backup og meta

ภูมิแพ้ผิวหนัง ห้ามกินอะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/01/2023

    ภูมิแพ้ผิวหนัง ห้ามกินอะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

    ภูมิแพ้ผิวหนัง ห้ามกินอะไร อาจเป็นคำถามสำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้สงสัย โดยภูมิแพ้ผิวหนังเป็นภาวะผิวหนังอักเสบที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้อย่างรุนแรง ส่งผลทำให้เกิดอาหารผิวแห้ง ระคายเคือง ผื่น บวม อักเสบ ผิวแดง ที่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งอาหารเป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ที่อาจพบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะอาหารประเภทถั่ว กุ้ง ปลา ข้าว หอย ไข่และนม ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอและระมัดระวังในการเลือกรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันการเกิดอาการภูมิแพ้ผิวหนัง

    สาเหตุการเกิดภูมิแพ้ผิวหนัง

    ภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นภาวะผิวหนังอักเสบที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในเด็ก มีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันทำปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้อย่างรุนแรง โดยสารก่อภูมิแพ้อาจพบได้ในอาหาร ฝุ่น ควัน สารเคมี อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิวแห้ง ระคายเคือง ผื่น บวม อักเสบ ผิวแดงและคัน ซึ่งในแต่ละคนอาจมีปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ที่แตกต่างกัน

    ภูมิแพ้ผิวหนัง ห้ามกินอะไร

    อาการของภูมิแพ้ผิวหนังมักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ เช่น นม ไข่ พืชตระกูลถั่ว อาหารทะเล อาจมีฤทธิ์กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดอาการแพ้ ดังนั้น ผู้เป็นภูมิแพ้ผิวหนังจึงห้ามกินอาหารที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้อาหารที่ห้ามกิน อาจมีดังนี้

    • นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น นมวัว นมแพะ นมแกะ เนย ชีสเป็นอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในเด็กที่ระบบย่อยอาหารยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ อาจทำให้มีอาการผื่นลมพิษ หายใจมีเสียงหวีด ท้องเสีย ท้องอืด ปวดท้อง จุกเสียด เมื่อเด็กโตขึ้นอาการแพ้นมจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไป แต่บางคนอาจมีอาการแพ้นมเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง
    • ไข่ เช่น ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่นกกระทา อาการแพ้ไข่อาจเกิดขึ้นจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันทำปฏิกิริยากับโปรตีนที่พบในไข่แดงและไข่ขาว ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการต่าง ๆ เช่น ผื่นลมพิษ อาหารไม่ย่อย หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด บวม คัน
    • ปลา ปลาทะเลบางชนิด เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า อาจทำให้เกิดอาการแพ้ โดยมักพบในผู้ใหญ่ ทำให้มีผื่นที่ผิวหนัง คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดหัว ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย จาม และคัดจมูก
    • อาหารทะเล เช่น หอย กุ้ง ปู กุ้งก้ามกราม ปลาหมึก หอยนางรม มีสารฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ โดยบางคนอาจแพ้อาหารทะเลทุกชนิด ในขณะที่บางคนอาจแพ้แค่บางชนิดเท่านั้น โดยอาการแพ้จะคล้ายกับอาการแพ้ปลา เช่น ผื่นที่ผิวหนัง คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดหัว ท้องอืด ท้องเสีย จาม คัดจมูก
    • ข้าวสาลี เกิดขึ้นเมื่อร่างกายทำปฏิกิริยากับโปรตีนที่พบในข้าวสาลี ได้แก่ อัลบูมิน (Albumin) โกลบูลิน (Globulin) เกลียดิน (Gliadin) กลูเตน (Gluten) มักทำให้มีอาการปากบวม ตาบวม ผื่นลมพิษ ผื่นคัน คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก หายใจลำบาก ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย
    • พืชตระกูลถั่วโดยเฉพาะถั่วเหลืองและถั่วลิสง อาการแพ้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ป่วยกินถั่ว สูดดมฝุ่นจากถั่ว หรือการสัมผัสกับถั่วจนละอองเข้าสู่ร่างกาย อาจให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง คัน ลมพิษ บวม ปัญหาทางเดินอาหาร น้ำมูกไหล หายใจลำบาก ซึ่งอาจต้องเข้ารับการรักษาฉุกเฉิน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

    การดูแลตัวเองเมื่อเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง

    นอกจากการดูแลเรื่องการรับประทานอาหารที่อาจเป็นสิ่งกระตุ้นทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ผิวหนังแล้ว การดูแลตัวเองเพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้ที่เกิดขึ้น อาจทำได้ดังนี้

    • อาบน้ำเป็นประจำทุกวันทั้งเช้าและเย็น เพื่อขจัดสิ่งสกปรกบนผิวหนัง ลดการสะสมของเหงื่อและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้
    • เลือกใช้สบู่สูตรอ่อนโยน ปราศจากน้ำหอมและแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันอาการแพ้และอาการระคายเคืองผิวหนัง
    • ทามอยเจอร์ไรเซอร์ เพื่อให้ความชุ่มชื้นกับผิวและลดอาการระคายเคือง
    • สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ โดยเฉพาะในวันที่อากาศร้อน ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อลดการสะสมของเหงื่อและความร้อนที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้
    • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่เป็นขนและมีเนื้อสัมผัสหยาบกระด้าง เพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้
    • สังเกตตัวเองอยู่เสมอว่าสิ่งไหนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เพื่อหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา