backup og meta

หน้าไม่เรียบเนียน สาเหตุ การรักษาและวิธีดูแลผิว

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

    หน้าไม่เรียบเนียน สาเหตุ การรักษาและวิธีดูแลผิว

    หน้าไม่เรียบเนียน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สิว รอยแผลเป็น ที่ส่งผลให้ผิวหน้าขรุขระ ไม่เรียบเนียน อีกทั้งยังอาจทำให้แต่งหน้าไม่ติดทน และลดความมั่นใจในตัวเองดังนั้น จึงควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม อีกทั้งควรปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลผิวหน้าให้ถูกวิธีเพื่อช่วยฟื้นฟูให้ผิวกลับมาสุขภาพดีและเรียบเนียนดังเดิม

    สาเหตุที่ทำให้หน้าไม่เรียบเนียน

    สาเหตุที่ทำให้หน้าไม่เรียบเนียน มีดังนี้

    • สิว เป็นปัญหาผิวหนังที่เกิดจากน้ำมัน เซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วและสิ่งสกปรกอุดตันในรูขุมขน จนก่อให้เกิดเป็นตุ่มนูนแดง บวมอักเสบและอาจมีหนอง เมื่อสัมผัสจะรู้สึกได้ว่าผิวหน้าไม่เรียบเนียน อีกทั้งยังเสี่ยงก่อให้เกิดรอยแผลเป็น รอยดำ รอยแดง รวมไปถึงปัญหาผิวหมองคล้ำและจุดด่างดำได้
    • หลุมสิว คือรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิวในระดับรุนแรง เช่น สิวหนอง สิวอักเสบ สิวซีสต์ รวมถึงพฤติกรรมการบีบสิวและแกะสิว ที่ทำลายชั้นผิวหนัง ส่งผลผิวหน้าไม่เรียบเนียน โดยหลุมสิวอาจมีลักษณะแตกต่างกันออกไป เช่น หลุมสิวลึก หลุมสิวตื้น
    • รอยแผลเป็น เกิดจากกระบวนการสมานแผลที่สร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาแทนที่เนื้อเยื่อเก่าที่เสียหายเนื่องจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัด ซึ่งมีทั้งลักษณะบุ๋มลงไปหรือแผลเป็นนูน ที่ส่งผลให้ผิวหน้าไม่เรียบเนียน
    • ไฝ เกิดจากความผิดปกติของเมลาโนไซต์ (Melanocytes) ที่ผลิตเม็ดสีเมลานินมากเกินไป ทำให้เกิดจุดสีน้ำตาลเข้ม สีดำ อาจมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนไปถึงขนาดใหญ่ หรืออาจเป็นไฝนูนที่มีขนตรงกลาง ปรากฏบนผิวส่วนต่าง ๆ เช่น หน้าอก หลัง แขน รวมถึงใบหน้า และทำให้ผิวหน้าไม่เรียบเนียน

    การรักษาปัญหาผิวหน้าไม่เรียบเนียน

    วิธีการรักษาปัญหาผิวหน้าไม่เรียบเนียน มีดังนี้

    ยาทาเฉพาะที่

    เหมาะสำหรับผู้ที่มีหน้าไม่เรียบเนียนเนื่องจากสิว โดยคุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาดังต่อไปนี้

    • ยากลุ่มเรตินอยด์ (Retinoid) เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) เตรทติโนอิน (Tretinoin) ทาซาโรทีน (Tazarotene) เพื่อช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน โดยในช่วงแรกควรทาบริเวณที่ได้รับผลกระทบ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง จนกว่าผิวจะชินกับยา แล้วจึงปรับเป็นทาทุกวัน ตามช่วงเวลาที่คุณหมอแนะนำ อย่างไรก็ตาม ยาเรตินอยด์อาจทำให้ผิวไวต่อแสง และส่งผลให้ผิวหมองคล้ำง่าย จึงควรทาก่อนนอน
    • ยาปฏิชีวนะ เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดสิวและลดการอักเสบ คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ร่วมกับยาในกลุ่มเรตินอยด์ เพื่อป้องกันการดื้อยาและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาสิว โดยควรทายาปฏิชีวนะในช่วงเช้าและทายากลุ่มเรตินอยด์ก่อนนอน
    • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ใช้เพื่อช่วยป้องกันการอุดตันในรูขุมขนและต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดความเสี่ยงการเกิดสิว ผลข้างเคียงคืออาจทำให้ผิวระคายเคือง รอยแดงและสีผิวเปลี่ยนเล็กน้อย
    • แดพโซน (Dapsone) ใช้เพื่อช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบของสิว โดยควรทาวันละ 2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด ผลข้างเคียงคืออาจส่งผลให้ผิวแห้งกร้านและผิวแดง

    นอกจากนี้ ยังมียารักษาสิวในรูปแบบรับประทาน เช่น ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาคุมกำเนิดและยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนเพื่อปรับฮอร์โมนเพศให้สมดุล ลดการผลิตน้ำมัน และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดสิว

    เทคนิคทางการแพทย์

    เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวหน้าไม่เรียบเนียนเนื่องจากหลุมสิว รอยแผลเป็น ไฝ และสิว โดยอาจใช้วิธีดังต่อไปนี้

    • การกดสิว เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวอุดตัน สิวหัวดำ สิวหัวขาว และสิวซีสต์ เพื่อระบายหนองออกจากสิว ช่วยลดอาการอักเสบและช่วยให้สิวหายเร็วขึ้น ลดความเสี่ยงการเกิดรอยแผลเป็นจากสิวที่อาจทำให้ผิวหน้าไม่เรียบเนียน โดยควรเข้ารับการกดสิวจากคุณหมอ ไม่ควรกดเองเพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ การอักเสบและรอยแผลเป็นขนาดใหญ่
    • การฉีดสเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดจากสิว ช่วยให้แผลเป็นให้นิ่มลง และช่วยป้องกันไม่ให้แผลเป็นมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่อาจจำเป็นต้องเข้ารับการฉีดหลายครั้ง ผลข้างเคียงคืออาจทำให้ผิวบางและสีผิวบริเวณที่ได้รับการรักษาเปลี่ยนแปลง
    • การกรอผิว เหมาะสำหรับผู้ที่ผิวหน้าไม่เรียบเนียนเนื่องจากหลุมสิว โดยคุณหมออาจใช้อุปกรณ์ที่มีหนามแหลมกลิ้งบริเวณผิวหน้าเพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้ผิวหน้าดูเรียบเนียนขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้งตามที่คุณหมอกำหนด
    • การฉีดฟิลเลอร์ เพื่อช่วยเติมเต็มให้ผิวดูกระชับและช่วยให้หลุมสิวดูตื้นขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวหน้าไม่เรียบเนียนเนื่องจากหลุมสิว โดยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาซ้ำเมื่อฟิลเลอร์สลายตัว ก่อนรักษาด้วยวิธีนี้ควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอ
    • การเลเซอร์ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นหลุมสิว รอยแผลเป็น และไฝ เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าออก กระตุ้นสร้างคอลลาเจน ช่วยให้หลุมสิวตื้นขึ้น ช่วยลดความนูนของรอยแผลเป็นและไฝ อีกทั้งยังอาจช่วยให้สีของไฝดูจางลง ทำให้ผิวหน้าเรียบเนียนขึ้น
    • การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่มีไฝขนาดใหญ่ รอยแผลเป็นนูนขนาดใหญ่หรือมีหลุมสิวลึก อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดอาจทิ้งรอยแผลเป็น ดังนั้นจึงควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วม เช่น ยาลดรอยแผลเป็น การเลเซอร์

    วิธีดูแลผิวหน้าเพื่อป้องกันผิวหน้าไม่เรียบเนียน

    วิธีดูแลผิวหน้าเพื่อป้องกันผิวหน้าไม่เรียบเนียน อาจทำได้ดังนี้

  • ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยผลิตภัณฑ์ล้างหน้าสูตรอ่อนโยน เพื่อกำจัดน้ำมันส่วนเกิน เซลล์ผิวเก่าและสิ่งสกปรก ป้องกันรูขุมขนอุดตันที่อาจนำไปสู่การเกิดสิวและทำให้ผิวหน้าไม่เรียบเนียน
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำมันและน้ำหอม และควรเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าที่ระบุว่า Non-Comedogenic ซึ่งไม่มีสารที่ส่งผลให้รูขุมขนอุดตัน เพื่อป้องกันการระคายเคืองผิวและรูขุมขนอุดตันที่อาจนำไปสู่การเกิดสิว
  • ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป และควรสวมหมวกปีกกว้างและแว่นตากันแดด เพื่อช่วยป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตที่อาจทำร้ายผิวหน้า
  • ใช้กระดาษซับมันซับหน้าระหว่างวัน เพื่อลดความมันบนใบหน้าป้องกันการเกิดสิว
  • หลีกเลี่ยงการขัดผิวหน้าอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้เกิดแผลบนผิวหน้าได้
  • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า และควรล้างหน้าให้สะอาดก่อนเข้านอน ไม่ควรทิ้งไว้ข้ามคืน เพื่อป้องกันการอุดตันในรูขุมขนที่อาจก่อให้เกิดสิว
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า เพราะอาจทำให้สิ่งสกปรกและแบคทีเรียเข้าไปอุดตันในรูขุมขน อีกทั้งไม่ควรบีบสิวหรือแกะสิวเองเพราะอาจส่งผลให้ติดเชื้อ สิวอักเสบ เป็นหลุมสิวและรอยแผลเป็นนูนได้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและอาหารเผ็ด เพราะอาจกระตุ้นการผลิตน้ำมันและเหงื่อ ส่งผลให้รูขุมขนอุดตัน ควรเน้นการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี ที่อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเอ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ ทำให้ผิวแข็งแรงขึ้น
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา