backup og meta

เลเซอร์ขนรักแร้ ประโยชน์และผลข้างเคียง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

    เลเซอร์ขนรักแร้ ประโยชน์และผลข้างเคียง

    เลเซอร์ขนรักแร้ เป็นวิธีกำจัดขนที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ขนใหม่ขึ้นช้าลง สีอ่อนลงและอาจทำให้ขนรักแร้มีจำนวนน้อยลง รวมทั้งอาจช่วยปรับสีผิวและช่วยให้รักแร้เรียบเนียนขึ้น ตุ่มหนังไก่ลดลง เนื่องจากขนาดเส้นขนที่บางลง ผิวไม่ถูกเสียดสีด้วยการโกนจากใบมีดโกน และไม่ระคายเคืองจากการแว็กซ์หรือการถอน

    ประโยชน์ของการเลเซอร์ขนรักแร้

    เลเซอร์ขนรักแร้ มีประสิทธิภาพในการทำลายรูขุมขนเพื่อไม่ให้เส้นขนงอกขึ้นใหม่ อาจเห็นผลชัดเจนประมาณครั้งที่ 4-5 ของการทำเลเซอร์ โดยประโยชน์ของการเลเซอร์ขนรักแร้อาจมีดังนี้

    • อาจช่วยให้ขนใต้วงแขนน้อยลง
    • เส้นขนที่ขึ้นใหม่บางลง สีอ่อนลง
    • เนื้อสัมผัสของผิวหยาบน้อยลง ผิวอาจเรียบเนียนขึ้น ตุ่มหนังไก่ลดลง
    • เส้นขนใหม่อาจงอกช้าลง

    การเลเซอร์ขนรักแร้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพในการกำจัดขนและช่วยให้รักแร้เรียบเนียนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  อย่างไรก็ตาม การเลเซอร์ขนรักแร้อาจไม่ได้กำจัดขนให้หมดไปอย่างถาวร เพียงแต่ช่วยชะลอการเกิดใหม่ ทำให้เส้นขนบางลงและมีจำนวนน้อยลง ซึ่งอาจต้องทำเลเซอร์ประมาณ 4-5 ครั้งขึ้นไปถึงจะเห็นผลชัดเจน ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับปริมาณขน ขนาดและความเข้มของเส้นขนของแต่ละคนด้วย

    ประเภทของเลเซอร์ขนรักแร้

    ประเภทของเลเซอร์กำจัดขนรักอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้

    • Ruby Laser เหมาะสำหรับการกำจัดขนปริมาณเล็กน้อยและมีพื้นที่ขนาดเล็ก ไม่แนะนำสำหรับผู้ที่มีโทนสีผิวคล้ำ
    • Alexandrite Laser เหมาะสำหรับการเลเซอร์ขนในพื้นที่ขนาดใหญ่และผู้ที่มีโทนผิวสว่าง ข้อเสียอาจทำให้มีความเจ็บปวดมาก
    • Diode Laser เหมาะสำหรับการกำจัดขนเส้นหนา หยาบ และผู้ที่มีผิวสีเข้ม
    • Nd:yag Laser เหมาะสำหรับกำจัดขนสีเข้ม สำหรับผู้ที่มีผิวสว่างไปจนถึงผิวสีแทน และเหมาะสำหรับการรักษาปัญหาผิวหนังอื่นๆ  เช่น ลบรอยสัก
    • Intense Pulsed Light หรือ IPL เป็นพลังงานแสงที่ไม่ใช่เลเซอร์ ใช้กำจัดขนสีเข้มที่เติบโตเหนือผิวหนังเท่านั้น เส้นขนที่อยู่ใต้ผิวอาจไม่สามารถกำจัดได้หมด

    การเตรียมตัวก่อนเลเซอร์ขนรักแร้

    การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการเลเซอร์ขนรักแร้อาจทำได้ดังนี้

  • ตรวจสอบประวัติการรักษาผิวหนังของตัวเองและเข้าพบคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญสำหรับการทำเลเซอร์เพื่อสอบถามถึงผลข้างเคียงของสภาพผิวหนังในการทำเลเซอร์ขนรักแร้
  • ก่อนทำเลเซอร์ควรหลีกเลี่ยงการให้ผิวสัมผัสกับแสงแดด หรือควรทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวคล้ำเสียและระคายเคืองขณะทำเลเซอร์
  •  หลีกเลี่ยงการถอนหรือแว็กซ์ขน อย่างน้อย 4 สัปดาห์ แต่ให้ใช้การโกนขนแทน เนื่องจากการถอนขนเป็นการกำจัดขนที่ดึงเอารากขนออกไปด้วย อาจทำให้การเลเซอร์ไม่ได้ประสิทธิภาพ
  • ควรโกนขนก่อนทำเลเซอร์ประมาณ 1-2 วัน เพื่อลดความระคายเคืองผิวก่อนทำเลเซอร์
  • ขั้นตอนของการเลเซอร์ขนรักแร้

    ขั้นตอนการกำจัดขนรักแร้อาจทำได้ ดังนี้

    1. ผู้เชี่ยวชาญจะทำความสะอาดผิวบริเวณรักแร้ อาจใช้ครีมยาชาหรือประคบน้ำแข็งเพื่อลดอาการเจ็บปวด และผู้เชี่ยวชาญจะให้สวมแว่นกันรังสีเพื่อป้องกันแสงเลเซอร์เข้าดวงตา
    2. ผู้เชี่ยวชาญจะนำอุปกรณ์เลเซอร์วางไว้บริเวณเหนือรักแร้ในจุดที่ต้องการกำจัดขน แสงเลเซอร์จะทำให้รูขุมขนเกิดความร้อนที่กระทบต่อเส้นขน โดยขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที
    3. หลังจากการทำเลเซอร์ขนรักแร้ ผู้เชี่ยวชาญจะทาครีมเพื่อป้องกันการระคายเคือง

    เมื่อเสร็จขั้นตอนการทำเลเซอร์ขนรักแร้แล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที หากมีอาการระคายเคืองให้ประคบเย็นได้ตามต้องการ แต่หากเกิดอาการบวมรุนแรงอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยครีมสเตียรอยด์สำหรับใช้ภายนอก 1-2 วัน

    ผลข้างเคียงและข้อควรระวังของการเลเซอร์ขนรักแร้

    ผลข้างเคียงหลังการกำจัดขนด้วยเลเซอร์ที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

    • ความเจ็บปวด ในระหว่างการเลเซอร์ขนรักแร้อาจมีอาการเจ็บปวดเล็กน้อย เนื่องจากผิวบริเวณรักแร้บอบบางกว่าส่วนอื่น
    • ความระคายเคืองผิว หลังการกำจัดขนด้วยเลเซอร์ บางคนอาจมีอาการระคายเคืองผิวชั่วคราว ผิวแดงและบวม ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมง
    • ผิวอาจเปลี่ยนสี ในบางคนหลังกำจัดขนด้วยเลเซอร์อาจพบว่าสีผิวคล้ำลงหรือขาวขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสีผิวอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือถาวร
    • เกิดแผลพุพอง บางคนอาจเกิดแผลพุพอง ลอก เป็นขุย แผลเป็น โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวสีเข้ม เนื่องจากเลเซอร์จะกำจัดเส้นขนที่มีสีเข้ม ดังนั้น การทำเลเซอร์อาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีสีผิวเข้มมากกว่าผู้ที่มีผิวขาว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา