backup og meta

ผื่นคันเกาแล้วลาม เกิดจากสาเหตุใด รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 23/01/2024

    ผื่นคันเกาแล้วลาม เกิดจากสาเหตุใด  รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

    ผื่นคันเกาแล้วลาม เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งโรคผิวหนัง การติดเชื้อรา แมลงกัดต่อย รวมถึงการแพ้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ส่งผลให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาบนผิวหนังเป็นผื่นแดง เมื่อเกา จึงลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ได้ ทั้งนี้ เมื่อเป็น ผื่นคัน เกาแล้วลาม ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจ โดยคุณหมอจะรักษาตามสาเหตุ เช่น หากเป็นโรคลมพิษ คุณหมอจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาแก้แพ้ ร่วมกับยาแก้อักเสบ หากเกิดจากแมลงสัตว์กัดต่อย อาจให้ทาครีมหรือขี้ผึ้ง

    ผื่นคันเกาแล้วลาม เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

    ผื่นคัน เป็นการตอบสนองของผิวหนัง ต่อวัตถุ สารเคมี สารก่อภูมิแพ้ ที่อาจทำให้แพ้หรือระคายเคือง เช่น อาหาร ยารักษาโรค ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ โลหะ มลภาวะ สารเคมีในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และมักมีอาการคันร่วมด้วย เมื่อคัน และเกา จะยิ่งทำให้ผื่นคันเหล่านั้นแพร่กระจายออกไปในวงกว้าง ลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ง่าย

    ทั้งนี้ การเกิดผื่นคันมักเป็นอาการของโรคผิวหนังต่อไปนี้

    • ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง โดยผิวหนังจะระคายเคืองและแพ้ง่าย เนื่องจากไวต่อเชื้อแบคทีเรีย สารก่อภูมิแพ้ และสารที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง ทั้งนี้ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งพบได้ในคนทุกวัย โดยเฉพาะเด็ก ๆ อาการโดยทั่วไปของโรคประกอบด้วยผื่นแดง ซึ่งเป็นได้ทั่วร่างกาย และมักทำให้คันอย่างรุนแรงในตอนกลางคืน นอกจากนี้ ผู้ป่วยผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ยังมีผิวแห้ง แตก หรือบวมด้วย
    • ลมพิษ (Hives) เป็นการตอบสนองของผิวหนัง ต่อสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ คล้ายกับผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง อาการที่พบบ่อย คือ ผื่นหรือปื้นแดง ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและอาจหายเองได้ มักพบบริเวณใบหน้า ลำคอ หรือลำตัว นอกจากนี้ ลมพิษบางครั้งอาจเป็นพร้อมกับภาวะแองจีโออีดีมา (Angioedema) โดยผู้ป่วยจะมีดวงตา แก้ม หรือริมฝีปากบวมแดงผิดปกติ และรู้สึกเจ็บปวดบริเวณดังกล่าวด้วย เมื่อเกิดผื่นแดงแล้วคัน ยิ่งเกาก็จะยิ่งลุกลามไปทั่วร่างกาย

    นอกจากนี้ ผื่นคัน เกาแล้วลามยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น

    • การเพิ่มจำนวนของเชื้อราบนผิวหนัง โดยทั่วไป เชื้อราบนผิวหนังไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ อย่างไรก็ตาม หากภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เชื้อราอาจเพิ่มจำนวนมากขึ้น หรือหากมีบาดแผล เชื้อโรคอาจเข้าไปในบาดแผลได้ง่ายขึ้น จะทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือเป็นโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคกลาก โรคสังคัง โรคน้ำกัดเท้า
    • พิษของแมลง หากโดนแมลงกัด เช่น ยุง เห็บ ไรฝุ่น หมัด สามารถทำให้ผิวหนังเป็นตุ่มหรือผื่นแดง ผื่นคันได้ นอกจากนี้ การเกาบริเวณที่ถูกกัด อาจทำให้ตุ่ม ผื่นแดง ผื่นคัน อักเสบหรือลุกลามได้ด้วย

    ผื่นคัน เกาแล้วลาม รักษาได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

    หากเป็นผื่นคันแล้วเกาจนผื่นลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ คุณหมออาจเลือกรักษาคนไข้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • รับประทานยาแก้แพ้ เพื่อบรรเทาอาการคันเนื่องจากผื่นลมพิษ ร่วมกับการรับประทานยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ที่มีฤทธิ์แก้อักเสบในระยะสั้น ๆ
    • ทาครีม ที่มีส่วนผสมของยาแก้อักเสบอย่าง คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นตัวเลือกหนึ่งในการรักษาผื่นคันเนื่องจากผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหรือพิษของแมลง ทั้งนี้ การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เกินขนาดติดต่อกันนาน ๆ อาจเกิดผลข้างเคียงคือทำให้ผิวหนังบางลงได้
    • ใช้ผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อรา หากผื่นคัน เกิดจากการติดเชื้อราหรือโรคผิวหนังเนื่องจากเชื้อรา คุณหมอจะรักษาโดยให้ใช้ผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อราในรูปแบบของครีม โลชั่น ผงแป้ง หรือสเปรย์ นอกจากนั้น หากการติดเชื้อมีความรุนแรง คุณหมออาจให้คนไข้รับประทานยาต้านเชื้อราแบบเม็ดร่วมด้วย

    ผื่นคันเกาแล้วลาม ป้องกันได้อย่างไร

    เพื่อป้องกันการเกิดผื่นคันเกาแล้วลาม สามารถปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น อาหาร ยาบางชนิด เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น
  • อ่านฉลากของอาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก่อนเลือกซื้อ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสารที่ทำให้แพ้หรือระคายเคืองเป็นส่วนผสม
  • ใช้มอยส์เจอไรเซอร์สม่ำเสมอ ในกรณีของผู้ที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง และป้องกันผิวหนังจากสารก่อภูมิแพ้ และสารสร้างการระคายเคืองต่าง ๆ
  • กำจัดแมลงด้วยยาฆ่าแมลง หรือสารกำจัดแมลงจากธรรมชาติ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพื่อลดโอกาสถูกยุงกัด หรือแมลงกัดหรือต่อย และทำให้เป็นผื่นคัน
  • อาบน้ำและทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อกลับจากการออกไปเผชิญกับแสงแดด มลภาวะต่าง ๆ เพื่อลดการหมักหมมของเชื้อโรคและแบคทีเรียอันอาจก่อให้เกิดผื่นคัน
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 23/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา