backup og meta

ข้อศอกด้าน สาเหตุ การดูแลและการป้องกัน

ข้อศอกด้าน สาเหตุ การดูแลและการป้องกัน

ข้อศอกด้าน เป็นปัญหาผิวบริเวณข้อศอกที่แห้ง หยาบกร้านและดำ อาจเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต สภาพแวดล้อม สภาพอากาศ หรือโรคบางชนิด ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณข้อศอก ดังนั้นจึงควรรู้วิธีดูแลและป้องกันเพื่อลดปัญหาที่อาจสร้างความระคายเคือง และความเจ็บปวดให้กับผิว

[embed-health-tool-heart-rate]

สาเหตุของข้อศอกด้าน

ข้อศอกด้าน อาจเกิดจากหลายสาเหตุที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้ผิวสร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ผิวมีสีเข้มขึ้น นอกจากนี้การที่ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น และการลดลงของเหงื่อและต่อมไขมันตามอายุที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ผิวบริเวณข้อศอกเกิดความด้านและหมองคล้ำ

สาเหตุที่อาจส่งผลทำให้ข้อศอกด้าน แห้ง และดำ มีดังนี้

  • การอาบน้ำนานหรือว่ายน้ำบ่อย

คลอรีนในน้ำอาจทำให้ผิวแห้ง ส่วนการอาบน้ำร้อนก็อาจทำให้ผิวแห้งได้เนื่องจากน้ำร้อนจะดึงเอาความชุ่มชื้นในผิวออกมาส่งผลให้ผิวแห้ง

  • สภาพอากาศ

สภาพอากาศที่แห้ง หนาวเย็น ส่งผลทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย

  • ภาวะขาดน้ำ

การดื่มน้ำไม่เพียงพอ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก หรือมีเหงื่อออกมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำที่ส่งผลทำให้ผิวแห้ง

  • การสูบบุหรี่

สารเคมีในควันบุหรี่อาจลดปริมาณออกซิเจนในผิว เร่งการเสื่อมสภาพของผิวทำให้ผิวแห้งและหยาบกร้าน

  • การเสียดสีที่ผิวหนัง

การเสียดสีที่มากเกินไปจากการใส่เสื้อผ้าที่คับแน่น หรือการเท้าข้อศอกบนพื้นแข็ง อาจส่งผลทำให้ข้อศอกแห้งและระคายเคือง และทำให้ข้อศอกด้านได้

  • แผลต่าง ๆ

ข้อศอกด้านอาจเกิดจากแผลเป็นที่เกิดจาก แผลไฟไหม้ แมลงกัดต่อย หรืออื่น ๆ ที่รักษาไม่หาย

  • สีผิวเข้ม

ผู้ที่มีสีผิวปานกลางหรือเข้มมีแนวโน้มที่ข้อศอกจะด้านมากกว่าคนผิวขาว

  • แสงแดด

การเผชิญกับแสงแดดมากเกินไป การสะสมของผิวหนังที่ตายแล้ว หรือจุดด่างดำ กระ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่อผิวเสื่อมสภาพตามอายุ อาจทำให้ข้อศอกคล้ำและด้านได้

  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

การผันผวนของฮอร์โมน เช่น ช่วงขณะตั้งครรภ์ ช่วงวัยหมดประจำเดือน อาจส่งผลให้ผิวมีการเปลี่ยนแปลง และอาจทำให้ข้อศอกด้านได้

  • โรคบางชนิด

โรคบางชนิดอาจทำให้ข้อศอกแห้งและดำ เช่น โรคสะเก็ดเงิน กลาก

  • สารเคมีและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวบางชนิด

สารเคมีต่าง ๆ เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ สบู่แรง ๆ อาจสร้างความระคายเคืองให้กับผิวได้

  • ยาบางชนิด

ยาบางชนิดอาจส่งผลทำให้ผิวแห้งและหมองคล้ำ เช่น เรตินอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด

อาการข้อศอกด้าน

เมื่อผิวบริเวณข้อศอกแห้งอาจทำให้เกิดอาการ ดังนี้

  • ผิวแห้ง แตก เป็นขุย หากผิวแห้งมากขึ้นผิวอาจแตกและมีเลือดออกได้
  • ไม่สบายผิว เจ็บปวด หรือคัน
  • ผิวบริเวณข้อศอกสีคล้ำลง

การดูแลและการป้องกันข้อศอกด้าน

ข้อศอกด้าน สามารถดูแลและป้องกันได้ด้วย วิธีดังนี้

  • เลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวสูตรอ่อนโยนและปราศจากน้ำหอม เพื่อลดสารที่อาจสร้างความระคายเคืองให้ผิว
  • ทามอยเจอร์ไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวทุกครั้งหลังการอาบน้ำหรือว่ายน้ำ
  • ขัดผิวด้วยสครับที่อ่อนโยนต่อผิวเพื่อขจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ควรขัดอย่างเบามือเพื่อไม่สร้างความระคายเคืองให้ผิว
  • ทาครีมกันแดดหรือสวมเสื้อที่ป้องกันแสงแดด ลม และความเย็น
  • ใส่เสื้อผ้าที่พอดีตัว ไม่คับแน่เกินไป และหลีกเลี่ยงการใช้ผงซักฟอกที่อาจสร้างความระคายเคืองให้กับผิว
  • หลีกเลี่ยงการเท้าข้อศอกบนพื้นแข็ง หรืออาจใช้ผ้าหรือหมอนรองข้อศอกเพื่อลดการเสียดสี
  • ดูแลผิวหนังที่เกิดบาดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการเกิดแผลเป็น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

HOW TO FADE DARK SPOTS IN SKIN OF COLOR. https://www.aad.org/public/everyday-care/skin-care-secrets/routine/fade-dark-spots. Accessed September 9, 2021

HYPERPIGMENTATION. https://www.aocd.org/page/Hyperpigmentation. Accessed September 9, 2021

Dry skin. https://dermnetnz.org/topics/dry-skin. Accessed September 9, 2021

Dry Skin. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?contenttypeid=85&contentid=P00281. Accessed September 9, 2021

Skin Care and Aging. https://www.nia.nih.gov/health/skin-care-and-aging. Accessed September 9, 2021

Healthy Skin Matters. https://www.niams.nih.gov/health-topics/kids/healthy-skin. Accessed September 9, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/03/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทานาคา ประโยชน์ต่อผิวและข้อควรระวังในการใช้

วิธีรักษา กลาก ด้วยวัตถุดิบใกล้ตัว


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา