IPL ย่อมาจาก Intense Pulsed Light คือการฉายลำแสงความเข้มข้นสูง เพื่อช่วยดูแลผิวหน้าและผิวกาย เช่น การกำจัดขน ลดรอยดำรอยแดงจากสิว รักษาแผลเป็นนูน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า IPL จะมีประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพผิว แต่ก็อาจส่งผลข้างเคียงบางประการที่ทำร้ายผิวได้เช่นกัน เช่น ผิวแดง แสบร้อนผิว ดังนั้น จึงควรศึกษาข้อดีและข้อเสียของการทำ IPL รวมถึงสถานบริการและประวัติคุณหมออย่างละเอียด เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนตัดสินใจทำ IPL
[embed-health-tool-bmr]
IPL คืออะไร ทำเพื่ออะไร
IPL คือ การฉายลำแสงที่มีความเข้มข้นสูง โดยมีความยาวของคลื่นแสงตั้งแต่ 515-1,200 นาโนเมตร และสามารถปรับความยาวคลื่นให้เหมาะสมกับการใช้งานได้ ใช้เพื่อรักษาปัญหาผิวต่าง ๆ คล้ายกับการทำเลเซอร์ โดยจะยิงแสงถี่ ๆ คล้ายกับแสงแฟลชไปยังผิวที่เป็นปัญหา เพื่อทำลายเนื้อเยื่อของผิวที่ไม่ต้องการ หรือช่วยลดเม็ดสีทำให้สีผิวที่เข้มจางลง การทำ IPL อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผิวน้อยกว่าการทำเลเซอร์ เนื่องจาก IPL มีคลื่นแสงกระจายตัววงกว้าง จึงสามารถดูดซึมแสงเข้าไปยังผิวชั้นหนังแท้ โดยไม่ทำลายผิวชั้นหนังกำพร้า ในขณะที่แสงเลเซอร์จะมีคลื่นแสงกระจายเป็นวงแคบ ที่อาจทำลายชั้นผิวหนัง และก่อให้เกิดการระคายเคืองได้มากกว่า
ผู้ที่เหมาะสำหรับการทำ IPL
การทำ IPL อาจเหมาะกับคนในกลุ่มดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีแผลเป็นนูน
- ผู้ที่มีความประสงค์อยากกำจัดขนรักแร้ ขนหน้า ขนแขนและขา
- ผู้ที่มีรอยสิว กระ ฝ้า ปานแดง และปานดำ
- ผู้ที่มีปัญหาผิวหน้าหมองคล้ำและผิวหนังหย่อนคล้อย
- ผู้มีภาวะเส้นเลือดขอด
- ผู้ที่มีรอยแตกลายที่ผิว
ผู้ที่ไม่เหมาะสำหรับการทำ IPL
- สตรีตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีผิวไวต่อแสง
- ผู้ที่กำลังใช้ครีมทาผิวที่มีส่วนประกอบของเรตินอยด์ (Retinoid) ที่เป็นอนุพันธ์วิตามินเอ ที่อาจช่วยลดสิว ริ้วรอย แต่ก็อาจส่งผลให้ผิวแห้งและระคายเคืองผิวได้หากใช้ก่อนทำ IPL
- ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนัง
- ผู้ที่มีแผลเป็นระดับรุนแรงและมีขนาดใหญ่
- ผู้ที่กำลังรับประทานยากลุ่มทินเนอร์เลือด หรือยาป้องกันยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) ไรวาโรซาแบน (Rivaroxaban) เอพิซาแบน (Apixaban) อีด็อกซาแบน (Edoxaban)
ข้อดีและข้อเสียของการทำ IPL
ข้อดีและข้อเสียของ IPL อาจมีดังนี้
ข้อดี
- สามารถแก้ไขปัญหาผิวได้อย่างครอบคลุม
- มีคลื่นแสงกระจายวงกว้าง ช่วยลดการทำลายชั้นผิวหนัง
- ไม่ทำให้เกิดบาดแผล
- ใช้เวลาการรักษาในแต่ละครั้งน้อย
ข้อเสีย
- อาจมีราคาสูง
- จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาบ่อยครั้ง
- อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวแดง ปวดแสบปวดร้อน ผิวเป็นรอยด่าง สีผิวเข้มขึ้น แต่ผลข้างเคียงเหล่านี้อาจหายเองได้ภายใน 2-3 วัน
การเตรียมตัวก่อนทำ IPL
การเตรียมตัวก่อนทำ IPL มีดังนี้
- ศึกษาเกี่ยวกับสถานให้บริการและประวัติคุณหมอ ควรเลือกคุณหมอที่มีประสบการณ์และสถานให้บริการที่ได้มาตฐาน น่าเชื่อถือ
- แจ้งสภาพผิวและอาการที่ต้องการรักษา เพื่อให้คุณหมอประเมินว่าสามารถทำ IPL ได้หรือไม่
- ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวโดนแสงแดดประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนทำ IPL โดยอาจสวมเสื้อผ้าที่มีแขนขายาว หรือหลบเลี่ยงการออกไปข้างนอกเวลามีแดด
- หลีกเลี่ยงการแว็กซ์ขน การโกนขน และการฉีดคอลลาเจน ประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนทำ IPL
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) และอนุพันธ์วิตามินเอ เช่น เรตินอยด์ (Retinoid) กรดเรติโนอิก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เลือดออก เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน
การดูแลผิวหลังจากทำ IPL
การดูแลผิวหลังจากทำ IPL ควรปฏิบัติดังนี้
- ประคบผิวด้วยผ้าเย็นหากรู้สึกปวดแสบปวดร้อนนานกว่า 4-6 ชั่วโมง หลังจากทำ IPL
- หลีกเลี่ยงการตากแดด และควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป ทุก ๆ 2 ชั่วโมง อีกทั้งยังควรสวมเสื้อผ้าที่มีแขนขายาวเพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว เช่น ครีม โลชั่น มอยส์เจอร์ไรเซอร์ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
- ไม่ควรอาบน้ำนาน เพราะอาจส่งผลให้ผิวหนังแห้งกร้าน และระคายเคือง
- ทำความสะอาดผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่ให้ความอ่อนโยนต่อผิว และหลีกเลี่ยงการขัดผิวอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวถลอก ระคายเคือง และเกิดแผลได้
- หากยังรู้สึกเจ็บผิวอยู่ ควรหลีกเลี่ยงการแต่งหน้า