เชื้อรา เป็นอีกสาเหตุที่ทำลายสุขภาพผิวจนนำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ เช่น กลาก เกลื้อน การติดเชื้อราที่เล็บ ทั้งยังส่งผลทำให้เกิดผื่น รอยแดง อาการคัน เป็นแผล ผิวไม่เรียบเนียน การใช้ ยาทาเชื้อรา อาจสามารถช่วยรักษาและฟื้นฟูให้ผิวกลับมาสุขภาพดีได้ อย่างไรก็ตามควรขอคำปรึกษาและรับการตรวจปัญหาผิวที่เกิดขึ้นจากคุณหมอก่อนใช้ยาเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย
โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา
โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา ที่พบบ่อย มีดังนี้
- กลาก เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา Trichophyton Microsporum และ Epidermophyton ซึ่งอาศัยอยู่ในเซลล์ชั้นนอกของผิวหนัง โดยผ่านการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรงจากคน สัตว์ ดิน และสิ่งรอบตัว เช่น ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน แปรงหวีผมเมื่อใช้ร่วมกันกับผู้ที่ติดเชื้อ กลากสามารถสังเกตได้จากรอยสะเก็ดที่เป็นวงแหวนบริเวณแขน ขา ลำตัว ก้น บางคนอาจมีรอยกลากสีแดง น้ำตาล ม่วงหรือขาวกระจายทั่วร่างกายและมีอาการคันร่วมด้วย
- เกลื้อน เกิดจากเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) พบได้บ่อยในบริเวณผิวหนัง เช่น ใบหน้า คอ หน้าอก หลัง เกลื้อนมักปรากฏเป็นจุดเล็ก ๆ มีขนาดตั้งแต่ 1 มิลลิเมตร รอบรูขุมขนหรืออาจรวมตัวกันเป็นปื้นขนาดใหญ่ที่มีสีซีด หรือสีเข้มกว่าสีผิวปกติ เป็นขุย ๆ มีสะเก็ดแห้งที่อาจขูดออกได้
- เชื้อราที่เล็บ เกิดจากเชื้อราหลายชนิดที่อาจพบได้ตามสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งเชื้อราที่พบได้บ่อย คือ เชื้อรา Dermatophyte ส่งผลกระทบกับเล็บมือและเล็บเท้า ทำให้เล็บเปราะบาง แตกหักง่าย และหนา ทั้งยังอาจทำให้เล็บเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เหลือง ขาว
- การติดเชื้อราแคนดิดา (Candida Albicans) ปกติแล้วเชื้อราชนิดนี้พบได้มากในช่องปาก ลำคอ และช่องคลอด อาจสังเกตได้จากจุดสีขาวบริเวณกระพุ้งแก้ม ลิ้น เพดานปาก ลำคอ ส่งผลทำให้รู้สึกเจ็บแสบช่องปากขณะรับประทานอาหาร สูญเสียรสชาติ มีรอยแตกแดงมุมปาก หากเกิดบริเวณช่องคลอด จะรู้สึกระคายเคือง ตกขาวเป็นน้ำหรือข้น และรู้สึกแสบร้อนช่องคลอดขณะปัสสาวะ
- น้ำกัดเท้า หรือฮ่องกงฟุต อาจเกิดจากการติดเชื้อราชนิดเดียวกับกลาก ซึ่งส่งผลกระทบกับเท้าข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ที่ทำให้รู้สึกเจ็บแสบบริเวณผิวที่ได้รับผลกระทบ มีสะเก็ดลอก แผลพุพอง ผิวเท้าแตก อาการคัน สีผิวอักเสบเปลี่ยนเป็นสีแดง ม่วง ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นภาวะน้ำกัดเท้าอาจมาจากการสวมรองเท้าหุ้มส้นบ่อย เดินเท้าเปล่าบริเวณที่มีเชื้อรา เช่น ห้องอาบน้ำรวม ซาวน่า สระว่ายน้ำ อีกทั้งผู้ที่มีเหงื่อออกเท้ามากหรือปล่อยเท้าเปียกและอับชื้นเป็นเวลานานก็อาจส่งผลให้ผิวหนังบริเวณเท้าเกิดการอักเสบได้เช่นกัน เพราะเชื้อราชนิดนี้มักเติบโตได้ดีในอุณหภูมิที่อบอุ่นและชื้น
- เชื้อราบนหนังศีรษะ เกิดจากการติดเชื้อรา Dermatophytes ที่ทำลายสุขภาพหนังศีรษะชั้นนอกและเส้นผม สามารถสังเกตได้จากสะเก็ดสีแดง เทา เป็นวงกลมหย่อม ๆ ผมขาดหลุดร่วง เจ็บหนังศีรษะ รอยสะเก็ดขยายใหญ่ ซึ่งหากเกิดการอักเสบรุนแรงอาจส่งผลให้บริเวณสะเก็ดกลายเป็นแผลเป็นและผมร่วงถาวรได้
ยาทาเชื้อรา มีอะไรบ้าง
ยาทาเชื้อรา ที่คุณหมอแนะนำ มีดังนี้
- โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) คือ ยาที่ใช้รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เช่น กลาก น้ำกัดเท้า ผื่นผ้าอ้อม ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณข้อพับ การติดเชื้อราที่เล็บ เชื้อราในช่องคลอด ปัจจุบันมีทั้งในรูปแบบครีม สเปรย์ และสารละลาย วิธีใช้ คือ นำมาทาลงบนผิวหนังเฉพาะที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 2-3 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของคุณหมอผิวหนัง
- อีโคนาโซล (Econazole) เหมาะสำหรับการรักษาโรคน้ำกัดเท้า กลาก และภาวะผิวหนังอื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อรา โดยใช้ทาบริเวณผิวที่อักเสบ 2 ครั้ง/วัน ในช่วงเช้าและเย็นต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ ถึงแม้อาการของโรคจะดีขึ้นก็ไม่ควรหยุดใช้ยาจนกว่าจะปรึกษาคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอเช็กอาการ
- ไมโคนาโซล (Miconazole) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคกลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า โดยใช้ทาบริเวณผิวหนังเท่านั้น ไม่สามารถใช้กับหนังศีรษะและเล็บได้ การใช้ยาไมโคนาโซลควรใช้ทาวันละ 2 ครั้ง ให้ครอบคลุมผิวหนังที่อักเสบ และเป็นผื่นแดง
- เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ใช้สำหรับทาผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ เช่น การติดเชื้อราที่เล็บ กลาก เกลื้อนน้ำกัดเท้า การติดเชื้อราบริเวณขาหนีบหรือสังคัง ทา 1-2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ เพื่อช่วยบรรเทาการติดเชื้อ หากใช้ทาบริเวณขาหนีบ ก้น อาจปิดทับด้วยผ้าก๊อซ เพื่อป้องกันการเสียดสี
- ไนสแตติน (Nystatin) คือ ยาฆ่าเชื้อราทในรูปแบบสารละลายใช้สำหรับกำจัดเชื้อราในช่องปาก โดยอมสารละลายนี้ประมาณ 30 วินาที ก่อนจะกลืนลงไป และไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มหลังจากใช้ยาเป็นเวลา 30 นาที เพราะอาจทำให้ลดประสิทธิภาพยาในการออกฤทธิ์กำจัดเชื้อรา
- คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) เป็นยาทาเชื้อราที่อาจช่วยป้องกันการเกิดเชื้อราซ้ำ ส่วนใหญ่มีในรูปแบบครีมและแชมพู เพื่อต้านเชื้อราบริเวณผิวหนังและหนังศีรษะ สำหรับการใช้ทาบนผิวหนังควรทาก่อนลงโลชั่นหรือครีมอื่น ๆ เป็นเวลา 30 นาที วันละ 1 ครั้ง ต่อเนื่อง 2-4 สัปดาห์ สำหรับการใช้แบบแชมพูควรใช้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 2-4 สัปดาห์ โดยใช้จนกว่าอาการจะดีขึ้น หรือจนกว่าคุณหมอจะอนุญาตให้หยุดใช้
การใช้ยาทาเชื้อราให้ปลอดภัย ควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอ เพื่อจะได้ทราบถึงวิธีการใช้ยาอย่างเหมาะสมกับสภาพผิว และควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเด็ก สตรีตั้งครรภ์ และผู้หญิงที่ให้นมบุตร หลังจากใช้ยาทุกครั้งควรล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณรอบดวงตา หรือริมฝีปาก
วิธีดูแลผิวป้องกันการเกิดเชื้อรา
การป้องกันการเกิดเชื้อรา เพื่อช่วยดูแลสุขภาพผิว อาจทำได้ดังนี้
- ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า กรรไกรตัดเล็บ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อราบนผิวหนังจากผู้ติดเชื้อที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่าได้
- รักษาสุขอนามัยด้วยการอาบน้ำทุกครั้งหลังจากออกไปนอกบ้าน หรือทำกิจกรรมที่เสียเหงื่อมาก เช่น ออกกำลังกาย เพื่อกำจัดสิ่งสกปรก ช่วยลดการสะสมของเชื้อราและแบคทีเรียที่นอกจากนี้ไม่ควรใส่เสื้อผ้าซ้ำ ๆ ควรซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนูบ่อยครั้งและตากแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้
- ควรใส่รองเท้าเมื่อเดินในบริเวณสาธารณะ เช่น บริเวณสระว่ายน้ำ หรือควรเช็ดเท้าให้แห้งเมื่อเท้าเปียก
- ตัดเล็บ ทำความสะอาดซอกเล็บสม่ำเสมอ เพื่อลดการสะสมของเชื้อราในเล็บ
- ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนาหลายชั้น โดยเฉพาะเมื่อสภาพอากาศร้อนชื้น เพราะอาจทำให้ร่างกายขับเหงื่อ และระบายเหงื่อออกได้ยาก
- รักษาความสะอาดให้สัตว์เลี้ยง และพาสัตว์เลี้ยงตรวจสุขภาพผิวหนัง เมื่อพบว่า ขนสัตว์เลี้ยงหลุดเป็นหย่อม ๆ เพราะสัตว์เลี้ยงอาจนำเชื้อรามาติดต่อผิวหนังเมื่อสัมผัส เช่น การกอด หอม
- ใช้ยาทารักษาเชื้อราตามที่คุณหมอแนะนำสม่ำเสมอจนกว่าผื่น หรือรอยต่าง ๆ จะหายไป
[embed-health-tool-heart-rate]