ตุ่มใสขึ้นตามตัว เกิดขึ้นได้เมื่อผิวหนังโดนความร้อน หรือเสียดสีกับวัตถุบางอย่าง สัมผัสกับสารเคมีในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และถูกกดทับหรือดึงรั้ง รวมทั้งอาจเป็นอาการของโรคบางอย่างหรือเกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคอีสุกอีใส โรคเอดส์ทั้งนี้ เพื่อป้องกันตุ่มใสขึ้นตามตัว ควรสวมถุงมือทุกครั้งเมื่อต้องหยิบจับเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ หรือผลิตภัณฑ์ที่อาจมีส่วนผสมของสารเคมี ล้างมือเป็นประจำ
[embed-health-tool-ovulation]
ตุ่มใสขึ้นตามตัว มีลักษณะอย่างไร
ตุ่มใสเป็นตุ่มบวมขนาดเล็กขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีลักษณะเป็นถุงน้ำที่มีสีอ่อนกว่าผิวหนังเล็กน้อย และบางครั้งอาจทำให้คันหรือรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสโดน
โดยทั่วไป ข้างในตุ่มใสมักเป็นเลือดหรือของเหลวใส แต่ถ้าติดเชื้อ ของเหลวของในตุ่มใสอาจมีลักษณะคล้ายหนองโดยมีสีขาวขุ่น
ตุ่มใสขึ้นตามตัว เกิดจากสาเหตุอะไร
สาเหตุหลัก ๆ ของตุ่มใสขึ้นตามตัว มีดังต่อไปนี้
- การเสียดสี หากผิวหนังเสียดสีกับวัตถุบางอย่าง ผิวหนังชั้นนอกและชั้นในจะเกิดช่องว่าง ทำให้ของเหลวในร่างกายไหลมาสะสมและกลายเป็นตุ่มใส โดยปกติ ตุ่มใสจากการเสียดสีมักเกิดบริเวณฝ่ามือ โดยเฉพาะในผู้ที่ต้องจับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการทำงานต่าง ๆ เช่น ชาวสวนที่ต้องใช้จอบหรือเสียม หรือนักดนตรีที่จับไม้ตีกลองเป็นเวลานาน รวมทั้งอาจเกิดบริเวณส้นเท้า ในผู้ที่สวมใส่รองเท้าคับแน่นเดินหรือวิ่งเป็นเวลานาน
- ความร้อน ตุ่มใสอาจเกิดขึ้นภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังจากผิวโดนแสงแดดเป็นเวลานาน โดยจัดเป็นอาการผิวไหม้ในระดับที่รุนแรงและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง
- การกดทับหรือดึงรั้ง เมื่อผิวหนังถูกกดทับเป็นเวลานานหรือดึงจนตึงมากเกินไป หลอดเลือดใต้ผิวหนังจะแตก ทำให้เลือดไหลไปสะสมในช่องว่างระหว่างชั้นผิวหนัง ก่อให้เกิดตุ่มใสที่ภายในเต็มไปด้วยเลือดได้
นอกจากนี้ ตุ่มใสขึ้นตามตัวอาจเป็นอาการของโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น
- โรคอีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด เมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยจะมีตุ่มสีแดงหรือชมพูขึ้นตามลำตัว และกลายเป็นตุ่มใสหรือแผลพุพอง
- โรคเริม เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) ที่ติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทั้งแบบสอดใส่และไม่สอดใส่ รวมทั้งการเล้าโลม กอด จูบ โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคเริมจะมีตุ่มใสขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหรือปาก และรู้สึกแสบร้อนร่วมด้วย
- โรค มือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสคอกแซกกี้ (Coxsackievirus) มักพบบ่อยในเด็กเล็กช่วงหน้าฝน ผู้ป่วยมักมีตุ่มใสบริเวณลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม รวมถึงผื่นแดงบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือสะโพก ซึ่งอาจกลายเป็นตุ่มใสได้
นอกจากนี้ ตุ่มใสขึ้นตามตัวยังเกิดได้จากการแพ้สารต่าง ๆ โดยจัดเป็นอาการของผิวหนังต่อไปนี้
- โรคผื่นระคายสัมผัส มักเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังสัมผัสโดนสารก่อภูมิแพ้ โดยเฉพาะส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์หรือวัตถุและสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องสำอาง ผงซักฟอก เครื่องประดับ นอกจากนี้ โรคผื่นระคายสัมผัสยังอาจเกิดจากการโดนแมลงกัดหรือต่อย และผิวหนังสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากแมลง
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากพันธุกรรมและความผิดปกติของยีน ผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจะมีอาการระคายเคืองตามผิวหนังและแพ้ง่าย เนื่องจากไวต่อเชื้อแบคทีเรีย สารก่อภูมิแพ้ และสารก่อการระคายเคือง อาการหลัก ๆ ของโรคนี้คือ ผิวหนังแดง ลอก หรือคัน นอกจากนี้ บางครั้งผู้ป่วยอาจมีตุ่มใสขึ้นตามตัว
เมื่อมีตุ่มใสขึ้นตามตัว ควรดูแลตัวเองอย่างไร
โดยทั่วไป ตุ่มใสมักหายไปเองภายใน 2-3 วัน หรืออาจภายใน 7 วัน ในกรณีของตุ่มใสจากการถูกแดดเผา สามารถ
ดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ตุ่มใสขึ้นด้วยสบู่สูตรอ่อนโยนไม่ผสมน้ำหอมหรือสารเคมี
- ทายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ปิดตุ่มใสด้วยพลาสเตอร์หรือผ้าพันแผล
- หลีกเลี่ยงการทำให้ตุ่มใสแตก เพราะเมื่อตุ่มใสแตกแล้วจะทำให้ผิวหนังติดเชื้อง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม หากต้องการเจาะตุ่มใส ควรใช้เข็มที่ล้างแอลกอฮอล์แล้วเจาะ จากนั้นปล่อยให้ของเหลวข้างในไหลออกมาเอง โดยปล่อยให้ผิวหนังส่วนที่เป็นถุงน้ำแห้งเองเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าหรือการหยิบจับอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดตุ่มใสจนกว่าอาการจะดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากตุ่มใสไม่หายไปเอง หรือผิวหนังบริเวณรอบ ๆ มีลักษณะบวมแดง ซึ่งแสดงถึงอาการติดเชื้อ ควรไปพบคุณหมอ
ตุ่มใสขึ้นตามตัว ป้องกันได้อย่างไรบ้าง
ตุ่มใสขึ้นตามตัว อาจป้องกันได้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- เลือกสวมรองเท้าที่มีขนาดพอดี ไม่แน่นเกินไป เพื่อป้องกันการเสียดสี
- สวมใส่ถุงมือ เมื่อทำงานที่ต้องสัมผัสกับอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ เป็นเวลานาน
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่แน่นเกินไป เพื่อป้องกันเสื้อผ้าเสียดสีกับผิวหนังเพราะอาจก่อให้เกิดการถลอกหรือเป็นตุ่มใส
- ทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันผิวไหม้
- สวมถุงมือหากต้องจับของร้อน เพื่อป้องกันผิวไหม้หรือผิวพุพองจากความร้อน
- ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำเพื่อป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ