backup og meta

ครีม อาบ น้ำ ผิว แห้ง ควรเลือกแบบไหนให้เหมาะกับสภาพผิว

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 12/07/2023

    ครีม อาบ น้ำ ผิว แห้ง ควรเลือกแบบไหนให้เหมาะกับสภาพผิว

    ผู้ที่มีสภาพผิวแห้ง ควรเลือก ครีม อาบ น้ำ ผิว แห้ง ที่มีส่วนผสมของสารให้ความชุ่มชื้นอย่างกลีเซอรีน เซราไมด์ กรดไฮยาลูรอนิค ข้าวโอ๊ต ว่านหางจระเข้ เป็นต้น ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยกักเก็บน้ำ และเพิ่มเกราะป้องกันให้แก่ผิว นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำนานเกินไป และควรทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหลังอาบน้ำเป็นประจำ เพื่อช่วยบรรเทาอาการผิวแห้ง คัน ระคายเคือง และช่วยฟื้นบำรุงผิวที่แห้งกร้านให้มีสุขภาพดีขึ้น

    ครีม อาบ น้ำ ผิว แห้ง ควรมีส่วนผสมอะไรบ้าง

    ครีมอาบน้ำผิวแห้ง ควรมีส่วนผสมที่ให้ความชุ่มชื้นดังต่อไปนี้

    • กลีเซอรีน (Glycerin) มีลักษณะเป็นของเหลวหนืด ไร้สีและกลิ่น เป็นสารดูดน้ำให้ผิว (Humectant) มีคุณสมบัติอุ้มน้ำ บรรเทาผิวแห้งกร้านหรือแตกลอก ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นและป้องกันผิวไม่ให้แห้งระหว่างอาบน้ำ
    • เซราไมด์ (Ceramides) เป็นกรดไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมัน โดยน้ำมันตามธรรมชาติที่พบบนผิวหนัง มีคุณสมบัติเป็นเกราะป้องกันชั้นผิว กักเก็บความชุ่มชื้นไว้ในผิว ลดการสูญเสียน้ำ ช่วยให้ผิวแข็งแรง ไม่แห้งกร้าน ลดความเสี่ยงผิวหนังติดเชื้อ ทั้งยังปกป้องผิวจากมลภาวะต่าง ๆ เช่น ฝุ่น ควัน สภาพอากาศ มลพิษ หากผิวขาดเซราไมด์อาจทำให้ผิวแห้งกร้านและเกราะป้องกันผิวอ่อนแอลง
    • กรดไฮยาลูรอนิค หรือ ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) เป็นสารดูดน้ำให้ผิวอีกตัวหนึ่งที่ช่วยดึงความชุ่มชื้นมายังผิว ช่วยรักษาและป้องกันผิวไม่ให้แห้งกร้าน รักษาความยืดหยุ่นของผิว ทำให้ผิวดูอิ่มน้ำ ส่งผลให้รอยเหี่ยวย่นและริ้วรอยต่าง ๆ ดูจางลง กรดไฮยาลูรอนิคยังช่วยป้องกันการสร้างเมลานิน ช่วยให้ผิวดูกระจ่างใสและลดเลือนจุดด่างดำ ทั้งยังอาจช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นและลดรอยแผลเป็นได้
    • กรดไกลโคลิก (Glycolic acid) จัดอยู่ในกลุ่มกรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acid หรือ AHA) ซึ่งเป็นสารตามธรรมชาติที่ช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ด้วยการดึงดูดความชื้นและจับน้ำให้อยู่ในเซลล์ผิว ทั้งยังเป็นสารผลัดเซลล์ผิว ช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและน้ำมันที่อุดตันในชั้นผิว อย่างไรก็ตาม มีผลข้างเคียงอาจทำให้ผิวระคายเคืองได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับสารออกฤทธิ์ (Active ingredient) อื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน เช่น เรตินอล (Retinol) และควรใช้ในปริมาณที่พอดี
    • กรดแลคติก (Lactic acid) จัดอยู่ในกลุ่มกรดอัลฟาไฮดรอกซีอีกชนิดหนึ่ง นอกจากช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ที่ผิวแล้ว ยังมีคุณสมบัติผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ช่วยทำความสะอาดผิว ทั้งยังอาจช่วยให้เม็ดสีที่ผิดปกติจางลง แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้เกิดการระคายเคืองเล็กน้อยและผิวไวต่อแสงแดด จึงควรทาครีมกันแดดผิวหน้าและผิวกายเป็นประจำควบคู่ไปด้วย
    • ว่านหางจระเข้ (Aloe vera) เป็นพืชสมุนไพรที่ช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ช่วยให้ผิวเนียนนุ่ม เพิ่มความยืดหยุ่นและทำให้ผิวดูกระชับ ทั้งยังเป็นส่วนผสมธรรมชาติที่ปลอดภัยหากใช้ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพผิวอย่างโรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) หรือมีบาดแผลบนผิวหนัง
    • น้ำมันโจโจบา (Jojoba oil) เป็นน้ำมันที่คล้ายกับซีบัม (Sebum) ที่ผลิตจากต่อมไขมันธรรมชาติของผิวหนัง เป็นส่วนผสมที่ให้ความชุ่มชื้นอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันผิวสูญเสียน้ำและรักษาความยืดหยุ่นของผิว ทั้งยังช่วยทำความสะอาดผิวและจำกัดสิ่งสกปรกโดยไม่รบกวนเกราะปราการตามธรรมชาติของผิว และช่วยให้ผิวชุ่มชื้นและมีสุขภาพดี
    • ข้าวโอ๊ต (Oatmeal) เป็นส่วนผสมจากธรรมชาติที่ช่วยปลอบประโลมผิว ให้ความชุ่มชื้นแก่ผู้ที่มีผิวแห้ง สร้างเกราะป้องกันผิวจากเชื้อโรคและมลภาวะ ช่วยให้ผิวดูเนียนนุ่มหลังอาบน้ำ นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและอนุมูลอิสระ ช่วยรักษาอาการผิวแห้งกร้าน คัน ระคายเคืองได้

    วิธีดูแลผิวสำหรับผู้มีผิวแห้ง

    เคล็ดลับการดูแลผิวที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวแห้ง มีดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ น้ำหอม เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคืองและแห้งมากขึ้น
    • ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์หลังอาบน้ำในขณะที่ผิวยังเปียกหมาด ควบคู่ไปกับการใช้ครีมอาบน้ำผิวแห้ง เพื่อให้ความชุ่มชื้นที่จำเป็นแก่สภาพผิวที่แห้งกว่าปกติ
    • อาบน้ำอุณหภูมิห้อง และจำกัดการอาบน้ำไม่ให้นานเกิน 15 นาที เพราะนานกว่านั้นอาจทำให้น้ำมันในชั้นผิวหายไปและผิวสูญเสียความชุ่มชื้นมากเกินไป และทำให้ปัญหาผิวแย่ลงได้
    • รักษาความชุ่มชื้นของพื้นที่อยู่อาศัย เช่น ห้องทำงาน ห้องนอน ด้วยการใช้ครื่องทำความชื้น (Humidifier) ที่พ่นละอองความชื้นในอากาศ อาจช่วยลดการสูญเสียน้ำของผิวและลดอาการระคายเคืองผิวได้
    • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ขัดผิวที่อาจทำให้ผิวระคายเคือง เช่น หินภูเขาไฟ ฟองน้ำขัดผิว
    • หลังอาบน้ำใช้ผ้าเช็ดตัวซับผิวให้แห้งแทนการเช็ดถูผิวแรง ๆ
    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ และอยู่ในพื้นที่ ๆ มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนจัด
    • ทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไปทุกวันเพื่อป้องกันรังสียูวีที่ทำร้ายผิว ก่อนออกแดดอย่างน้อย 15 นาที และควรทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 12/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา