backup og meta

มอยเจอร์ไรเซอร์ ทาตอนไหน ทาเพื่ออะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    มอยเจอร์ไรเซอร์ ทาตอนไหน ทาเพื่ออะไร

    มอยเจอร์ไรเซอร์ เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทาผิวหนังทั้งใบหน้าและร่างกายเพื่อรักษาความชุ่มชื้นมีทั้งรูปแบบครีม เจล หรือโลชั่น หากสงสัยว่า มอยเจอร์ไรเซอร์ ทาตอนไหน คำตอบคือ ควรทาหลังจากอาบน้ำหรือล้างหน้า ในขณะที่ผิวหนังยังเปียกชื้นอยู่

    มอยเจอร์ไรเซอร์ คืออะไร

    มอยเจอร์ไรเซอร์ เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหนัง ในรูปแบบครีม เจล หรือโลชั่น มีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้นและป้องกันผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้นในเวลาเดียวกัน

    โดยทั่วไป มอยเจอร์ไรเซอร์ใช้ทาเพื่อป้องกันผิวแห้ง โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับอากาศที่แห้งและเย็นในฤดูหนาว

    มอยเจอร์ไรเซอร์ ทาตอนไหน

    มอยเจอร์ไรเซอร์ ควรทาประมาณ 2 ครั้ง/วัน หลังจากอาบน้ำ หรือหลังล้างหน้าหรือโกนหนวด โดยก่อนทา อาจเลือกขัดผิวเบา ๆ ด้วยผ้าสะอาด เพื่อกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วออก และทำให้มอยเจอร์ไรเซอร์ซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น

    ทั้งนี้ ผู้ที่ชอบอาบน้ำอุ่นควรทามอยเจอร์ไรเซอร์หลังอาบน้ำอุ่นเพราะน้ำอุ่นจะชะล้างน้ำมันออกจากผิวหนัง ทำให้ผิวหนังแห้งหรือแตกง่าย โดยมอยเจอร์ไรเซอร์จะช่วยป้องกันผิวแห้งและแตก

    ขั้นตอนการทามอยเจอร์ไรเซอร์

    ขั้นตอนการทามอยเจอร์ไรเซอร์ มีดังต่อไปนี้

    1. อาบน้ำหรือล้างหน้าให้สะอาด เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกหรือเครื่องสำอางออกจากผิวหนัง
    2. ทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวโดยเริ่มต้นจากผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อบางเบาที่สุดไปยังผลิตภัณฑ์ที่เนื้อหนักที่สุด
    3. ทามอยเจอร์ไรเซอร์ ขณะที่ผิวหนังยังเปียกชื้นอยู่ โดยแต้มมอยเจอร์ไรเซอร์เป็นจุด ๆ แล้วค่อย ๆ ใช้นิ้วเกลี่ยวนเป็นวงกลมรอบ ๆ ผิวหน้า หากทาตัวค่อย ๆ ลูบไล้ให้ทั่วร่างกาย

    มอยเจอร์ไรเซอร์ เลือกซื้ออย่างไร

    ปัจจุบัน มีมอยเจอร์ไรเซอร์จำนวนมากวางจำหน่ายตามร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้ยากต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ ควรเลือกซื้อมอยเจอร์ไรเซอร์ที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

    • มีส่วนผสมที่เป็นประโยชน์ต่อผิวหนัง อย่างกรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ผิวหนังกักเก็บน้ำหรือความชุ่มชื้นไว้ได้นานยิ่งขึ้น หรือเซราไมด์ (Ceramide) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่พบได้ในผิวหนังมนุษย์ มีคุณสมบัติป้องกันผิวแห้งหรือติดเชื้อ
    • มีสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างสารสกัดจากชาเขียว คาโมมายล์ ทับทิม หรือรากชะเอมเทศ ซึ่งอาจมีคุณสมบัติปกป้องผิวหนังไม่ให้เสียหายจากอนุมูลอิสระ
    • เลือกชนิดให้เหมาะสมกับสภาพผิวหนัง เช่น ผู้ที่หน้ามันหรือเสี่ยงต่อการเป็นสิวมากกว่าคนทั่วไป ควรใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ที่ไม่ทำให้รูขุมขนอุดตัน หรือระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ว่า Non-Comedogenic ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ผิวแห้ง ควรเลือกใช้มอยเจอร์ไรเซอร์เนื้อหนาที่อุดมไปด้วยสารที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง เช่น กรดไฮยาลูโรนิค โพรพิลีน ไกลคอล (Propylene Glycol) ปิโตรเลียม เจลลี (Petroleum Jelly)
    • ปราศจากส่วนผสมที่อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง อย่างสีสังเคราะห์ น้ำหอม หรือสารต้านแบคทีเรีย นอกจากนี้ ผู้ที่ผิวแตกแห้งง่ายหรือเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบ ไม่ควรใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ที่ผสมยูเรีย (Urea) หรือกรดแล็กทิก (Lactic Acid) เพราะจะทำให้ผิวหนังที่มีอาการระคายเคืองอยู่แล้วอาการรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
    • ป้องกันผิวหนังจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดได้ หรือมีค่า SPF (Sun Protection Factor) ประมาณ 50 โดย SPF เป็นค่าที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของครีมกันแดดในการป้องกันผิวไหม้หรือผิวเสียหายเนื่องจากรังสียูวีบี (Ultraviolet B หรือ UVB) ในแสงแดด

    การทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นวิธีอื่น

    นอกจากการใช้ มอยเจอร์ไรเซอร์ แล้ว การดูแลตัวเองด้วยวิธีการต่อไปนี้ยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังได้

    • ดื่มน้ำในปริมาณมาก ให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน รวมถึงการรับประทานอาหารที่ฉ่ำน้ำ เช่น มะเขือเทศ แตงกวา ผักกาดหอม
    • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณจำกัด เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และการปัสสาวะบ่อย ๆ จะทำให้ผิวหนังสูญเสียน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ ส่งผลให้ผิวหน้าหมองคล้ำและมีริ้วรอยได้
    • บริโภคเกลือในปริมาณน้อย เพราะหากร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไปจะส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ ผิวแห้งหยาบ และมีอาการระคายเคืองร่วมด้วย
    • เลือกใช้สบู่หรือแชมพูฤทธิ์อ่อน แทนการใช้สบู่หรือแชมพูที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เนื่องจากแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์กำจัดน้ำมันออกจากผิวหนัง ซึ่งทำให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้นหรือแห้งลงได้
    • ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในบ้านป้องกันผิวหนังแห้ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา