backup og meta

สครับมะขาม ขัดผิวใสด้วยสูตรจากธรรมชาติ

สครับมะขาม ขัดผิวใสด้วยสูตรจากธรรมชาติ

สครับมะขาม เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกายที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย เนื่องจากมะขามมีกรดผลไม้ที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน อาจช่วยปรับสภาพผิวให้ดูกระจ่างใสและดูสุขภาพดีได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรขัดผิวด้วยสครับมะขามหรือสครับอื่น ๆ บ่อยเกินไป เนื่องจากการผลัดเซลล์ผิวบ่อย ๆ อาจทำให้ผิวบอบบาง ระคายเคือง และอาจเกิดการอักเสบได้ และหลังสครับผิวควรบำรุงผิวด้วยมอยส์เจอร์ไรเซอร์เพื่อไม่ให้ผิวขาดความชุ่มชื้น และควรทาครีมกันแดดทุกวัน เพื่อป้องกันผิวเสียหายจากรังสียูวี

[embed-health-tool-ovulation]

สครับมะขาม มีประโยชน์ต่อผิวอย่างไร

เนื้อมะขามอุดมไปด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินซี และกรดอัลฟาไฮดรอกซีหรือเอเอชเอ (Alpha Hydroxy Acids หรือ AHA) ซึ่งเป็นกรดผลไม้ที่มีส่วนช่วยขจัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวและการผลัดเซลล์ผิวใหม่ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด และช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกที่อาจอุดตันรูขุมขนและสะสมอยู่ที่ผิวหนัง การสครับผิวด้วยมะขามอย่างถูกวิธีและไม่บ่อยจนเกินไปจึงอาจช่วยให้ผิวที่หมองคล้ำดูกระจ่างและดูสุขภาพดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังสามารถผสมมะขามกับส่วนผสมอื่น ๆ  เช่น น้ำผึ้ง โยเกิร์ต เพื่อเพิ่มส่วนผสมที่เป็นประโยชน์ต่อการบำรุงผิวหน้าและผิวกาย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Naresuan University Journal เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2546 ศึกษาเกี่ยวกับอิมัลชันชนิดน้ำมันในน้ำ (Oil-in-water emulsion) ที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากเนื้อมะขาม พบว่า ในเนื้อมะขามมีกรดอัลฟาไฮดรอกซี (AHAs) ซึ่งเป็นกรดผลไม้จากธรรมชาติที่นิยมนำมาใช้บำรุงผิวตั้งแต่อดีต กรดชนิดนี้มีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วด้วยการทำให้พันธะที่ยึดเซลล์ผิวที่ตายแล้วอ่อนแอลง ส่งผลให้ผิวดูกระจ่างใสขึ้น

ทั้งนี้ การสครับผิวอาจทำให้ผิวระคายเคืองได้ จึงควรสครับผิวอย่างเบามือร่วมกับการบำรุงผิวด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ ทาโลชั่นหรือน้ำมันบำรุงผิวสูตรอ่อนโยนต่อผิว และไม่ควรขัดผิวทุกวันหรือบ่อยกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ เนื่องจากอาจทำให้ผิวบางหรืออาจอักเสบได้

วิธีทำสครับมะขามด้วยตัวเอง

วิธีทำสครับมะขามเองด้วยวัตถุดิบที่หาได้ทั่วไป อาจทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

สครับมะขามสูตรที่ 1

ส่วนผสม

  • เนื้อมะขามเปียก 1 ช้อนโต๊ะ
  • เกลือทะเลป่นละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
  • นมเปรี้ยว หรือครีมนม 1 ช้อนโต๊ะ
  • ชามแก้ว 1 ใบ

วิธีทำ

  • ผสมเนื้อมะขามเปียกและเกลือทะเลป่นละเอียดเข้าด้วยกันในชามแก้ว
  • เพิ่มนมเปรี้ยวหรือครีมนม 1 ช้อนโต๊ะ แล้วคนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน สำหรับผู้ที่มีผิวมันควรเลือกใช้นมเปรี้ยว ส่วนผู้มีผิวแห้งควรเลือกใช้ครีมนม
  • นำสครับมะขามที่ได้มาขัดผิวหน้า โดยใช้ปลายนิ้วนวดวนทั่วใบหน้าอย่างเบามือ ทิ้งไว้ประมาณ 2 นาทีแล้วล้างออก

สครับมะขามสูตรที่ 2

ส่วนผสม

  • เนื้อมะขามเปียก 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
  • เบคกิ้งโซดา 2 ช้อนโต๊ะ
  • ชามแก้ว 1 ใบ

วิธีทำ

  • ผสมส่วนผสมทั้งหมดในชามแก้ว กวนให้เป็นเนื้อเดียวกัน
  • ใช้สครับขัดผิวหน้า ลำคอ และผิวกายขณะอาบน้ำ ทิ้งไว้ประมาณ 2 นาทีสำหรับผิวหน้าและลำคอ และไม่เกิน 10 นาทีสำหรับผิวกาย แล้วล้างออก

สครับมะขามสูตรที่ 3

ส่วนผสม

  • เนื้อมะขามเปียก 2 ช้อนโต๊ะ
  • โยเกิร์ต 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำกุหลาบ 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ
  • โจโจ้บาออยล์ 1 ช้อนโต๊ะ
  • ชามแก้ว 1 ใบ

วิธีทำ

  • ผสมมะขามเปียกและโยเกิร์ตในชามแก้ว
  • เติมน้ำกุหลาบและน้ำผึ้งลงไป แล้วคนให้เข้ากัน
  • เติมโจโจ้บาออยล์ แล้วผสมทุกอย่างให้เป็นเนื้อเดียวกัน
  • นำสครับขัดผิวมาถูวนเบา ๆ ทั่วใบหน้าและลำคอประมาณ 2 นาที แล้วล้างออก

ข้อควรระวังในการใช้ สครับมะขาม

ข้อควรระวังในการใช้สครับมะขาม อาจมีดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้สครับมะขามกับผิวที่เพิ่งแว็กซ์หรือโกนขนมา หรือผิวที่อักเสบหรือระคายเคือง เนื่องจากกรดในมะขามอาจทำให้ผิวยิ่งระคายเคือง
  • กรดอัลฟาไฮดรอกซีในมะขามมีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิว ซึ่งอาจระคายผิวเมื่อใช้เป็นประจำทุกวัน จึงควรขัดผิวด้วยสครับมะขามหรือสครับอื่น ๆ ที่มีกรดอัลฟาไฮดรอกซีไม่เกิน 2 ครั้ง/สัปดาห์
  • การสครับผิวอาจทำให้ผิวเป็นผื่น มีรอยแดง ระคายเคือง เกิดรอยช้ำหรือแผลถลอก โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวบอบบางและแพ้ง่าย จึงไม่ควรสครับผิวแรงและนานเกินไป สำหรับผิวหน้า ลำคอ และผิวส่วนอื่น ๆ ที่บอบบาง ไม่ควรสครับและทิ้งไว้เกิน 5 นาที ส่วนผิวกายส่วนอื่น ๆ อาจสครับทิ้งไว้ไม่เกิน 10 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
  • สครับมะขามไม่เหมาะกับผู้ที่มีผิวแห้ง เนื่องจากกรดอัลฟาไฮดรอกซีอาจทำให้ผิวเกิดรอยแดง หรือระคายเคืองได้ง่ายกว่าผิวประเภทอื่น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

HOW TO SAFELY EXFOLIATE AT HOME. https://www.aad.org/public/everyday-care/skin-care-secrets/routine/safely-exfoliate-at-home. Accessed July 27, 2022

Tamarind – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-819/tamarind. Accessed July 27, 2022

Bioactive compounds, antibacterial and antioxidant activities of methanol extract of Tamarindus indica Linn. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC9178027/. Accessed July 27, 2022

Natural products as aids for protecting the skin’s immune system against UV damage. https://www.scopus.com/record/display.uri?eid=2-s2.0-10044299322&origin=inward&txGid=25678768fbba213b355966ad5955978f&featureToggles=FEATURE_NEW_DOC_DETAILS_EXPORT:1. Accessed July 27, 2022

Development of Oil-in-Water Emulsion Containing Tamarind Fruit Pulp Extract I. Physical Characteristics and Stability of Emulsion. https://www.journal.nu.ac.th/NUJST/article/view/248.  Accessed July 27, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

การผลัดเซลล์ผิว คืออะไร ควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนผลัดเซลล์ผิว

ขัดผิว ประโยชน์และการดูแลผิวให้สุขภาพดี


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/08/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา