ก้อนไขมันใต้ผิวหนัง อาจเกิดจากต่อมไขมันอุดตันเนื่องจากผิวหนังในบริเวณนั้นได้รับความเสียหาย เช่น แผลจากการผ่าตัด แผลจากรอยข่วน สิว ก้อนไขมันใต้ผิวหนังอาจยุบลงไปเอง และไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่หากก้อนไขมันมีขนาดใหญ่ขึ้น รู้สึกเจ็บ หรือเกิดการติดเชื้อ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม
[embed-health-tool-bmr]
ก้อนไขมันใต้ผิวหนัง คืออะไร
ก้อนไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนัง (Sebaceous cysts) คือก้อนไขมันหรือก้อนซีสต์ที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนังและเติบโตอย่างช้า ๆ อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนกว่าก้อนไขมันใต้ผิวหนังจะนูนจนสังเกตได้ มักมีลักษณะเป็นก้อนนูนแข็งขนาดเล็กที่มีสารคัดหลั่งอยู่ภายในและเห็นเป็นรอยนูนสีเดียวกับผิว ส่วนใหญ่ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ อาจปรากฏบนหนังศีรษะ ใบหน้า ลำตัว หลัง หรือขาหนีบ ก้อนไขมันใต้ผิวหนังอาจมีขนาดเท่าเดิม หรืออาจขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ที่มีก้อนไขมันใต้ผิวหนังควรหลีกเลี่ยงการบีบหรือถูไถบริเวณที่มีก้อนไขมัน เพราะอาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นบวม อักเสบ หรือติดเชื้อแบคทีเรียได้
ก้อนไขมันใต้ผิวหนัง เกิดจากอะไร
ก้อนไขมันใต้ผิวหนังอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
- รูขุมขนบริเวณที่เป็นสิวแตกออก
- ท่อต่อมไขมันเติบโตผิดรูป
- ผิวหนังได้รับบาดเจ็บ ทำให้เกิดก้อนไขมัน
- เซลล์ผิวหนังเสียหายระหว่างผ่าตัด
- ภาวะทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการการ์ดเนอร์ (Gardner Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดก้อนซีสต์บริเวณผิวหนัง ติ่งเนื้อบริเวณลำไส้ใหญ่ และเนื้องอกกระดูก หรืออาจเกิดจากโรคกอร์ลิน (Gorlin syndrome) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ผิวหนังและส่วนอื่น ๆ ของร่างกายผิดปกติ
ก้อนไขมันใต้ผิวหนังเป็นอันตรายหรือไม่
โดยทั่วไป ก้อนไขมันใต้ผิวหนังไม่เป็นอันตรายและมักไม่ใช่ก้อนมะเร็ง แต่หากมีอาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาญของภาวะผิดปกติที่ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว
- อาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น บวม แดง มีหนองไหลออกมา
- ก้อนไขมันมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว
- มีก้อนไขมันก้อนใหม่หลังตัดก้อนไขมันเก่าออกไปแล้ว
- ก้อนไขมันมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 5 เซนติเมตร
วิธีรักษาเมื่อมีก้อนไขมันใต้ผิวหนัง
วิธีรักษาเมื่อมีก้อนไขมันใต้ผิวหนัง อาจทำได้โดยการใช้ยาและการผ่าตัด ดังนี้
การรักษาด้วยการใช้ยา
เพื่อช่วยลดอาการบวมแดง และอาจช่วยให้ก้อนไขมันให้มีขนาดเล็กลงได้ เช่น
- การฉีดสเตียรอยด์ คุณหมออาจใช้สเตียรอยด์แบบฉีด เช่น คอร์ติโซน (Cortisone) เพื่อลดการอักเสบและลดขนาดของก้อนไขมันในช่วงที่ยังไม่ติดเชื้อ
- การใช้ยาปฏิชีวนะ ก้อนไขมันใต้ผิวหนังที่อักเสบแต่ไม่ติดเชื้อ อาจรักษาได้ด้วยการให้ยาปฎิชีวนะ เช่น เซฟาเลกซิน (Cephalexin) คลอกซาซิลลิน (Cloxacillin)
การรักษาด้วยการผ่าตัด
นิยมใช้เมื่อมีหนองหรือของเหลวปริมาณมากสะสมอยู่ในก้อนไขมัน วิธีการผ่าตัดรักษาก้อนไขมันใต้ผิวหนัง เช่น
- การกรีดก้อนไขมันเพื่อระบายสิ่งสกปรกที่สะสมอยู่ภายใน ทั้งนี้ อาจเกิดก้อนไขมันใต้ผิวหนังซ้ำได้อีก
- การผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อของผนังก้อนไขมันออกทั้งหมด ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดก้อนไขมันใต้ผิวหนังซ้ำอีก ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกำจัดก้อนไขมันในช่วงที่แผลกำลังอักเสบ รอให้ก้อนไขมันใต้ผิวหนังยุบตัวก่อนจึงค่อยผ่าตัดออก
- การเลเซอร์เพื่อกำจัดก้อนไขมันใต้ผิวหนังทั้งหมดออก
การดูแลตัวเองเมื่อมีก้อนไขมันใต้ผิวหนัง
การดูแลตัวเองเมื่อมีก้อนไขมันใต้ผิวหนัง สามารถทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการทำให้ก้อนไขมันแตก และไม่ควรเจาะระบายไขมันออกด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้ติดเชื้อและมีก้อนไขมันเกิดซ้ำได้อีก
- รักษาความสะอาดของผิวหนังบริเวณที่มีก้อนไขมันอยู่เสมอ ด้วยการล้างด้วยน้ำสบู่อุ่น ๆ และซับเบา ๆ ให้แห้ง
- ประคบก้อนไขมันด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาดวันละ 2-3 ครั้ง ๆ ละ 20-30 นาที อาจช่วยลดอาการบวมของก้อนไขมันได้
- หากก้อนไขมันเริ่มบวมหรือเจ็บ อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด