backup og meta

ฝีที่ขาหนีบ เกิดจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 15/12/2023

    ฝีที่ขาหนีบ เกิดจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่

    ฝีที่ขาหนีบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus Aureus และ Group A Streptococcus ทำให้เกิดตุ่มบวมบริเวณขาหนีบ มีหนองอยู่ข้างใน และมักจะรู้สึกเจ็บเมื่อถูกสัมผัสหรือเสียดสี ฝีที่ขาหนีบสามารถหายเองได้หากอยู่ในระดับไม่รุนแรง โดยใช้เวลาประมาณ 1-3 สัปดาห์ หากฝีอยู่ในระดับรุนแรง หรืออาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอผ่าฝีแล้วดูดหนองออกซึ่งจะทำให้เม็ดฝีค่อย ๆ ยุบลง นอกจากนี้ สามารถดูแลตนเองเพื่อป้องกันการเกิดฝีที่ขาหนีบ เช่น รักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ทำความสะอาดเสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวเสมอ

    ฝีที่ขาหนีบ เกิดจากอะไร

    ฝี หมายถึง ตุ่มบวมบนผิวหนัง หรือบริเวณของผิวหนังที่นูนขึ้นมา ลักษณะเป็นสีแดงอมชมพู มีหนองอยู่ข้างใน และมีหัวสีออกเหลือง ทั้งนี้ เมื่อเป็นฝี จะรู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองเมื่อสัมผัสหรือเสียดสี

    โดยทั่วไป ฝีที่ขาหนีบ รวมถึงฝีตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกายมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus Aureus และ Group A Streptococcus ซึ่งสามารถพบได้บนผิวหนังหรือในรูจมูก

    แบคทีเรียชนิดนี้ ปกติจะไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ยกเว้นในกรณีที่แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล รอยขีดข่วน หรือรูขุมขน ซึ่งส่งผลให้เกิดการติดเชื้อหรือเป็นฝีได้

    ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นฝีที่ขาหนีบ ประกอบด้วย

    • การสวมใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในที่รัดแน่น
    • การนั่งที่เดิมเป็นเวลานานจนก่อให้เกิดการอับชื้นบริเวณขาหนีบ
    • การไม่ดูแลและรักษาความสะอาดร่างกาย
    • การใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ชุดชั้นใน เครื่องนอน ผ้าเช็ดตัว
    • การถูกแมลงกัดหรือต่อย และไม่รีบดูแลทำความสะอาดแผล
    • โรคอ้วนหรือการมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ซึ่งเพิ่มโอกาสให้เกิดการอักเสบของต่อมเหงื่อ ส่งผลให้เกิดตุ่มคล้ายฝีขึ้นตามร่างกายบ่อยครั้ง
    • การสูบบุหรี่ อาจก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมเหงื่อบริเวณขาหนีบและนำไปสู่การเป็นฝีที่ขาหนีบได้

    ฝีที่ขาหนีบ มีอาการอย่างไร

    เมื่อเป็นฝีที่ขาหนีบ มักมีลักษณะดังต่อไปนี้

    • อาการเริ่มต้น จะเกิดฝีเม็ดเล็ก ๆ คล้ายสิวบริเวณขาหนีบและอาจมีอาการคันร่วมด้วย ก่อนจะกลายเป็นฝีขนาดใหญ่ภายใน 2-3 วันหลังจากนั้น
    • ฝีอาจขึ้นเพียงเม็ดเดียว หรือขึ้นพร้อมกันหลายเม็ดก็ได้ มักทำให้เจ็บปวดหรือไม่สบายตัว โดยเฉพาะเมื่อสวมใส่กางเกงหรือกระโปรงที่รัดตึงหรือแนบแน่นไปกับผิวหนัง
    • ฝีที่ขาหนีบอาจให้ความรู้สึกร้อนเมื่อสัมผัสโดน และผิวหนังโดยรอบมักเป็นสีแดง
    • เกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนังซึ่งเป็นสาเหตุของฝี และอาจเกิดการแพร่กระจายไปยังผิวหนังบริเวณรอบ ๆ และทำให้เกิดภาวะเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบได้ ทั้งนี้ เมื่อมีภาวะเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ผู้ป่วยมักมีไข้ร่วมด้วย
    • หากเม็ดฝีเกิดขึ้นใกล้ ๆ กัน ฝีจะรวมกันเป็นฝีฝักบัว (Carbuncles) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าฝีปกติ มักมีอาการรุนแรงโดยเฉพาะในผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่แข็งแรง นอกจากนั้น ฝีฝักบัวยังอาจเป็นซ้ำได้ หากการรักษาไม่สมบูรณ์
    • ฝีที่ขาหนีบมักยุบตัวลงและอาการปวดบวมมักค่อย ๆ หายไปเองภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่เมื่อหายแล้วมักทิ้งรอยแผลเป็นไว้

    ฝีที่ขาหนีบดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยตนเองอย่างไร

    โดยทั่วไป ฝีที่ขาหนีบสามารถดูแลและรักษาได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ประคบร้อน ด้วยผ้าอุ่น ๆ หรือถุงประคบ วันละหลาย ๆ ครั้ง ครั้งละประมาณ 10 นาที จะช่วยให้ฝีที่ขาหนีบหายเร็วขึ้น เนื่องจากเป็นการกระตุ้นให้ฝีแตกและมีหนองซึมออกมาเอง และฝีจะค่อย ๆ ยุบตัวลง
    • รับประทานยาต้านเชื้อ โดยคุณหมออาจเลือกจ่ายยาในกรณีที่คนไข้เป็นฝีที่ขาหนีบบ่อยครั้ง หรือมีการติดเชื้ออยู่ในระดับรุนแรง
    • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) พาราเซตามอล เพื่อลดความเจ็บปวดจากการอักเสบของเม็ดฝี
    • ผ่าฝีแล้วดูดหนองออก หากฝีมีขนาดใหญ่ ควรพบคุณหมอเพื่อดูดน้ำหนองออก โดยคุณหมอจะดูดหนองออกแล้วปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ เพื่อช่วยซับน้ำหนองที่อาจไหลซึมออกมา

    ฝีที่ขาหนีบ ป้องกันอย่างไร

    ฝีที่ขาหนีบรวมถึงฝีบริเวณอื่นของร่างกาย ป้องกันได้โดยการรักษาความสะอาด ลดความเสี่ยงผิวหนังติดเชื้อ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ด้วยการฟอกสบู่แล้วล้างออก หรือใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ
    • เมื่อเป็นแผล ควรทำความสะอาดแผลให้แห้งและสะอาด หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ เพื่อป้องกันการอักเสบและติดเชื้อ
    • หากเป็นฝี ไม่ควรบีบหนองออกด้วยตัวเอง เพราะจะเป็นการทำให้เชื้อแพร่กระจาย
    • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ชุดชั้นใน ผ้าเช็ดตัว เครื่องนอน
    • ซักและทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวเป็นประจำ เช่น ซักชุดเครื่องนอนทุกสัปดาห์ ซักผ้าเช็ดตัวหลังใช้งาน 3-4 ครั้ง หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 15/12/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา