backup og meta

ปากเป็นแผล สาเหตุและการดูแลรักษา

ปากเป็นแผล สาเหตุและการดูแลรักษา  

ปากเป็นแผล เป็นลักษณะของแผลเปื่อยหรือแผลพุพองที่เกิดขึ้นภายในปาก อาจพบได้บ่อยบริเวณกระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก ลิ้น เหงือก อาจทำให้มีอาการเจ็บปวด แสบ ไม่สบายปาก รับประทานอาหารลำบาก โดยส่วนใหญ่ปากเป็นแผลไม่ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรง และสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด และอาจช่วยให้แผลสมานตัวได้เร็วขึ้น

[embed-health-tool-bmr]

ปากเป็นแผล เกิดจากอะไรได้บ้าง

ปากเป็นแผลอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความระคายเคือง และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ดังนี้

  • ความเครียด ความวิตกกังวล หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
  • การบาดเจ็บภายในปากจากของมีคม เช่น ฟันปลอม เครื่องมือจัดฟัน
  • การบาดเจ็บภายในปากจากความระคายเคือง เช่น อาหารร้อนหรือเย็นจัด อาหารมีความเป็นกรดสูง ยาบางชนิด ยาสีฟัน การสูบบุหรี่
  • การติดเชื้อหรือโรคบางชนิด เช่น โรคเซลิแอค (Celiac Disease) เชื้อราในช่องปาก เริม ไลเคน พลานัส (Lichen Planus) แผลเปื่อยเรื้อรัง โรคเหงือกอักเสบ โรคมือเท้าปาก โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคมะเร็งช่องปาก ฝ้าขาว (Leukoplakia) ฝ้าแดง (Erythroplakia)
  • การทำการรักษาภายในช่องปาก เช่น รักษาโรคเหงือก ผ่าฟันคุด ผ่าตัดซีสต์ในปาก
  • การขาดวิตามิน และแร่ธาตุ เช่น โฟเลต (Folate) วิตามินบี 12 วิตามินซี สังกะสี ธาตุเหล็ก

ปากเป็นแผล มีกี่ประเภท

ปากเป็นแผล อาจแบ่งได้หลายประเภทขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิดแผล และลักษณะของแผล ดังนี้

  • ปากเป็นแผลที่เกิดจากการบาดเจ็บ

ปากเป็นแผลประเภทนี้เป็นลักษณะที่อาจพบได้บ่อย ส่วนใหญ่เกิดจากการกัดกระพุ้งแก้ม การจัดฟัน การทำการรักษาภายในช่องปาก และฟันปลอมบาด เป็นต้น ซึ่งแผลจะมีลักษณะเป็นสีขาว อาจมีเลือดออกหรือมีลักษณะเป็นแผลสด โดยปากเป็นแผลที่เกิดจากการบาดเจ็บสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หากไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลตั้งแต่ต้นเหตุ เช่น ฟันปลอมไม่พอดีช่องปาก ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อเปลี่ยนฟันปลอม ซึ่งอาจช่วยลดปัญหาฟันปลอมบาดปากได้

การรักษา ผู้ป่วยควรบ้วนปากด้วยน้ำเกลือเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคบริเวณแผล หรือหากมีอาการปวดมากให้รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ และทายาเพื่อลดการอักเสบ เช่น ยาไตรแอมซิโนโลน อะซิโตไนด์ 0.1% (Triamcinolone Acetonide 0.1%) ยาลิโดเคน ไฮโดรคลอไรด์ 2% (Lidocaine Hydrochloride 2%) ยาโพลิโดแคนอล 1% (Polidocanol 1%) ยาที่มีสารสกัดจากสมุนไพร ยาโคลีนซาลิไซเลต (Choline Salicylate) และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้แผลระคายเคือง เช่น อาหารรสจัด อาหารร้อน อาหารเปรี้ยว นอกจากนี้ ควรเคี้ยวอาหารอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการกัดกระพุ้งแก้ม หรือไปกระทบต่อแผลที่อาจทำให้แผลขยายใหญ่ขึ้น

  • แผลร้อนใน

แผลร้อนในเป็นแผลในช่องปากที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และสามารถเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ หากมีปัจจัยมากระตุ้น เช่น พันธุกรรม ความเครียด ความเหนื่อยล้า ขาดสารอาหาร การอักเสบ ซึ่งลักษณะของแผลอาจมีสีแดงหรือสีขาว เป็นวงเล็กหรือใหญ่ เจ็บปวด มักเกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น กระพุ้งแก้ม เหงือก ลิ้น ริมฝีปากด้านใน

การรักษา อาจทำได้ด้วยการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือเพื่อกำจัดเชื้อโรค บรรเทาอาการปวดได้ด้วยยาทาแผลในปาก เช่น ยาไตรแอมซิโนโลน อะซิโตไนด์ 0.1% ยาลิโดเคน ไฮโดรคลอไรด์ 2% ยาโพลิโดแคนอล 1% ยาที่มีสารสกัดจากสมุนไพร ยาโคลีนซาลิไซเลต และดื่มน้ำให้เพียงพอ 2-3 ลิตร/วัน รับประทานอาหารให้หลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้แผลระคายเคือง รวมถึง หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจกระทบกระเทือนแผลร้อนใน เช่น แปรงสีฟันที่มีขนแข็ง

  • ปากเป็นแผลจากการสัมผัสกับสารเคมี

ผลิตภัณฑ์หรือสารเคมีที่มี ความเข้มข้นสูง เป็นกรด หรือมีฤทธิ์กัดกร่อน เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารรสเปรี้ยวหรือเผ็ด อาจทำให้เกิดแผลเปื่อย อักเสบ หรือแผลพุพองภายในช่องปากได้

การรักษา อาจทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์และอาหารที่เป็นกรดสูง หรือสารเคมีที่อาจมีฤทธิ์กัดกร่อน ซึ่งอาจช่วยให้แผลค่อย ๆ สมานตัวและดีขึ้นเอง หากมีอาการปวดมากสามารถเลือกทายาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาไตรแอมซิโนโลน อะซิโตไนด์ 0.1% ยาลิโดเคน ไฮโดรคลอไรด์ 2% ยาโพลิโดแคนอล 1% ยาที่มีสารสกัดจากสมุนไพร ยาโคลีนซาลิไซเลต

  • ปากเป็นแผลจากการติดเชื้อ

อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียภายในช่องปาก เช่น เชื้อไวรัสเริม เชื้อราในช่องปาก โรคมือเท้าปาก อาจทำให้เกิดการอักเสบ แผลเปื่อยหรือแผลพุพองบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เหงือก ลิ้น เพดานปาก นอกจากนี้ ปากเป็นแผลจากการติดเชื้อยังมีสาเหตุที่พบบ่อย คือ โรคเริมที่ปากและโรคปากนกกระจอก ดังนี้

  • โรคปากนกกระจอก เป็นการอักเสบที่มักเกิดขึ้นจากการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียที่มุมปาก ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการสะสมของน้ำลายที่มุมปาก จนทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบขึ้น อาจทำให้มีอาการเจ็บปวด แสบ ตึงและบวม การรักษา อาจสามารถทำได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา เช่น ยาไนสแตติน (Nystatin) ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) หรือรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยามิวพิโรซิน (Mupirocin) กรดฟิวซิดิก (Fusidic Acid)
  • โรคเริมที่ปาก เป็นการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) ที่ปากหรือเหงือก จากการสัมผัสกับรอยโรคที่ผิวหนังของผู้ที่มีเชื้อไวรัสเริม เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การใช้ภาชนะรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น อาจทำให้มีอาการแสบร้อน คัน มีแผลพุพองในปากหรือรอบปาก การรักษา อาจสามารถทำได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) เพื่อลดการแพร่เชื้อและบรรเทาอาการเจ็บปวดของแผลเริมที่ปาก
  • ปากเป็นแผลจากการใช้ยาบางชนิด

เป็นแผลที่เกิดจากการรักษาในโรงพยาบาลหรือการใช้ยารักษาโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น การใช้เคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง ใช้ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อาจทำให้แผลในช่องปากมีลักษณะอักเสบและขยายใหญ่ขึ้น

การรักษา ควรได้รับการรักษาและการติดตามแผลจากคุณหมออย่างต่อเนื่อง สามารถใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของยาชาหรือสเตียรอยด์ เช่น ยาไตรแอมซิโนโลน อะซิโตไนด์ 0.1% ยาลิโดเคน ไฮโดรคลอไรด์ 2% ยาโพลิโดแคนอล 1% และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดความระคายเคือง เช่น อาหารที่เป็นกรดสูง อาหารรสจัด และรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นภายในปาก เช่น แตงโม ไอศกรีม วุ้น

การดูแลตัวเองเมื่อ ปากเป็นแผล

การดูแลตัวเองเมื่อปากเป็นแผล อาจทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่เจ็บ เนื่องจากการสัมผัสอาจรบกวนกระบวนการสมานตัวของแผล และหากแผลที่เกิดขึ้นเป็นแผลติดเชื้ออาจทำให้เชื้อแพร่กระจายได้
  • เลือกใช้แปรงสีฟันขนนุ่มแปรงฟัน หรือเลือกใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและลดโอกาสในการติดเชื้อได้ โดยสามารถทำได้บ่อย ๆ
  • รับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น ต้มจืด ข้าวต้ม โจ๊ก ซุป และหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อนมาก เผ็ดมาก หรือเป็นกรดสูง และสามารถดื่มน้ำเย็นเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปากได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

แผลในปาก…ปัญหากวนใจกับการเลือกใช้ “ยาป้ายปาก”. https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=52. Accessed September 23, 2022

Mouth sores and ulcers (canker sores). https://www.healthdirect.gov.au/mouth-sores-and-ulcers. Accessed September 23, 2022

Mouth Sores and Pain. https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/physical-side-effects/mouth-problems/mouth-sores.html. Accessed September 23, 2022

Top Problems in Your Mouth. https://www.webmd.com/oral-health/ss/slideshow-mouth-problems. Accessed September 23, 2022

Mouth ulcers. https://www.nhs.uk/conditions/mouth-ulcers/. Accessed September 23, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/01/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

แผลถลอกบนผิวหนัง (Skin Abrasions)

แผลหนอง หรือ แผลเป็นหนอง อาการ สาเหตุ และวิธีรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา