backup og meta

ขี้ไคล เกิดจากอะไร ควรดูแลอย่างไรให้ผิวสะอาด

ขี้ไคล เกิดจากอะไร ควรดูแลอย่างไรให้ผิวสะอาด

ขี้ไคล เป็นเซลล์ผิวหนังชั้นนอกสุดที่ตายแล้วและหลุดลอกออกตามวงจรการผลัดเซลล์ผิวตามธรรมชาติของร่างกาย แต่ในบางครั้งขี้ไคลอาจหลุดออกช้าจนเป็นแหล่งหมักหมมของสิ่งสกปรกและอาจก่อให้เกิดกลิ่นตัวได้ จึงอาจต้องเร่งกระบวนการขจัดขี้ไคลด้วยการขัดผิว เพื่อให้ผิวกระจ่างใสและช่วยให้ผิวสะอาดมากขึ้น

[embed-health-tool-bmr]

ขี้ไคล เกิดจากอะไร

ขี้ไคล คือ เซลล์ผิวหนังชั้นนอกหรือชั้นหนังกำพร้าที่ลอกหลุดออกตามกาลเวลาเมื่อเซลล์ผิวหนังตายแล้ว โดยผิวหนังชั้นนอกมีหน้าที่เป็นเกราะป้องกันผิวหนังจากการทำร้ายของสภาพแวดล้อม เช่น แสงแดด มลภาวะ เชื้อโรคต่าง ๆ และยังช่วยรักษาอุณภูมิในร่างกาย รักษาความชุ่มชื้น ป้องกันไม่ให้น้ำในร่างกายออกมาด้านนอกของผิวหนัง

วงจรการผลัดเซลล์ผิวหนังให้กลายเป็นขี้ไคลจะเกิดขึ้นเป็นลำดับขั้นอย่างต่อเนื่อง โดยผิวเก่าชั้นบนสุดจะหลุดลอกออกและถูกแทนที่ด้วยเซลล์ผิวใหม่ ในคนวัยหนุ่มสาว วงจรการผลัดเซลล์ผิวนี้จะใช้เวลาประมาณ 28 วัน  แต่เมื่ออายุมากขึ้นกระบวนการผลัดเซลล์ผิวจะช้าลง อาจใช้เวลาประมาณ 45 วัน จึงจะผลัดเซลล์ผิวเสร็จสมบูรณ์

วิธีขจัดขี้ไคลให้เหมาะกับสภาพผิว

ขี้ไคล นอกจากจะหลุดออกตามกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกายแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่สามารถช่วยกระตุ้นให้ขี้ไคลหลุดออกได้ง่ายขึ้น ซึ่งการขจัดขี้ไคลส่งผลดีต่อสุขภาพผิว อาจช่วยให้ผิวแลดูกระจ่างใสและอาจช่วยขจัดสิ่งสกปรกที่ตกค้างบนผิวหนังได้ อย่างไรก็ตาม อาจต้องเลือกวิธีการขจัดขี้ไคลให้เหมาะสมกับสภาพผิวของแต่ละคน ดังนี้

ผิวแห้งและผิวแพ้ง่าย

ผิวแห้งและผิวแพ้ง่ายเป็นสภาพผิวที่บอบบาง จึงควรขัดผิวอย่างระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง แห้ง แดงและอักเสบได้ง่าย ดังนั้น ควรขัดขี้ไคลด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) และกรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นกระบวนการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว หลังจากขัดผิวแล้วควรทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 เพื่อปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดด และทามอยส์เจอไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว เนื่องจากกรดไกลโคลิกอาจทำให้ผิวบางลงและไวต่อแสงแดดมากขึ้น

ผิวมัน

ผิวมันเป็นสภาพผิวที่มีการขับน้ำมันออกมามากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้มีสิ่งตกค้าง เช่น สิ่งสกปรก เชื้อโรค สะสมบนผิวหนังและอุดตันรูขุมขนได้ง่าย จึงอาจขจัดขี้ไคลด้วยผลิตภัณฑ์ขัดผิวที่มีเนื้อหยาบ เช่น ฟองน้ำ ผ้า ใยบวบ เกลือขัดผิว แปรงสำหรับขัดผิว เพื่อช่วยขจัดขี้ไคล ความมันตกค้างและสิ่งสกปรกที่อุดตันรูขุมขน

ผิวธรรมดา

ผิวธรรมดาเป็นสภาพผิวที่มีความแข็งแรง สามารถขัดผิวด้วยอุปกรณ์ เช่น ฟองน้ำ ผ้า ใยบวบ เกลือขัดผิว แปรงสำหรับขัดผิว นอกจากนี้ หากผิวไม่มีอาการผิดปกติ เช่น โรคผิวหนัง สิว ผิวอักเสบ อาจขัดผิวด้วยผลิตภัณฑ์ขัดผิวที่มีส่วนผสมอย่างกรดไกลโคลิก กรดซิตริก (Citric Acid) กรดเบต้าไฮดรอกซี (Beta Hydroxy Acids หรือ BHA) หรือกรดซาลิไซลิก เพื่อช่วยทำให้ผิวสะอาดมากขึ้น

ผิวผสม

ผิวผสมเป็นสภาพผิวที่มีลักษณะผสมระหว่างผิวมันและผิวแห้ง จึงอาจต้องใช้อุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีในการขัดผิว แต่ไม่ควรใช้การขัดผิวทั้ง 2 วิธีในวันเดียวกัน เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง หลังจากขัดผิวแล้วหากสังเกตว่าผิวมีอาการแห้งตึง ควรทามอยส์เจอไรเซอร์ทันทีเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว

ควรขัดขี้ไคลบ่อยแค่ไหน

ความถี่ในการขัดขี้ไคลอาจขึ้นอยู่กับสภาพผิวและความรุนแรงของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการขัดผิว โดยผู้ที่มีผิวแห้งและผิวแพ้ง่ายควรขัดขี้ไคลไม่เกินสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อป้องกันความระคายเคืองและการอักเสบของผิว ส่วนผู้ที่มีผิวมันอาจขัดขี้ไคลประมาณ 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อลดการสะสมของน้ำมันและสิ่งสกปรกบนผิวหนัง

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันอาการแพ้ ควรทดสอบผลิตภัณฑ์ขัดผิวก่อนเสมอ เพื่อดูปฏิกิริยาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการทาผลิตภัณฑ์ขัดผิวลงบนผิวหนังบริเวณข้อพับ รวมถึงไม่ควรขัดขี้ไคลด้วยความรุนแรงและบ่อยครั้งเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวแดง ระคายเคืองและอาจเกิดบาดแผลได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

การเลือกซื้อมอยเจอร์ไรเซอร์ในวัยทอง ตอนที่ 1. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=40 . Accessed March 17, 2023.

What to Know About Skin Exfoliation. https://www.webmd.com/beauty/what-to-know-skin-exfoliation . Accessed March 17, 2023.

HOW TO SAFELY EXFOLIATE AT HOME. https://www.aad.org/public/everyday-care/skin-care-secrets/routine/safely-exfoliate-at-home. Accessed March 17, 2023.

Histology, Stratum Corneum. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK513299/. Accessed March 17, 2023.

Anatomy, Skin (Integument), Epidermis. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470464/. Accessed March 17, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/03/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผิวแข็งแรง เป็นอย่างไร และ 5 เคล็ดลับในการดูแลผิว

สครับขัดผิว มีประโยชน์อย่างไร และวิธีการทำสครับขัดผิวด้วยตัวเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 17/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา