backup og meta

ร้อยไหม คืออะไร ปลอดภัยหรือไม่ ข้อดีข้อเสียที่ควรรู้

ร้อยไหม คืออะไร ปลอดภัยหรือไม่ ข้อดีข้อเสียที่ควรรู้

ร้อยไหม เป็นหนึ่งในวิธีการศัลยกรรมกระชับผิวบริเวณใบหน้าและลำคอโดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยการร้อยเส้นไหมละลายเข้าไปใต้ผิวหนัง จากนั้นไหมจะถูกดึงด้วยการขันให้แน่น เพื่อช่วยให้ผิวยกกระชับ เต่งตึง ลดเลือนริ้วรอยแห่งวัย ทำให้ใบหน้าแลดูอ่อนเยาว์ลง อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจร้อยไหม ก็ควรศึกษาถึงผลข้างเคียง ความเสี่ยงและวิธีดูแลตัวเอง

ร้อยไหม คืออะไร

ร้อยไหม คือ การยกกระชับใบหน้าและลำคอ ลดเลือนริ้วรอย ช่วยปรับปรุงสภาพผิวให้แลดูอ่อนเยาว์ ด้วยการใช้ไหมละลายชนิดพิเศษร้อยเข้าไปบริเวณใต้ผิวหนังที่ต้องการยกกระชับโดยไม่ต้องผ่าตัด จากนั้นขันไหมให้แน่น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกระบวนการสร้างเส้นเลือดและเส้นใยคอลลาเจนใหม่ที่เข้ามาพันรอบเส้นไหมทำให้เกิดแรงตึงผิว อาจทำให้ผิวหน้ากระชับ อ่อนนุ่ม กระจ่างใส และเต่งตึงมากขึ้น ทั้งยังอาจช่วยปรับรูปหน้าให้ดูเรียวได้ด้วย โดยหลังจากร้อยไหมเรียบร้อยแล้วร่างกายอาจกำจัดไหมให้หมดไปภายในระยะเวลา 6 เดือน แต่ประสิทธิภาพของการร้อยไหมอาจคงสภาพได้ประมาณ 1-2 ปี

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการร้อยไหม

สำหรับข้อควรรู้เกี่ยวกับการร้อยไหมและชนิดของเส้นไหมอาจมี ดังนี้

ร้อยไหมสามารถทำได้ทั้งบริเวณใบหน้า ลำคอ หน้าผาก คาง ใต้ตา โดยคุณหมอจะใส่เส้นไหมละลายเข้าไปใต้ผิวหนังทำให้ผิวดูกระชับขึ้น ขั้นตอนนี้จะทำให้ผิวเกิดการบาดเจ็บและอักเสบซึ่งกระตุ้นการรักษาตามธรรมชาติของร่างกาย เมื่อผิวบาดเจ็บร่างกายจะสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่และอาจมีปริมาณมากขึ้นในบริเวณที่มีเส้นไหม ส่งผลให้ผิวดูเต่งตึงและกระชับมากขึ้น

โดยวัสดุเส้นไหมที่นิยมใช้ทำมาจากโพลีไดออกซาโนน (Polydioxanone หรือ PDO) เป็นเส้นไหมที่ทำให้มีโอกาสแพ้น้อยมาก ซึ่งอาจมีหลายชนิด เช่น

  • เส้นไหมเกลียว (Screw threads) มีลักษณะเป็นไหมเส้นเดียวหรือสองเส้นพันเข้าด้วยกันเป็นเกลียว ช่วยให้ผิวที่ยุบตัวลงตื้นขึ้น มักนิยมใช้สำหรับการยกกระชับผิวที่หย่อนยานเป็นริ้วรอยลึก
  • เส้นไหมเรียบ (Mono threads) มีลักษณะเรียบตลอดเส้น ซึ่งช่วยกระชับผิวหนังให้เต่งตึง โดยบริเวณที่มักใช้ไหมชนิดนี้ ได้แก่ คอ หน้าผาก ใต้ตา
  • เส้นไหมที่มีเงี่ยง (Cog threads) มีลักษณะเป็นเส้นไหมเส้นเดียวและมีเงี่ยงตลอดทั้งเส้น ช่วยในการยึดเกาะผิวชั้นใน ช่วยยกกระชับผิวหนังที่หย่อนยาน โดยคอลลาเจนจะถูกกระตุ้นให้สร้างขึ้นใหม่บริเวณเส้นไหมและเงี่ยง อาจนิยมใช้ยกกระชับผิวบริเวณคางและการปรับรูปหน้าให้เรียวขึ้น

ขั้นตอนการทำร้อยไหมที่ควรรู้มีดังนี้

  • คุณหมออาจให้ยาชาเฉพาะที่หรือยานอนหลับก่อนทำร้อยไหม
  • คุณหมอจะใช้เข็มขนาดเล็กหรือท่อเส้นเล็ก (Cannula) ที่มีลักษณะกลวงสอดเข้าไปใต้ผิวหนังเพื่อทำการร้อยไหม ขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที
  • เมื่อร้อยไหมเสร็จเรียบร้อยคุณหมอจะทำการปิดแผล ซึ่งอาจทำให้มีอาการตึงเล็กน้อยบนผิวหนัง
  • เมื่อขั้นตอนทั้งหมดเสร็จสิ้นคุณหมอจะดึงเข็มหรือท่อขนาดเล็กออก และคนไข้สามารถกลับบ้านได้ทันทีโดยไม่ต้องพักฟื้น

สำหรับปริมาณเส้นไหมที่ใช้ร้อยเข้าไปในผิวนั้นอาจขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ รวมถึงบริเวณที่ต้องการร้อยไหมด้วย

ร้อยไหมอยู่ได้นานแค่ไหน

หลังทำร้อยไหมอาจต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ถึงจะเห็นผลเต็มที่และเส้นใยไหมใต้ผิวหนังจะค่อย ๆ ละลายหายไปเองซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จากนั้นผิวจะค่อย ๆ สร้างคอลลาเจนใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อปรับปรุงสภาพผิวให้กระชับและเต่งตึงตามธรรมชาติ ซึ่งระยะเวลาเห็นผลต่อเนื่องของการร้อยไหม คือ ประมาณ 1-2 ปี หรืออาจนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับการสร้างคอลลาเจนในผิวของแต่ละคนด้วย

ผลข้างเคียงและความเสี่ยงของการร้อยไหม

หลังทำร้อยไหมอาจเกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น

  • การระคายเคือง อาจมีรอยแดงบนผิวหนัง รอยช้ำตามแนวร้อยไหม เจ็บเล็กน้อยและบวม ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังร้อยไหม ประมาณ 1-2 สัปดาห์ จากนั้นอาการจะหายไปเอง
  • ความไม่เป็นธรรมชาติของใบหน้า หลังทำร้อยไหมอาจทำให้ใบหน้าดูแข็งไม่เป็นธรรมชาติ อาจทำให้การเคลื่อนไหวใบหน้ายากขึ้น เช่น การยิ้ม การพูด
  • เนื้อสัมผัสของผิวหนังเปลี่ยนไป บางคนอาจมีตุ่มหรือรอยบุ๋มเกิดขึ้นบริเวณที่ร้อยไหม แต่อาการนี้จะหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป

ข้อควรระวังหลังจากทำร้อยไหมที่ควรรู้ มีดังนี้

  • ไม่ควรทำเลเซอร์หรือทำหัตถการอื่น ๆ บนใบหน้าหลังจากทำร้อยไหมประมาณ 2 สัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงการนวดหน้าแรง ๆ ในบริเวณที่ร้อยไหมประมาณ  2 เดือน เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือไหมใต้ผิวหนังเสียหาย
  • อาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้วัสดุที่ใช้ร้อยไหม
  • อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากการร้อยไหมเป็นการนำอุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจมีโอกาสติดเชื้อได้ หากเครื่องมือไม่สะอาดหรือไม่ได้มาตรฐาน

ดังนั้น ควรพูดคุยกับคุณหมอถึงประสิทธิภาพและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนร้อยไหม

วิธีดูแลตัวเองหลังร้อยไหม

วิธีดูแลตัวใบหน้าหลังทำร้อยไหมอาจทำได้ ดังนี้

  • หลังจากร้อยไหมควรประคบเย็นในช่วง 3 วันแรก เพื่อลดอาการบวมและช้ำ และหากมีอาการปวดให้กินยาพาราเซตตามอลเพื่อบรรเทาอาการ
  • ควรงดแต่งหน้า
  • วันแรกหลังร้อยไหมควรล้างหน้าด้วยน้ำเปล่าเพียงอย่างเดียวและกินยาตามคุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • การล้างหน้า เช็ดหน้า ทาครีมสามารถทำได้ตามปกติหลังจากผ่านไป 1 วัน แต่ควรทำอย่างเบามือ
  • หลังทำร้อยไหมควรนอนหมอนสูง นอนเงยหน้าตรง ไม่นอนตะแคงหรือนอนคว่ำประมาณ 3 คืน
  • ระมัดระวังการเคลื่อนไหว การกระทบหรือกระแทกบริเวณที่ร้อยไหมอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  • งดลงสระว่ายน้ำอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และงดการออกกำลังกายอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้เหงื่อออก ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสของการติดเชื้อและอาจกระทบต่อไหมใต้ผิวหนัง
  • งดการอาบแดด อบไอน้ำ หรือการโดนความร้อนบริเวณร้อยไหมประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้ไหมละลายเร็วขึ้น
  • งดการนวดใบหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน เพื่อป้องกันแรงกดที่กระทบกับการร้อยไหม

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ร้อยไหมกระชับผิวหน้า .. ข้อควรระวัง. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/383/. Accessed March 15, 2022

Different PDO Threads in Thread Lifting. http://cbbmed.com/newsview.php?title=Different_PDO_Threads_in_Thread_Lifting&id=19. Accessed March 15, 2022

Threadlift. http://www.cosmeticsurgerytoday.com/threadlift/. Accessed March 15, 2022

What to Know About a Thread Lift. https://www.webmd.com/beauty/what-to-know-thread-lift. Accessed March 15, 2022

Thread Lift Minimally Invasive Procedure. https://www.plasticsurgery.org/cosmetic-procedures/thread-lift. Accessed March 15, 2022

What you need to know about thread lifts. https://www.plasticsurgery.org/news/blog/what-you-need-to-know-about-thread-lifts. Accessed March 15, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/04/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

รังสีอัลตราไวโอเลต ส่งผลต่อสุขภาพผิวอย่างไร

ผิวแข็งแรง เป็นอย่างไร และ 5 เคล็ดลับในการดูแลผิว


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา