backup og meta

แขน เป็น ตุ่ม เล็ก ๆ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด เมื่อสัปดาห์ก่อน

    แขน เป็น ตุ่ม เล็ก ๆ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

    แขน เป็น ตุ่ม เล็ก ๆ อาจเกิดจากปฏิกิริยาที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ รูขุมขนอักเสบ ขนคุด ผดผื่น ลมพิษ และแมลงกัดต่อย ซึ่งแต่ละสาเหตุอาจบรรเทาอาการและรักษาได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ยา อย่างไรก็ตาม หากมีอาการรุนแรง จำเป็นต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

    แขน เป็น ตุ่ม เล็ก ๆ เกิดจากอะไร

    อาการแขนเป็นตุ่มเล็ก ๆ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่อาจพบได้บ่อยมีดังนี้

    • ปฏิกิริยาแพ้

    เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามแขนที่อาจพบได้บ่อย โดยการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง เช่น อาหาร ฝุ่น ควัน เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เสื้อผ้า น้ำยาทำความสะอาด ละอองเกสร

    การรักษา อาจรักษาได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคืองต่าง ๆ แต่หากอาการรุนแรงหรือรักษาด้วยตัวเองแล้วยังไม่หายเป็นระยะเวลานาน ควรเข้าพบคุณหมอ ซึ่งคุณหมออาจสั่งจ่ายยาแก้แพ้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้และอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

    • รูขุมขนอักเสบ

    รูขุมขนอักเสบอาจเกิดขึ้นเมื่อเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียเข้าไปสะสมในรูขุมขน จนทำให้รูขุมขนอุดตันและเกิดการอักเสบ ส่งผลทำให้แขนเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีแดง ขึ้นตามผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณหนังศีรษะ แขน ขา หลัง หน้าอก

    การรักษา โดยปกติอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง แต่หากอาการที่เกิดขึ้นไม่หายเป็นระยะเวลานานหรือรุนแรงขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อรา

    • ขนคุด

    ขนคุดเกิดจากการอุดตันของรูขุมขนจนทำให้เกิดตุ่มนูนแดงเล็ก ๆ และหนองขึ้นตามผิวหนัง อาจพบได้บ่อยบริเวณขา รักแร้ และแขน

    การรักษา โดยปกติขนคุดจะค่อย ๆ เล็กลงและหายเองได้เมื่อมีการระบายหนองและดึงขนคุดที่อยู่ภายใต้ผิวหนังออก แต่หากทำด้วยตัวเองอาจเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่าย จึงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา นอกจากนี้ คุณหมออาจสั่งจ่ายยาที่มีส่วนผสมของกรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids) กรดแลคติก (Lactic Acid) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) หรือยูเรีย (Urea) เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกที่ตายแล้ว และอาจช่วยลดการอุดตันของรูขุมขนที่เป็นสาเหตุของขนคุดได้

    • ผดผื่น

    ผดผื่นหรือผดร้อน อาจเกิดจากการอุดตันของเหงื่อและน้ำมันในรูขุมขน ส่งผลให้ผิวหนังเกิดตุ่มนูนแดงเล็ก ๆ อาจมีอาการคันหรือไม่คันก็ได้ มักเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้น

    การรักษา หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศร้อนหรือในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท รวมถึงควรอาบน้ำทันทีเพื่อระบายความร้อนบนผิวหนัง ซึ่งตุ่มแดงจะค่อย ๆ หายไปเองเมื่อผิวเย็นลง

    • ลมพิษ

    ลมพิษเกิดจากการสัมผัสการสารก่อภูมิแพ้หรือการติดเชื้อทางผิวหนัง จนอาจทำให้เกิดตุ่มแดงเล็ก ๆ หรือตุ่มนูนแดงขนาดใหญ่เกิดขึ้นบริเวณผิวอย่างรวดเร็ว

    การรักษา โดยปกติอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2-3 ชั่วโมง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับยาแก้แพ้ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการตุ่มนูนแดง บวม หรืออาการแพ้อื่น ๆ

    • แมลงกัดต่อย

    หลังจากถูกแมลงกัดต่อยอาจทำให้มีตุ่มนูนแดงเล็ก ๆ เกิดขึ้นบริเวณที่โดนกัดหรือต่อย ซึ่งอาจไม่ก่อให้เกิดอาการคันทันที แต่อาการคันจะค่อย ๆ เกิดขึ้นหลังพิษจากการกัดต่อยของแมลงค่อย ๆ กระจายไปยังผิวหนัง

    การรักษา อาการคันและบวมจากแมลงกัดต่อยจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง แต่สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อบรรเทาอาการได้ด้วยการประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม หลีกเลี่ยงการแกะเกาผิวหนังบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย และหากมีอาการแพ้อาจใช้ยาแก้แพ้เพื่อช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้

    วิธีป้องกันตุ่ม เล็ก ๆ ขึ้น ตาม แขน ไม่ คัน

    เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามแขนและตามร่างกายอาจทำได้ ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารระคายเคืองและสารก่อภูมิแพ้ สังเกตตัวเองอยู่เสมอว่ามักเกิดตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามแขนหรือตามร่างกายเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคืองอะไรบ้าง และควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้นเพื่อป้องกันอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้น
    • สวมชุดป้องกัน ถุงมือ หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ เพื่อป้องกันสารระคายเคืองสัมผัสกับผิวหนังโดยตรงจนอาจก่อให้เกิดอาการแพ้
    • ทำความสะอาดผิวเป็นประจำทุกวัน และทำความสะอาดทันทีหลังจากสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง โดยใช้สบู่อ่อน ๆ ปราศจากน้ำหอมล้างทำความสะอาดและล้างออกด้วยน้ำสะอาด
    • ใช้มอยเจอร์ไรเซอร์เพิ่มความชุ่มชื้นเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ เพื่อช่วยกักเก็บและเติมความชุ่มชื้นให้กับผิว ลดความระคายเคืองที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้และตุ่มเล็ก ๆ บนผิวหนัง
    • ทำความสะอาดบ้านและดูแลสัตว์ในบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้อาจมาจากฝุ่น สะเก็ดหนังสัตว์และขนสัตว์ จึงควรทำความสะอาดบ้านเป็นประจำเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด เมื่อสัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา