backup og meta

ขาหนีบดำ สาเหตุและการรักษา

ขาหนีบดำ สาเหตุและการรักษา

ขาหนีบดำ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยอาจมีสาเหตุจากพฤติกรรมการเสียดสีของผิวหนังภายนอก ฮอร์โมน การใช้ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด ซึ่งขาหนีบดำสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง แต่อาจต้องใช้เวลา เช่น การใช้สครับน้ำตาล เจลว่านหางจระเข้ หรือสามารถรักษาได้ด้วยยาที่ควรได้รับคำแนะนำจากคุณหมอก่อนใช้เสมอ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงตามมาได้

[embed-health-tool-bmi]

สาเหตุของขาหนีบดํา

ขาหนีบดำ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • ความผิดปกติของฮอร์โมน มักเกิดในผู้ที่มีความผิดปกติ เช่น ถุงน้ำในรังไข่ ไทรอยด์ทำงานน้อย หรือมีปัญหากับต่อมหมวกไต
  • ยาและอาหารเสริมบางชนิด เช่น ไนอาซินขนาดสูง (High-dose niacin) ยาคุมกำเนิด เพรดนิโซน (Prednisone) และคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
  • มะเร็ง ขาหนีบดำอาจเกิดในผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือเมื่อเนื้องอกมะเร็งเริ่มเติบโตในอวัยวะภายใน เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ หรือตับ
  • การเสียดสี อาจเกิดขึ้นจากการเสียดสีของผิวหนังบริเวณขาหนีบ หรือเสียดสีกับเสื้อผ้า ทำให้ผิวหนังบาง คัน และเปลี่ยนสีได้
  • โรคบางชนิด เช่น โรคผิวหนังช้าง โรคเบาหวาน ผิวแห้ง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดปัญหาขาหนีบดำ มีดังนี้

  • โรคอ้วน ยิ่งมีน้ำหนักตัวมากจะยิ่งเพิ่มแรงเสียดสีของผิวหนังบริเวณขาหนีบทำให้ขาหนีบดำได้
  • ประวัติครอบครัว สีผิวอาจขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ รวมถึงโรคหนังช้างที่ทำให้ผิวหนังเป็นสีดำเช่นกัน
  • การเสียดสี แรงเสียดสีจากเสื้อผ้าและผิวหนังบ่อยครั้งอาจเพิ่มโอกาสทำให้ขาหนีบดำได้

การรักษาขาหนีบดํา

การดูแลและลดอาการขาหนีบดำเบื้องต้นที่สามารถทำเองได้ที่บ้าน มีดังนี้

ว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้หรือเจลว่านหางจระเข้  อาจช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองผิว เนื่องจากว่านหางจระเข้มีสารอะโลอิน (Aloin) กระตุ้นการรวมตัวของเมลานินทำให้ผิวสว่างขึ้น ช่วยปรับสภาพผิว และอาจช่วยลดรอยคล้ำบนผิวหนังได้ โดยการทาเจลว่านหางจระเข้บริเวณขาหนีบเป็นประจำทุกวัน โดยไม่ต้องล้างออก

มันฝรั่ง

การนำมันฝรั่งฝานมาถูบนผิวหนังอาจช่วยลดรอยคล้ำได้ เนื่องจาก เอนไซม์ในมันฝรั่งที่เรียกว่า แคทเธอปซิน ดี (Cathepsin D) อาจช่วยรักษาผิวหนังที่ได้รับบาดเจ็บ จากการเสียดสี หรือรอยดำช้ำที่ผิวหนัง โดยการนำมันฝรั่งมาหั่นเป็นแผ่นบาง ๆ จากนั้นถูบริเวณขาหนีบประมาณ 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด อาจรักษาขาหนีบดำด้วยวิธีนี้ประมาณ 3 ครั้ง/สัปดาห์

น้ำมันมะพร้าวและน้ำมะนาว

น้ำมะนาวอุดมไปด้วยวิตามินซีอาจมีส่วนช่วยรักษารอยดำ และน้ำมันมะพร้าวมีหน้าที่เป็นมอยเจอร์ไรเซอร์ช่วยเพิ่มความนุ่มชุ่มชื้นให้กับผิว ผสมน้ำมันมะพร้าว 2 ช้อนโต๊ะกับมะนาวครึ่งลูก จากนั้นถูกบริเวณขาหนีบ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด  ควรทำประมาณสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

สครับน้ำตาล

น้ำตาลมีส่วนช่วยผลัดเซลล์ผิว โดยการเอาน้ำตาลขัดบริเวณขาหนีบประมาณ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด อาจช่วยฟื้นฟูขาหนีบดำได้

สครับโยเกิร์ตข้าวโอ๊ต

ข้าวโอ๊ตมีสารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอล (Polyphenol) สามารถใช้รักษากลากและผิวหนังอักเสบอื่น ๆ เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง นอกจากนี้ ยังเป็นสารขัดผิวที่อ่อนโยน นำข้าวโอ๊ตมาผสมกับโยเกิร์ตที่มีกรดแลคติก (Lactic acid) และเป็นแหล่งโพรไบโอติกส์ (Probiotics) อาจช่วยปรับปรุงสุขภาพผิวได้

การรักษาด้วยยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หรืออาจต้องได้รับใบสั่งยาจากคุณหมอ ได้แก่

ยาเฉพาะที่

เป็นยาทาในรูปแบบครีมและขี้ผึ้ง ช่วยให้สีผิวสว่างขึ้น สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบเหล่านี้ได้ตามร้านขายยาหรือร้านค้าทั่วไป เช่น กรดเอลลาจิก (Ellagic Acid) ลิกนิน เปอร์ออกซิเดสเอนไซม์ (Lignin Peroxidase) ไนอาซินาไมด์ (Niacinamide) ที่อยู่ในรูปแบบของวิตามินบี 3 และถั่วเหลือง

ไฮโดรควิโนน

ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เป็นส่วนผสมที่ทำให้จุดด่างดำบนผิวหนังจางลง อาจต้องได้รับการควบคุมโดยคุณหมอ เนื่องจากหากใช้เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดมะเร็งได้

เรตินอยด์

มีส่วนช่วยลดรอยดำเนื่องจากมีส่วนผสมของวิตามินเอ และสารอื่น ๆ เช่น กรดเรติโนอิก (Retinoic acid) ช่วยควบคุมการเติบโตของเซลล์ผิวหนังและลดรอยดำ เป็นยาที่ต้องสั่งโดยคุณหมอ

เลเซอร์รักษา

การใช้เลเซอร์เป็นวิธีรักษาที่ช่วยลดการสร้างเม็ดสีโดยไม่ทำให้เกิดแผลเป็น อาจทำให้มีอาการเจ็บปวดโดยเฉพาะผู้ที่มีผิวบาง จำเป็นที่ต้องขอคำแนะนำจากคุณหมอและควบคุมการรักษาด้วยคุณหมอ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการฉีดสารปรับผิวให้ขาวขึ้น เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่เพียงพอว่าได้ผล และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

การป้องกันขาหนีบดํา

ป้องกันปัญหาขาหนีบดำที่อาจเกิดขึ้น สามารถทำได้ดังนี้

  • ทำความสะอาดบริเวณขาหนีบและขัดผิวอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออก
  • สวมเสื้อผ้าที่หลวมและระบายอากาศได้ เพื่อป้องกันเหงื่อและการเสียดสีมากเกินไป
  • ป้องกันการเสียดสีของผิวหนังด้วยการสวมกางเกงซับในขาสั้นใต้กระโปรงหรือชุดเดรส
  • หลีกเลี่ยงการโกนหรือแว็กซ์บริเวณขาหนีบบ่อยเกินไปเพื่อป้องกันการระคายเคือง
  • ทาครีมให้ความชุ่มชื้นกับผิว และทาครีมกันแดด SPF 30 ขึ้นไป เพื่อป้องกันแสงแดด โดยเฉพาะเมื่อต้องใส่ชุดว่ายน้ำ

หากลองวิธีรักษาขาหนีบดำที่บ้านแล้วยังไม่ได้ผล อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษากับคุณหมอ หรือหากขาหนีบดำมีสาเหตุมาจากภาวะสุขภาพบางประการ เช่น โรคอ้วน โรคผิวหนังช้าง โรคเบาหวน คุณหมออาจต้องวินิจฉัยและทำการรักษาโรคต้นเหตุอย่างเหมาะสมเพื่อบรรเทาอาการขาหนีบดำ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Acanthosis nigricans. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acanthosis-nigricans/symptoms-causes/syc-20368983. Accessed March 17, 2023

Acanthosis nigricans-Diagnosis-treatment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acanthosis-nigricans/diagnosis-treatment/drc-20368987. Accessed March 17, 2023

Vitamin C in dermatology. https://www.idoj.in/article.asp?issn=2229-5178;year=2013;volume=4;issue=2;spage=143;epage=146;aulast=Telang. Accessed March 17, 2023

Colloidal oatmeal formulations and the treatment of atopic dermatitis. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25607551/. Accessed March 17, 2023

Effects of Fermented Dairy Products on Skin: A Systematic Review. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26061422/. Accessed March 17, 2023

On the novel action of melanolysis by a leaf extract of Aloe vera and its active ingredient aloin, potent skin depigmenting agents. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/22495441/. AAccessed March 17, 2023

HOW TO FADE DARK SPOTS IN SKIN OF COLOR. https://www.aad.org/public/everyday-care/skin-care-secrets/routine/fade-dark-spots. Accessed March 17, 2023

Natural ingredients for darker skin types: growing options for hyperpigmentation. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24002160/. Accessed March 17, 2023

HYDROQUINONE. https://www.aocd.org/page/Hydroquinone. Accessed March 17, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/03/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีแก้ขาหนีบดำ อย่างเป็นธรรมชาติ และวิธีป้องกันขาหนีบดำ

ฝีที่ขาหนีบ เกิดจากอะไร และรักษายังไง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 17/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา