สีผิวนั้นของคนเรานั้นมีอยู่หลายเฉดสี ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ พันธุกรรม และสภาพแวดล้อม ในประเทศไทยจึงพบ ผิวสองสี เป็นจำนวนมาก เนื่องจากแสงแดดและสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ทำให้สีผิวไม่สม่ำเสมอ หรือมีสีผิวที่คล้ำลงได้ แต่ในบางกรณี ผิวสองสีที่เปลี่ยนแปลงไป อาจเกิดได้จากโรคบางอย่าง
[embed-health-tool-bmi]
ผิวสองสี ดูแลอย่างไรให้สุขภาพดี
สีผิวของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน พบได้ทั้งผิวขาวอมชมพู ผิวขาวเหลือง ผิวสีน้ำผึ้งหรือผิวสองสี ผิวคล้ำหรือผิวสีเข้ม การดูแลผิวพรรณ ไม่ว่าจะเป็นผิวสองสีหรือผิวคล้ำให้สุขภาพดี จึงมีความสำคัญมากกว่าการทำให้ผิวขาว โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสีผิว ได้แก่
- ปัจจัยภายใน : เชื้อชาติ กรรมพันธุ์ และกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกาย
- ปัจจัยภายนอก : พฤติกรรมการใช้ชีวิต กิจกรรมในชีวิตประจำวัน การโดนแสงแดดเป็นประจำ การเผชิญกับฝุ่นมลภาวะ การดูแลสุขภาพผิว และการรับประทานอาหาร
วิธีดูแลสุขภาพผิวสองสี
ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกล้วนส่งผลต่อสุขภาพผิวพรรณ หากต้องการให้ผิวพรรณสุขภาพดี ต้องดูแลให้ครบ ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการทําร้ายผิว ไม่ควรสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก ผลไม้ ที่อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่
- ดูแลผิวพรรณให้สะอาด
- ใช้ครีมกันแดดทุกวัน ควรเลือกค่า SPF ปกป้องรังสียูวีบีอย่างน้อย 30+ ค่าปกป้องรังสียูวีเอสูงสุด PA++++
- ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ดูแลผิวสองสีให้สดใสได้อย่างไร
หากต้องการให้ผิวสองสีดูกระจ่างใส สุขภาพดี การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวและดูแลผิวก็มีส่วนสำคัญ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบ ดังนี้
- ส่วนประกอบที่ช่วยเสริมคอลลาเจนและผลัดเซลล์ผิว ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินซี โปรตีนเปปไทด์ AHA และ BHA
- ส่วนประกอบที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น เช่น กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic acid)
- ส่วนประกอบที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เช่น โครเอ็นไซม์ คิวเท็น (Q10)
ผิวสองสี สีผิวไม่สม่ำเสมอ แบบไหนที่ควรรักษา
สำหรับคนผิวสองสี ที่มีสีผิวไม่สม่ำเสมอ อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคด่างขาวได้ โดยโรคด่างขาวเกิดจากเซลล์สร้างสีถูกทำลาย ทำให้ผิวหนังมีสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอ สังเกตได้จากบริเวณผิวหนังที่เป็นดวงจะมีสีขาวและขอบเขตชัดเจน พบได้บ่อยบริเวณปลายมือปลายเท้าและรอบปาก
โรคด่างขาวเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แต่ไม่ติดต่อผ่านการสัมผัส และมักจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ยกเว้นกรณีผู้ป่วยมีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนังสูงในบริเวณรอยโรค หากได้รับแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ จึงจำเป็นต้องป้องกันแดดเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง
สาเหตุของโรคด่างขาวและการรักษา
สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่โรคนี้พบมากในโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 โรคต่อมหมวกไต และโรคผมร่วง จุดประสงค์ของการรักษาเป็นการทำให้สีผิวกลับคืนมา ขั้นตอนการรักษาทำได้ ดังนี้
- การรักษาด้วยยาสตีรอยด์ ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการด่างขาวน้อย
- การฉายแสง ผู้ป่วยต้องมารับการฉายแสงที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นอย่างน้อย ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษา 1-2 ปี ไม่ควรหยุดรักษากลางคัน วิธีนี้เป็นการรักษาที่ได้ผลที่สุดในปัจจุบัน
- การปลูกเซลล์สี กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการน้อย หรือแพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีนี้ร่วมกับการฉายแสง