backup og meta

วิธีรักษาเหา ที่ได้ผล มีกี่วิธี ทำอย่างไรบ้าง

วิธีรักษาเหา ที่ได้ผล มีกี่วิธี ทำอย่างไรบ้าง

เหา เป็นแมลงขนาดเล็กอาศัยอยู่ตามร่างกายคนหรือสัตว์ โดยเฉพาะหนังศีรษะหรือบริเวณที่มีขน กินเลือดเป็นอาหาร เมื่อเป็นเหาจะมีอาการคันและระคายเคืองบริเวณหนังศีรษะ วิธีรักษาเหา สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยตนเองและการไปปรึกษาคุณหมอ ในเบื้องต้นสามารถรักษาด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเหาในรูปแบบแชมพู ยาใส่ผม หรือโลชั่น รวมถึงการสางผมด้วยหวีเสนียด

เหาคืออะไร

เหาเป็นแมลงชนิดหนึ่งซึ่งเป็นปรสิตมีอายุไขประมาณ 1 เดือน ขนาดความยาวลำตัวราว ๆ 2-3 มิลลิเมตร ไม่มีปีก ปลายขาทั้ง 6 ขามีลักษณะเป็นตะขอ ซึ่งเอื้อต่อการยึดเกาะบนเส้นผมหรือเส้นขน

เหามักพบบริเวณศีรษะ แต่อาจเจอที่บริเวณลำตัวหรือหัวเหน่าได้เช่นกัน โดยเหาจะแพร่กระจายระหว่างคนสู่คน ด้วยการสัมผัสใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น หวี ผ้าปูที่นอน หมอน หมวก

โดยทั่วไป เหาตัวเมีย 1 ตัว จะวางไข่วันละ 6-9 ฟอง โดยไข่มีลักษณะเป็นสีขาวขุ่น พบได้ตามโคนเส้นผม ไข่เหาจะฟักเป็นตัวภายใน 7-10 วัน

เหาเป็นสาเหตุของตุ่มคันและอาการระคายเคืองที่หนังศีรษะ หรือบริเวณที่เหาอาศัยอยู่ โดยทั่วไปเมื่อเป็นเหา มักพบผื่นบริเวณท้ายทอย ในกรณีรุนแรง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง เชื้อโรคแพร่กระจายอาจทำให้เกิดอาการต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณคอหรือท้ายทอยได้ด้วย

วิธีรักษาเหา

วิธีรักษาเหา สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

  1. ใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเหา

ผลิตภัณฑ์กำจัดเหาที่พบได้ทั่วไปตามท้องตลาด คือ แชมพู โลชั่น หรือยาใส่ผม ซึ่งมีส่วนผสมหลักเป็นตัวยาเฉพาะสำหรับกำจัดแมลงต่าง ๆ ทั้งนี้ ข้อควรระวังหรือข้อจำกัดในการใช้ ดังนี้

  • มาลาไทออน (Malathion) เป็นสารที่มีฤทธิ์กำจัดแมลง ติดไฟได้ง่าย เนื่องจากสัดส่วนของแอลกอฮอล์ที่สูง ไม่เหมาะใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • เบนซิลแอลกอฮอล์ (Benzyl Alcohol) เหมาะกับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปและสามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ ทั้งนี้ ควรอยู่ภายใต้การควบคุมและสั่งยาโดยคุณหมอ
  • ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) เป็นตัวยาที่ใช้สำหรับฆ่าพยาธิหรือปรสิตบางชนิด มีผลข้างเคียง คือ อาจทำให้ตาแดงหรือระคายเคือง ผิวหนังแห้ง เป็นรังแค ไม่เหมาะกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน
  • สปินโนแซด (Spinosad) เป็นสารกำจัดแมลงที่อาจทำให้ตาหรือผิวหนังระคายเคือง ไม่เหมาะกับเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์กำจัดเหาโดยส่วนใหญ่จะมีวิธีใช้คล้ายคลึงกัน คือใช้ชโลมบนหนังศีรษะที่แห้งและทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หากผ่านไป 1 สัปดาห์แล้วยังพบเหาอยู่ ควรใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเหาซ้ำอีกครั้ง และหากเหายังไม่หาย สามารถใช้ซ้ำได้แต่ควรเว้นระยะห่างประมาณ 7-10 วัน

  1. รับประทานยาเม็ด

ในกรณีที่มีอาการรุนแรง หรือใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเหาแล้วไม่ได้ผล ควรปรึกษาคุณหมอ โดยคุณหมออาจจ่ายยาเม็ดให้รับประทาน ยาที่นิยมคือ ไอเวอร์เมคติน สำหรับรับประทานวันละ 1 ครั้ง รอ 1 สัปดาห์จึงรับประทานซ้ำอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ไอเวอร์เมคตินเหมาะกับบุคคลน้ำหนัก 15 กิโลกรัมขึ้นไป เพราะผลข้างเคียงอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน หากแพ้รุนแรงควรกลับไปพบคุณหมออีกครั้งเพื่อเปลี่ยนยาหรือเปลี่ยนวิธีรักษาเหาที่เหมาะสมต่อไป

  1. หมักผมด้วยน้ำมันหอมระเหย

น้ำมันหอมระเหยจากพืชต่าง ๆ อาจช่วยกำจัดเหาได้เพราะตัวยาในน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ต้านแมลงต่าง ๆ รวมทั้งเหาด้วย เช่น ต้นชา ดอกลาเวนเดอร์ ต้นสะเดา ใบอบเชย ใบสะระแหน่

วิธีการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อรักษาเหา ทำได้โดยการผสมน้ำมันหอมระเหยประมาณ 15-20 หยด กับน้ำมันมะกอก นำไปหมักผมเป็นเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง จากนั้นล้างออก โดยควรทำอย่างสม่ำเสมอ หรือทุก ๆ 1-3 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาเหานี้อาจไม่เหมาะกับผู้เป็นภูมิแพ้พืชที่ใช้สำหรับสกัดน้ำมันน้ำมันหอมระเหย สำหรับสตรีมีครรภ์ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้

  1. หวีผมด้วยหวีเสนียด

การหวีผมด้วยหวีเสนียดหรือหวีสางเหา เป็นการกำจัดไข่เหาบนศีรษะด้วยการค่อย ๆ หวีผมจากโคนผมถึงปลายผม เพื่อให้ไข่เหาติดออกมากับซี่ของหวี

สำหรับคนผมสั้น ควรหวีผมประมาณ 10 นาที ส่วนคนผมยาว อาจต้องหวีประมาณ 30 นาที

ทั้งนี้ หลังหวีผมเสร็จแล้วควรทำความสะอาดหวี ด้วยการแช่ในน้ำร้อน เพื่อป้องกันไข่เหาแพร่กระจายหากมีผู้นำหวีเสนียดไปใช้ต่อ การรักษาเหาด้วยวิธีนี้จะเห็นผลก็ต่อเมื่อหวีผมด้วยหวีเสนียดอย่างต่อเนื่อง อาจหวีทุกวันติดต่อกัน 1 สัปดาห์ขึ้นไป

  1. ทำความสะอาดบ้าน

การทำความสะอาดบ้านไม่ใช่วิธีรักษาเหาโดยตรง แต่เป็นการป้องกันการป่วยซ้ำจากเหาขณะรักษาตัว รวมทั้งลดอัตราเสี่ยงในการเป็นเหาของคนในบ้าน เนื่องจากเหาอาจกระจายอยู่ตามข้าวของเครื่องใช้ หรือตามบริเวณต่าง ๆ ของบ้าน

วิธีทำความสะอาดบ้านเพื่อให้ปลอดจากเหา สามารถทำได้ดังนี้

  • ซักหรือทำความสะอาดของใช้ด้วยน้ำร้อน โดยเฉพาะสิ่งของที่เหาอาจอาศัยอยู่ อาทิ หมวก หวี ผ้าพันคอ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว ทั้งนี้ เหาและไข่เหาจะตายเมื่อถูกแช่ในน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 55 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 นาทีขึ้นไป
  • เก็บของใช้ส่วนตัวใส่ถุงพลาสติกที่มีซิปรูดปิดเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้เหาที่อาจอาศัยอยู่บนพื้นผิวของของใช้ตายอยู่ในถุง
  • ดูดฝุ่นบริเวณต่าง ๆ ของบ้าน เพื่อกำจัดเส้นผมซึ่งมีไข่เหาติดอยู่ ลดการแพร่กระจายของเหาซึ่งอาจทำให้เกิดโรคเหา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

อันตรายจากเหา. http://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=1560. Accessed March 2, 2022

เมื่อเจ้าตัวเล็กเป็นเหา. https://www.tm.mahidol.ac.th/th/tropical-medicine-knowledge/new/Louse.html#:~:text=%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81,%E0%B9%90%20%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3. Accessed March 2, 2022

Lice. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lice/diagnosis-treatment/drc-20374404. Accessed March 2, 2022

เหา (Pediculosis). https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1092. Accessed March 2, 2022

Head Lice: Treatment. https://www.cdc.gov/parasites/lice/head/treatment.html. Accessed March 2, 2022

Essential Oils and Head Lice. https://achs.edu/blog/2015/10/06/essential-oils-for-head-lice/. Accessed March 2, 2022

Lice Treatment. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/lice-treatment. Accessed March 2, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/03/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีกำจัดเหา เมื่อลูกน้อยกำลังเป็นเหา

เหา อาการ สาเหตุ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา