backup og meta

ผิวแห้งคัน สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการดูแลตัวเอง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    ผิวแห้งคัน สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการดูแลตัวเอง

    ผิวแห้งคัน เป็นภาวะทางผิวหนังที่พบได้ทั่วไป เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความร้อน สภาพอากาศ โรคผิวหนังบางชนิด อายุ การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ โดยทั่วไป การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี เช่น ใช้ครีมบำรุงผิวหรือมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ทายาบรรเทาอาการคัน อาจช่วยรักษาอาการผิวแห้งคันให้หายเป็นปกติได้ในเวลาไม่นาน แต่หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

    ผิวแห้งคัน เกิดจากอะไร

    ผิวแห้งคันมักเกิดจากปัจจัยภายนอก ดังนี้

    • ความร้อน การใช้เครื่องทำความร้อนอาจลดความชื้นภายในบ้านและทำให้ผิวแห้งกร้านและคันได้
    • อายุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ผิวจะแห้งขึ้น เนื่องจากชั้นผิวเก็บกักน้ำได้น้อยลง อาจส่งผลให้เกิดภาวะผิวหนังอักเสบ ทำให้คัน ระคายเคือง หรือแห้งแตกจนเลือดออกได้
    • ภาวะสุขภาพผิว เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคหิด ลมพิษ อาจทำให้ผิวหนังแห้ง คัน และอักเสบได้
    • สภาพอากาศ ในช่วงฤดูหนาวที่ความชื้นในอากาศและอุณหภูมิลดลง หรือในฤดูร้อนที่อากาศแห้งมาก ๆ อาจทำให้ผิวแห้งลอกและมีอาการคันได้
    • การว่ายน้ำในสระ สระว่ายน้ำที่มีคลอรีนซึ่งเป็นสารช่วยรักษาความสะอาดของน้ำในสระ อาจทำให้ความชุ่มชื้นของผิวลดลงได้
    • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก สบู่ แชมพู ที่ขจัดความมันและลดความชุ่มชื้นของผิว อาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองและแห้งลอก

    อาการของผิวแห้งคัน

    อาการของผิวแห้งคัน อาจมีดังนี้

    • ผิวแห้งลอกเป็นขุย
    • ผิวหนังแตกลอก อาจแตกเป็นร่องลึกและเลือดออก
    • ผิวบวมแดง
    • ผิวหยาบกร้าน
    • รู้สึกว่าผิวตึง โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ ว่ายน้ำ

    ผิวแห้งคัน ใช้อะไรดี

    วิธีแก้ปัญหาผิวแห้งคัน อาจทำได้ดังนี้

    • ใช้ครีมขี้ผึ้งหรือครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น เช่น น้ำมันโจโจ้บา ไดเมธิโคน (Dimethicone) กลีเซอรีน (Glycerine) กรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic acid) กรดแลคติก (Lactic acid) ลาโนลิน (Lanolin) เชียบัตเตอร์ (Shea butter) ทั้งนี้ หากมีปัญหาผิวอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผิวอักเสบ ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนเลือกครีมบำรุงผิว เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับปัญหาผิวที่พบมากที่สุด
    • คุณหมออาจให้ใช้ยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ เพื่อลดอาการบวมที่ทำให้มีผื่นหรือมีอาการคัน อาจช่วยบรรเทาอาการผิวแห้งลอกหรือแตก ในกรณีรุนแรง คุณหมออาจสั่งยาแบบรับประทานหรือยาแบบฉีดเข้าผิวหนังโดยตรง
    • ใช้ยาทาเฉพาะที่ชนิดใช้ภายนอก (Topical anesthetics) เช่น พราโมซีน (Pramoxine) อาจช่วยบรรเทาอาการคันชั่วคราว
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารที่ออกฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิวและทำให้ผิวแห้งมากกว่าเดิม เช่น แอลกอฮอล์ กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha hydroxy acids) หรือเอเอชเอ (AHAs) น้ำหอม สบู่ระงับกลิ่นกาย เรตินอยด์
    • หากริมฝีปากแห้งแตก ลอกเป็นขุย ควรทาลิปบาล์มเพื่อบำรุงริมฝีปากให้ชุ่มชื้น

    วิธีดูแลตัวเองสำหรับผู้ที่มี ผิวแห้งคัน

    วิธีดูแลตัวเองสำหรับผู้ที่มีผิวแห้งและคัน อาจทำได้ดังนี้

    • หยุดใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ เช่น ครีมอาบน้ำ สบู่ ที่มีส่วนผสมที่อาจกระตุ้นให้ผิวแห้งและระคายเคือง เช่น แอลกอฮอล์ น้ำหอม พาราเบน
    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน
    • หากรู้สึกคัน ควรบรรเทาอาการคันด้วยการถูผิวหนังเบา ๆ แทนการแกะเกาผิว
    • ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาดประคบผิวบริเวณที่แห้งคันประมาณ 5-10 นาที อาจช่วยบรรเทาอาการคันได้
    • หลังล้างหน้าและอาบน้ำ ควรใช้ผ้าขนหนูสะอาดซับผิวเบา ๆ และทาครีมบำรุงผิวตอนผิวเปียกหมาด หลีกเลี่ยงการถูผิวแรง ๆ เพราะอาจทำให้ผิวที่แห้งและบอบบางระคายเคืองได้
    • จำกัดเวลาอาบน้ำไม่ให้เกิน 10-15 นาที และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน เพราะอาจทำให้ผิวยิ่งสูญเสียน้ำจนผิวแห้งและคันมากขึ้น
    • เพิ่มความชื้นในอากาศด้วยการวางเครื่องทำความชื้น (Humidifier) ตามพื้นที่ต่าง ๆ ภายในบ้าน
    • สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และไม่รัดแน่นจนเกินไป
    • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป และทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือทาบ่อยขึ้นหากทำกิจกรรมทางน้ำหรือเหงื่อออกมาก ควรเลือกครีมกันแดดมีส่วนผสมที่ให้ความชุ่มชื้น เช่น เซราไมด์ (Ceramides) กลีเซอรีน กรดไฮยาลูโรนิก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา