backup og meta

กันเเดดทาตัว ควรเลือกแบบไหนเพื่อปกป้องผิวให้ได้ผล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/07/2023

    กันเเดดทาตัว ควรเลือกแบบไหนเพื่อปกป้องผิวให้ได้ผล

    การเลือก กันเเดดทาตัว ควรพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพการป้องกันแดดที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนผสมที่เหมาะสมกับสภาพผิว ค่า PA ค่า SPF อายุการใช้งาน ประสิทธิภาพการกันน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรใช้ครีมกันแดดร่วมกับการป้องกันด้วยวิธีอื่น ๆ  ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการหลบแดด สวมแว่นกันแดด สวมหมวก สวมเสื้อแขนยาวหรือกางเกงขายาว รวมไปถึงกางร่มในวันที่แดดจัด เป็นต้น เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดที่มากขึ้น

    กันเเดดทาตัว สำคัญอย่างไร

    แสงแดดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผิวเสื่อมสภาพเร็วและเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง เนื่องจากแสงแดด ประกอบไปด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีอย่าง ยูวีเอ (UVA) ซึ่งเป็นรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่นที่สุดและทำให้และทำให้เกิดริ้วรอย เหี่ยวย่นก่อนวัย จุดด่างดำ และความหมองคล้ำ นอกจากนี้ยังมีรังสียูวีบี (UVB) ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผิวไหม้หรือเกรียมแดดได้ การทากันแดดทาตัวเป็นประจำทุกวันในช่วงเช้าก่อนออกแดดอาจช่วยป้องกันผิวจากการทำร้ายของแสงแดดได้

    กันเเดดทาตัว ควรเลือกอย่างไร

    การเลือกกันเเดดทาตัว อาจพิจารณาเลือกจากปัจจัยต่อไปนี้

    • เลือกครีมกันแดดทาตัวที่มีพีเอ (PA) ที่ย่อมาจาก Protection Grade of UVA โดยค่าพีเอ จะหมายถึงประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีเอ ซึ่งมีตั้งแต่ PA+ ที่ป้องกันได้ในระดับเบื้องต้น PA++ ที่ป้องกันได้ในระดับปานกลางและ PA+++ ที่ป้องกันได้ในระดับสูง
    • เลือกครีมกันแดดทาตัวที่มีเอสพีเอฟ (SPF) ที่ย่อมาจาก Sun Protection Factor โดยค่าเอสพีเอฟจะเป็นค่าที่ประเมินว่าครีมกันแดดสามารถปกป้องผิวจากการไหม้ซึ่งเกิดจากยูวีบีได้มีประสิทธิภาพเท่าไหร่ ซึ่งเอสพีเอฟ 50 เป็นตัวเลขที่เหมาะสมในการช่วยกรองรังสียูวีจากแสงแดดในประเทศไทย
    • เลือกครีมกันแดดทาตัวสูตรบรอดสเปคตรัม (Broad spectrum) ซึ่งจะช่วยปกป้องผิวหนังได้จากทั้งรังสียูวีเอและยูวีบี และลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งผิวหนัง
    • ตรวจสอบวันหมดอายุของครีมกันแดดก่อนซื้อเสมอ เนื่องจากครีมกันแดดที่หมดอายุไปแล้วจะเสื่อมสภาพลงและไม่สามารถช่วยกันแดดได้อย่างเหมาะสม สำหรับครีมกันแดดที่ไม่ระบุวันหมดอายุจะมีอายุเก็บรักษาไม่เกิน 3 ปี และอายุการใช้งานจะสั้นลงไปอีกหากอยู่เก็บไว้ในที่อุณหภูมิสูง
    • ผู้ที่ออกแดดและทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นประจำ อาจเลือกครีมกันแดดที่มีคุณสมบัติกันน้ำหรือกันเหงื่อสูตรเจลที่จะดูดซึมเข้าสู่ผิวอย่างรวดเร็วและคงประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากแสงแดดได้แม้จะเหงื่อออกเยอะ
    • สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพผิว เช่น สภาพผิวบอบบาง โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) ควรเลือกครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide) ไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium dioxide) ที่ช่วยสะท้อนรังสีได้ดีและลดการระคายเคืองของผิว

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันผิวจากแสงแดด

    การดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันไม่ให้ผิวสัมผัสกับแสงแดดได้

    • ทาครีมกันแดดเป็นประจำก่อนออกแดดอย่างน้อย 15-30 นาที และควรทาครีมกันแดดซ้ำหากอยู่กลางแดดนานกว่า 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังควรทาซ้ำหลังจากว่ายน้ำ ออกกำลังกาย หรือเหงื่อออกเยอะ
    • ปริมาณครีมกันแดดที่แนะนำคือ 5 มิลลิลิตร (ประมาณ 1 ช้อนชา) สำหรับแขนและขาแต่ละข้าง ลำตัวด้านหน้า ลำตัวด้านหลัง รวมไปถึงใบหน้า ลำคอและหู ซึ่งเท่ากับ 35 มิลลิลิตร (ประมาณ 7 ช้อนชา) สำหรับการทาครีมกันแดดทั่วทั้งตัว
    • หมั่นทามอยส์เจอร์ไรเซอร์หรือโลชั่นทาตัวอยู่เสมอและอาจเลือกสูตรที่มีสารกันแดด เพื่อเป็นเกราะป้องกันผิวให้แข็งแรงและช่วยป้องกันผิวจากแสงแดด
    • หลีกเลี่ยงการออกไปสัมผัสแสงแดดโดยตรงเสมอ ให้พยายามอยู่ในอาคารหรือใต้ร่มเงาของต้นไม้ ร่ม หรือหลังคา และควรทาครีมกันแดดทุกครั้งเมื่ออกจากบ้านแม้ว่าจะอยู่ในร่มเงาก็ตาม
    • สวมเสื้อผ้าแขนยาวและขายาวเพื่อป้องกันผิวจากรังสียูวี เลือกเสื้อผ้าที่เนื้อผ้าหนา หลีกเลี่ยงสวมเสื้อผ้าที่มีสีเช้ม เช่น สีดำ สีน้ำเงินเข้ม สีเขียวเข้ม ที่สะท้อนแสงแดดได้น้อย และทำให้รู้สึกร้อนมากขึ้น และอาจเลือกเสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติป้องกันยูวีซึ่งจะช่วยลดการสัมผัสแสงแดดอีกทางหนึ่ง
    • สวมหมวกที่มีปีกรอบด้านที่ช่วยบังใบหน้า ใบหู หลังคอ
    • สวมแว่นกันแดดเพื่อปกป้องดวงตาจากรังสียูวี และลดความเสี่ยงของต้อกระจก เลือกแว่นกันแดดที่ป้องกันทั้งแสงยูวีเอและยูวีบี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา