ จึงทำให้ซึมเข้าสู่เส้นผมได้เพียงชั้นนอก ไม่ลึกถึงแกนกลางเส้นผม สามารถล้างออกได้ง่ายเมื่อสระผม 1-2 ครั้ง โดยมีในรูปแบบสารละลายน้ำ โลชั่น ดินสอทาสีผม

    • ยาย้อมผมกึ่งถาวร

    ยาย้อมผมประเภทนี้มีโมเลกุลขนาดเล็กสามารถซึมเข้าสู่เส้นผมแกนกลาง ทำให้สีย้อมผมอาจติดได้นานถึง 3-5 สัปดาห์ ยาย้อมผมชนิดนี้จะไม่มีสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) แต่อาจมีสารประกอบอื่น ๆ เช่น อะมิโน แอนทราควิโนน (Amino Anthraquinone) ไนโตรอะมิโนฟีนอล ( Nitro Amino Phenol) ไนโตรฟีนิลีนไดอะมีน (Nitro phenylenediamine)

    เนื่องจากสารประกอบบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคือง อาการแพ้ เพื่อความปลอดภัยจึงควรอ่านวิธีการใช้และคำเตือนอย่างละเอียด และปฏิบัติตามคำแนะนำบนผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด

    • ยาย้อมผมแบบถาวร

    เป็นยาย้อมผมที่นิยมมากที่สุด เพราะทำให้สีย้อมอยู่บนเส้นผมได้ยาวนาน เนื่องจากสามารถซึมลึกไปถึงชั้นกลางของเส้นผม ภายในผลิตภัณฑ์จะประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ สีย้อมผมในรูปแบบครีมหรือโลชั่น และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) โดยนำมาผสมกันเพื่อก่อให้เกิดปฏิกิริยาเปลี่ยนสีผม ภายในทั้ง 2 ขวดนี้ยังอาจมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญช่วยเปลี่ยนสีผม ได้แก่ ถ่านหิน พาราฟีนิลีนไดอะมีน (p-Phenylenediamine) พาราโทลูอีนไดอะมีน (p-Toluenediamine)

    อย่างไรก็ตาม ยาย้อมผมชนิดนี้ อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ อาการบวมรอบดวงตา ผื่นแดง ตุ่มใส รอยฟกช้ำ อาการคันบริเวณหนังศีรษะ ใบหน้า ลำคอ จึงควรทดสอบอาการแพ้ก่อนใช้ตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ หากมีอาการแพ้ โดยเฉพาะอาการหายใจลำบาก ควรหยุดใช้และเข้ารับการรักษาในทันที

    • เกลือโลหะย้อมผม

    เกลือโลหะย้อมผมเป็นยาย้อมสีผมชั่วคราวที่มีทั้งรูปแบบครีมและโลชั่นย้อมสีผม มีสารออกฤทธิ์สำคัญ คือ ตะกั่วอะซิเตท หรือ Lead(II) acetate ที่เคลือบเส้นผมภายนอก เมื่อทำปฏิกิริยากับแสงแดดและอากาศ จะค่อย ๆ เปลี่ยนอย่างช้า ๆ ทำให้ต้องทาซ้ำ ๆ หลายวันจนกว่าจะได้สีที่ต้องการ สีย้อมที่เคลือบบนเส้นผมมักจะติดที่วัตถุต่าง ๆ เช่น ขอบหมวก หมอน ที่นอน 

    เกลือโลหะย้อมผมเป็นการย้อมผมแบบชั่วคราวที่อาจไม่ส่งผลอันตรายต่อผิวหนังโดยตรง แต่หากใช้เป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้ร่างกายมีการสะสมของโลหะทำให้เกิดพิษได้จึงไม่ควรใช้เมื่อมีหนังศีรษะถลอกเป็นแผล ควรระวังไม่ให้เข้าตา และล้างมือให้สะอาดหลังการย้อมผมเสร็จ

    • สมุนไพรย้อมสีผม

    สำหรับสมุนไพรย้อมสีผมมีส่วนประกอบของเฮนน่า (Henna) หรือมีอีกชื่อเรียกว่า “เทียนกิ่ง” เป็นพืชที่คนนำมาทำเป็นสีย้อมผมตั้งแต่สมัยโบราณ โดยการเก็บกิ่งและใบก่อนถึงช่วงเวลาดอกออกนำมาสกัดเป็นผง ทำให้ได้ยาย้อมผมสีออกแดงปนน้ำตาล

    วิธีการย้อมผมด้วยเฮนน่า เริ่มจากการนำผงเฮนน่ามาละลายน้ำ ก่อนทาลงบนเส้นผมบริเวณที่ต้องการ ห่อผมด้วยผ้าขนหนูหรือหมวกครอบผมทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที และล้างออก ความเป็นกรดของเฮนน่าจะเริ่มออกฤทธิ์ต่อเส้นผมชั้นนอก ทำให้เส้นผมเปลี่ยนสี แต่จะได้สีที่ต้องการหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น อุณหภูมิขณะห่อเส้นผม กรดของสารออกฤทธิ์ในสมุนไพร ระยะเวลาย้อมผม ซึ่งอาจปรากฏเป็นสีน้ำตาลแดง การย้อมซ้ำ ๆ อาจส่งผลให้สีอ่อนลงและผมด้านได้

    การใช้เฮนน่าย้อมผมอาจปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหาหนังศีรษะ เช่น รอยถลอกเป็นแผล ควรหลีกเลี่ยงการย้อมจนกว่าแผลจะหายดี และไม่ควรนำไปย้อมขนคิ้ว ขนตา เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง อีกทั้งควรสวมใส่อุปกรณ์ เช่น ถุงมือ เพื่อป้องกันการสัมผัสกับผงเฮนน่าโดยตรง เพราะอาจทำให้สีติดปลายนิ้ว เล็บ เป็นเวลานาน

    ย้อมผม บ่อย อันตรายอย่างไร

    มีงานวิจัยระบุเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการใช้สีย้อมผมและความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง แต่ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าการย้อมสีผมอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งหรือไม่ นักวิจัยจึงจำเป็นต้องทำการทดสอบ และศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม ยาย้อมผมประกอบไปด้วยสารเคมี เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) แอมโมเนีย (Ammonia) อะโรมาติกเอมีน (Aromatic amines) เพื่อช่วยกัดเส้นผมจากสีดำ น้ำตาล เปลี่ยนเป็นสีในระดับอ่อนตามสีที่ต้องการจะย้อม ซึ่งอาจส่งผลให้เส้นผมได้รับความเสียหาย ผมขาดร่วง นอกจากนี้สารเคมีในยาย้อมผมยังอาจเปลี่ยนการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายที่กระตุ้นก่อให้เกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งเม็ดเลือด

    การรักษาเมื่อแพ้ยาย้อมผม

    เมื่อมีอาการแพ้ยาย้อมผม อาจบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

    • ล้างสีผมบนศีรษะและเส้นผมออกให้หมด  และทาครีมที่เพิ่มความชุ่มชื้นของบริเวณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ เช่น ปิโตรเลียมเจล มอยส์เจอไรเซอร์ 
    • ทายาสเตียรอยด์ ในบริเวณที่ผิวหนังอักเสบแดง และรู้สึกเจ็บแสบ จากการใช้ยาย้อมผม
    • ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) อาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบ อาการคันของผิวหนัง

    หากมีอาการรุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก อาการบวมที่ปาก คอ ลิ้น ตา มือ หมดสติ ควรรีบรับการรักษาในทันที เพื่อความปลอดภัย

    วิธีย้อมผมอย่างปลอดภัย 

    วิธีย้อมผมอย่างปลอดภัย อาจทำได้ดังนี้

    • ทดสอบอาการแพ้ก่อนย้อมผม ด้วยการนำสีย้อมผมแต้มผิวหนังหลังใบหูเล็กน้อย ทิ้งไว้เป็นเวลา 2 วัน หากไม่มีอาการแพ้ เช่น อาการคัน แสบร้อนผิวหนัง รอยแดง ก็อาจย้อมได้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำบนผลิตภัณฑ์
    • สวมใส่ถุงมือก่อนสัมผัสกับสีย้อมผม
    • ย้อมผมในเวลาตามที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ ไม่ควรย้อมผมทิ้งไว้นาน
    • ล้างหนังศีรษะ และทำความสะอาดผิวหนังที่เปื้อนยาย้อมผมให้สะอาด
    • ไม่ควรนำยาย้อมผมต่างประเภท ต่างยี่ห้อมาผสมกัน เพราะอาจทำลายสุขภาพเส้นผม และหนังศีรษะ
    • ไม่ควรนำยาย้อมผมมาย้อมขนบริเวณอื่น เช่น ขนคิ้ว ขนตา เพราะอาจเสี่ยงอันตราย จนถึงขั้นตาบอดได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา