backup og meta

โรคผิวหนัง คัน แห้ง และการดูแลตัวเอง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    โรคผิวหนัง คัน แห้ง และการดูแลตัวเอง

    โรคผิวหนัง คัน แห้ง หมายถึง โรคผิวหนังต่าง ๆ ที่่พบได้ในชีวิตประจำวัน อย่างผื่นผิวหนังอักเสบ หนังเกล็ดปลา หรือผื่นแพ้ต่อมไขมัน โดยจะมีอาการผิวแห้งและคัน ร่วมกับอาการอื่น ๆ ทั้งนี้ เมื่อเป็นโรคดังกล่าว ควรดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เพื่อบรรเทาอาการและลดโอกาสที่โรคจะกำเริบ

    โรคผิวหนัง คันและแห้ง มีอะไรบ้าง

    ผิวหนัง คัน แห้ง เป็นอาการที่พบได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการขาดน้ำ การสูบบุหรี่ รวมถึงเมื่อป่วยเป็นโรคบางอย่าง

    นอกจากนี้ ผิวหนัง คัน แห้ง ยังเป็นอาการร่วมเมื่อป่วยด้วยโรคผิวหนังดังต่อไปนี้

  • ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบ ที่พบได้ทั่วไปในเด็ก และบางครั้งยังพบได้ในผู้ใหญ่ด้วย เมื่อเป็นโรคนี้ ผิวหนังจะแห้ง คัน ลอก เป็นผื่น และอาจมีตุ่มน้ำใสร่วมด้วย ทั้งนี้ ผื่นผิวหนังอักเสบเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ซึ่งส่งผลให้ผิวหนังอ่อนแอ ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคและสารเคมีต่าง ๆ รวมถึงไม่สามารถกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้
  • สะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด เมื่อเป็นแล้ว เซลล์ผิวหนังจะเติบโตเร็วกว่าปกติ ทำให้ผิวหนังบางส่วนเป็นปื้นหนา มีขุยสีขาวหรือสีเงิน ซึ่งแห้ง ลอก และตกสะเก็ดได้ โดยทั่วไป มักพบสะเก็ดเงินในผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี และระหว่าง 50-60 ปี
  • หนังเกล็ดปลา (Ichthyosis) เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติทางพันธุกรรม เมื่อเป็นแล้ว จะมีผิวหนังที่หนาและแห้งคล้ายเกล็ดปลาปรากฏตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หน้าผาก แก้ม ศีรษะ แขน ขา ท้อง ทั้งนี้ โรคหนังเกล็ดปลามีหลายชนิด โดยชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด คือ Ichthyosis Vulgaris ซึ่งอาการของโรคอาจพบได้ตั้งแต่เกิด และในเด็กหลาย ๆ คน ยังพบร่วมกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังด้วย
  • ผื่นผิวหนังอักเสบรอบปาก (Perioral Dermatitis) เมื่อเป็นแล้ว จะมีอาการผิวแห้งและคัน ร่วมกับมีผื่นแดง ตุ่มแดง ตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองขึ้นรอบ ๆ ปาก รวมถึงส่วนอื่น ๆ ของใบหน้า อย่างหน้าผาก ดวงตา หรือคาง อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด สันนิษฐานว่า อาจเกี่ยวข้องกับการใช้ยาสเตอรอยด์ในรูปแบบครีมหรือสเปรย์ การติดเชื้อรา และ ไรขน
  • ผื่นแพ้ต่อมไขมัน (Seborrheic Dermatitis) หรือเซบเดิร์ม เป็นโรคผิวหนังที่พบได้ทั่วไป แต่ไม่ใช่โรคติดต่อ โดยสันนิษฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) การเพิ่มขึ้นของน้ำมันในผิวหนัง รวมถึงพันธุกรรม ทั้งนี้ ผื่นแพ้ต่อมไขมันไม่ใช่โรคร้ายแรง และเมื่อเป็นแล้ว ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ จะมีอาการแดง แห้ง คัน และลอกเป็นรังแค
  • โรคผิวหนัง คัน แห้ง ดูแลตัวเองอย่างไร

    หากเป็น โรคผิวหนัง คัน แห้ง ที่กล่าวถึงข้างต้น และต้องการบรรเทาอาการหรือลดโอกาสที่โรคจะกำเริบ ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นอยู่เสมอ ด้วยการทาโลชั่นหรือมอยส์เจอไรเซอร์
  • หากเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบควรลดความถี่ของการอาบน้ำลงและเลือกอาบน้ำอุณหภูมิห้อง
  • หากเป็นโรคผื่นแพ้ต่อมไขมันที่หนังศีรษะ ให้สระผมด้วยแชมพูยา เพื่อป้องกันรังแคและอาการต่าง ๆ นอกจากนี้ หากพบผื่นแพ้ต่อมไขมันบริเวณหนวดหรือเครา ให้ใช้แชมพูหรือสบู่ยาทำความสะอาดบริเวณดังกล่าว
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหนังที่ปราศจากแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการแพ้หรือการกำเริบของโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าหนา ๆ เพื่อป้องกันเหงื่อออกมากกว่าปกติ
  • ลดความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เพราะความเครียดเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการของโรคบางอย่างแย่ลงได้
  • หากเป็นโรคหนังเกล็ดปลา ไม่ควรขัดผิว เพราะอาจทำให้ผิวแดงหรือเป็นแผลได้
  • หากเป็นผื่นผิวหนังอักเสบรอบปาก ควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นสาเหตุของโรค อย่างยาสเตียรอยด์
  • ใช้ยาตามคำแนะนำของเภสัชกร
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา