backup og meta

รูขุมขนกว้างเกิดจากอะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    รูขุมขนกว้างเกิดจากอะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

    หลายคนอาจมีคำถามว่า รูขุมขนกว้างเกิดจากอะไร และจะทำให้รูขุมขนเล็กลงได้อย่างไร รูขุมขนกว้างเป็นภาวะที่รูขุมขนบนใบหน้าใหญ่กว่าปกติ เนื่องเกิดจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันมากเกินไป นอกจากนี้ ยังอาจเกิดได้จากอายุที่เพิ่มมากขึ้น การสัมผัสรังสียูวีในแสงแดด รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนร่างกาย ผู้ที่มีปัญหารูขุมขุนกว้าง ควรดูแลผิวด้วยการทาครีมกันแดดเป็นประจำ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเรตินอลและไนอะซินาไมด์ เป็นต้น อาจช่วยให้รูขุมขนดูเล็กลงและผิวหน้าดูเรียบเนียนขึ้นได้

    รูขุมขนกว้าง คืออะไร

    รูขุมขนกว้าง (Enlarged pore) เป็นภาวะที่รูขุมขนมีขนาดใหญ่กว่าปกติ พบได้บ่อยในผู้ที่มีสภาพผิวมันและผิวผสม รูขุมขนเป็นช่องเปิดที่ผิวหนังซึ่งช่วยให้เส้นขนและน้ำมันออกมาสู่ผิวหนังชั้นนอกได้ ทั้งยังทำหน้าที่ระบายความร้อนและรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง นอกจากการที่มีต่อมไขมันทำงานเยอะกว่าปกติในบางคนแล้ว เมื่ออายุมากขึ้น ทำให้คอลลาเจนใต้ผิวหนังมีความหนาแน่นลดลง จึงทำให้เห็นรูขุมขนใหญ่ขึ้น

    รูขุมขนกว้างเกิดจากอะไร

    รูขุมขนกว้างบนผิวหน้ามักพบที่ผิวหนังบริเวณหน้าผาก แก้ม จมูก เหนือริมฝีปาก อาจเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้

    • การผลิตน้ำมัน เมื่อต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันมากผิดปกติ จะทำให้มีน้ำมันเคลือบผิวในปริมาณมาก ส่งผลให้รูขุมขนขยายตัวเพื่อรองรับน้ำมันบนผิวที่มากขึ้น และทำให้รูขุมขนกว้างและดูเด่นชัดกว่าปกติ
    • เพศ เพศชายมักมีต่อมไขมันจำนวนมากกว่าและมีสภาพผิวมันกว่าเพศหญิง ทำให้มองเห็นรูขุมขนกว้างได้ชัดเจนกว่า
    • อายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น คอลลาเจนและอีลาสตินซึ่งเป็นโปรตีนในชั้นผิวที่ช่วยเสริมโครงสร้างรูขุมขนให้ดูกระชับจะลดจำนวนลง ส่งผลให้รูขุมขนดูกว้างขึ้น
    • แสงแดด แสงแดดมีรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวี (UV) ที่ทำลายคอลลาเจนและอีลาสตินในชั้นผิว เมื่อถูกแสงแดดเป็นประจำ จะทำให้ผิวหนังเสียหายและสูญเสียความกระชับและความยืดหยุ่น ส่งผลให้รูขุมขนขยายใหญ่ขึ้น
    • ฮอร์โมนในร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่นอาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันใต้ผิวหนังขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้มองเห็นรูขุมขนได้ชัดเจนทั้งในผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนี้ ผู้หญิงในช่วงเป็นประจำเดือนยังอาจมีรูขุมขนกว้างขึ้น และมีสิวเห่อด้วย

    รูขุมขนกว้าง รักษายังไง

    เมื่อรูขุมขนกว้างกว่าปกติอาจทำให้เซลล์ผิวที่ตายแล้ว น้ำมันส่วนเกิน และสิ่งสกปรกต่าง ๆ สะสมอยู่ในรูขุมขน จนทำให้เสี่ยงเกิดปัญหารูขุมขนอุดตันและอาจทำให้เป็นสิวได้ง่าย ทั้งนี้ การดูแลผิวด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยรูขุมขนดูกระชับและแลดูเล็กลงได้

    • การใช้เรตินอยด์ชนิดทา (Topical retinoids) เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) เตรทติโนอิน (Tretinoin) ทาซาโรทีน (Tazarotene) เพื่อกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนและการผลัดเซลล์ผิวใหม่ ทำให้ผิวหนังหนาและรูขุมขนดูตื้นขึ้น ป้องกันการอุดตันของรูขุมขนที่ทำให้เสี่ยงเกิดสิว ทั้งยังช่วยลบเลือนริ้วรอย
    • การใช้ไนอะซินาไมด์ชนิดทา (Topical Nicotinamide) ซึ่งเป็นวิตามินบี 3 รูปแบบหนึ่ง มีประโยชน์ในการบำรุงและรักษาสมดุลของผิว ช่วยให้รูขุมขนดูกระชับและผิวหน้าดูเรียบเนียนขึ้น และป้องกันการสูญเสียความชุ่มชื้นของผิว
    • การผลัดเซลล์ผิว (Chemical peeling) เป็นการทาหน้าด้วยสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น กรดไกลโคลิก (Glycolic acid) กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids) ที่ผิวหนังในบริเวณที่ต้องการเพื่อขจัดชั้นผิวกำพร้าที่เสียหายและกระตุ้นการสร้างซลล์ผิวใหม ทำให้รูขุมขนดูตื้นขึ้นและสังเกตเห็นได้น้อยลง
    • การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser treatment) เช่น อาร์เอฟ ไมโครนีดเดิล (RF Microneedle) แฟรคชันนัลเลเซอร์ (Fractional laser) ที่ช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวเก่าและการผลิตเซลล์ผิวใหม่ อาจช่วยทำให้รูขุมขนแลดูกระชับลง
    • การสวมหมวกและทาครีมกันแดดทุกวัน เมื่อต้องออกไปข้างนอกในตอนกลางวัน ควรเลือกครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไป และทาครีมกันแดดก่อนออกแดดประมาณ 10-15 นาทีเพื่อให้เนื้อครีมซึมเข้าสู่ผิวและป้องกันรังสียูวีได้เต็มประสิทธิภาพ ลดการที่คอลลาเจนโดนทำลายจากแสงแดด
    • การใช้เครื่องสำอางที่เป็นวอเตอร์เบส (Water base) เนื่องจากมีเนื้อสัมผัสบางเบาไม่หนักหน้า แทนการใช้ออยเบส (Oil base) เพราะเครื่องสำอางแบบออยเบสอาจอุดตันรูขุมขนได้ง่ายและอาจทำให้รูขุมขนกว้างขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา