ร่องแก้มลึก เป็นรอยพับของผิวหนังบริเวณด้านข้างจมูกทั้ง 2 ข้าง ไปจนถึงมุมปาก เมื่ออายุยังน้อยร่องแก้มจะปรากฏขึ้นเมื่อยิ้มหรือหัวเราะเท่านั้น แต่เมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมสภาพของผิวหนังตามอายุอาจทำให้เกิดริ้วรอยเพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้สามารถมองเห็นร่องแก้มลึกได้ตลอดเวลาแม้ไม่ได้ยิ้มหรือหัวเราะ การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพผิวตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงอาจช่วยชะลอการเกิดร่องแก้มลึกได้
ร่องแก้มลึก เกิดจากอะไร
ร่องแก้มลึก สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อสภาพผิวเสื่อมลงตามอายุ โดยอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่ แสงแดด ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจส่งผลกระทบให้คอลลาเจนและอีลาสติน (Elastin) ซึ่งเป็นโครงสร้างของชั้นผิวหนัง ช่วยให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น แข็งแรงและสุขภาพดี เสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดเป็นริ้วรอยและร่องแก้มลึกก่อนวัย นอกจากนี้ การลดหรือเพิ่มน้ำหนักอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ผิวหย่อนคล้อยได้เช่นกัน เนื่องจากผิวหนังมีการยืดขยายอย่างรวดเร็วจนโครงสร้างผิวไม่สามารถปรับสภาพได้ทันจนเกิดเป็นรอยพับตามผิวหนัง
วิธีรักษาร่องแก้มลึก
การรักษาร่องแก้มลึกอาจทำได้ด้วยวิธีทางการแพทย์ ดังนี้
- ฉีดโบท็อกซ์ อาจช่วยคลายกล้ามเนื้อและช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นริ้วรอยดูบางลง จึงอาจช่วยลดริ้วรอยบนใบหน้า แต่อาจจะช่วยลดเลือนรอยร่องแก้มลึกได้เพียงเล็กน้อย หากฉีดยกกระชับร่วมด้วย
- ฉีดฟิลเลอร์ เป็นการฉีดสารเติมเต็มผิว เช่น กรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic Acid) กรดพอลิแลกติก (Polylactic Acid) แคลเซียมไฮดรอกซีอะพาไทด์ (Calcium Hydroxyapatite) และพอลิเมทิล-เมทาคริเลตไมโครสเฟียร์ (Polymethyl-Methacrylate Microspheres หรือ PMMA) ซึ่งอาจช่วยให้บริเวณที่เป็นริ้วรอยร่องแก้มลึก ดูตื้นและอวบอิ่มขึ้น
- เรตินอยด์ เป็นสารอนุพันธ์วิตามินเอซึ่งช่วยส่งเสริมการผลิตคอลลาเจน และอาจช่วยให้ร่องแก้มลึกดูตื้นขึ้น
- รักษาด้วยเลเซอร์ อัลตราซาวด์ หรือคลื่นวิทยุ อาจช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน ทำให้ผิวที่หย่อนคล้อยแลดูกระชับขึ้น
- ผ่าตัดศัลยกรรม เป็นวิธีการรักษาที่สามารถช่วยยกกระชับ ปรับตำแหน่งใบหน้า ปรับรูปร่างผิว และเนื้อเยื่อให้กระชับ จึงอาจช่วยยกแก้มหรือดึงผิวหน้าให้ตึงขึ้นและช่วยลดเลือนร่องแก้มลึกได้
วิธีดูแลตัวเองเพื่อชะลอการเกิดร่องแก้มลึก
การดูแลรักษาสุขภาพผิวตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยป้องกันปัญหาร่องแก้มลึกได้ ดังนี้
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่ยังคงให้ความชุ่มชื้นกับผิว ไม่ทำให้ผิวแห้ง หรือรู้สึกผิวตึงหลังจากล้างหน้า
- ให้ความชุ่มชื้นกับผิวเป็นประจำทุกวัน และเลือกใช้ครีมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อช่วยให้ผิวอิ่มน้ำ ชุ่มชื้นและยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของผิวตามอายุได้
- ทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไปเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อต้องออกนอกบ้านในเวลาที่มีแสงแดดจัด และควรทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้อง นอกจากนี้ ควรใส่หมวกปีกกว้างหรือใช้ร่มกันยูวี เพื่อปกป้องผิวจากการทำร้ายเพิ่มเติมด้วย
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเน้นรับประทานผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่หลากหลาย เช่น ส้ม สับปะรด มะพร้าว มะละกอ แอปเปิ้ล อะโวคาโด ผักโขม มะเขือเทศ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เนื่องจากควันบุหรี่และสารเคมีในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลเสียต่อคอลลาเจนในชั้นผิวหนัง รวมถึงอาจเร่งความเสื่อมสภาพของคอลลาเจนทำให้ผิวหนังสูญเสียความยืดหยุ่นและก่อให้เกิดริ้วรอยก่อนวัยได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับวันละ 7-8 ชั่วโมง/วัน เนื่องจากในช่วงที่นอนหลับสนิทร่างกายจะเริ่มกระบวนการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ จึงอาจช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของผิวหนังได้
[embed-health-tool-heart-rate]