backup og meta

ผื่นคันเกาแล้วลาม เกิดจากสาเหตุใด รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

ผื่นคันเกาแล้วลาม เกิดจากสาเหตุใด  รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

ผื่นคันเกาแล้วลาม เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งโรคผิวหนัง การติดเชื้อรา แมลงกัดต่อย รวมถึงการแพ้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ส่งผลให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาบนผิวหนังเป็นผื่นแดง เมื่อเกา จึงลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ได้ ทั้งนี้ เมื่อเป็น ผื่นคัน เกาแล้วลาม ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจ โดยคุณหมอจะรักษาตามสาเหตุ เช่น หากเป็นโรคลมพิษ คุณหมอจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาแก้แพ้ ร่วมกับยาแก้อักเสบ หากเกิดจากแมลงสัตว์กัดต่อย อาจให้ทาครีมหรือขี้ผึ้ง

[embed-health-tool-heart-rate]

ผื่นคันเกาแล้วลาม เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

ผื่นคัน เป็นการตอบสนองของผิวหนัง ต่อวัตถุ สารเคมี สารก่อภูมิแพ้ ที่อาจทำให้แพ้หรือระคายเคือง เช่น อาหาร ยารักษาโรค ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ โลหะ มลภาวะ สารเคมีในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และมักมีอาการคันร่วมด้วย เมื่อคัน และเกา จะยิ่งทำให้ผื่นคันเหล่านั้นแพร่กระจายออกไปในวงกว้าง ลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ง่าย

ทั้งนี้ การเกิดผื่นคันมักเป็นอาการของโรคผิวหนังต่อไปนี้

  • ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง โดยผิวหนังจะระคายเคืองและแพ้ง่าย เนื่องจากไวต่อเชื้อแบคทีเรีย สารก่อภูมิแพ้ และสารที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง ทั้งนี้ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งพบได้ในคนทุกวัย โดยเฉพาะเด็ก ๆ อาการโดยทั่วไปของโรคประกอบด้วยผื่นแดง ซึ่งเป็นได้ทั่วร่างกาย และมักทำให้คันอย่างรุนแรงในตอนกลางคืน นอกจากนี้ ผู้ป่วยผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ยังมีผิวแห้ง แตก หรือบวมด้วย
  • ลมพิษ (Hives) เป็นการตอบสนองของผิวหนัง ต่อสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ คล้ายกับผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง อาการที่พบบ่อย คือ ผื่นหรือปื้นแดง ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและอาจหายเองได้ มักพบบริเวณใบหน้า ลำคอ หรือลำตัว นอกจากนี้ ลมพิษบางครั้งอาจเป็นพร้อมกับภาวะแองจีโออีดีมา (Angioedema) โดยผู้ป่วยจะมีดวงตา แก้ม หรือริมฝีปากบวมแดงผิดปกติ และรู้สึกเจ็บปวดบริเวณดังกล่าวด้วย เมื่อเกิดผื่นแดงแล้วคัน ยิ่งเกาก็จะยิ่งลุกลามไปทั่วร่างกาย

นอกจากนี้ ผื่นคัน เกาแล้วลามยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น

  • การเพิ่มจำนวนของเชื้อราบนผิวหนัง โดยทั่วไป เชื้อราบนผิวหนังไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ อย่างไรก็ตาม หากภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เชื้อราอาจเพิ่มจำนวนมากขึ้น หรือหากมีบาดแผล เชื้อโรคอาจเข้าไปในบาดแผลได้ง่ายขึ้น จะทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือเป็นโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคกลาก โรคสังคัง โรคน้ำกัดเท้า
  • พิษของแมลง หากโดนแมลงกัด เช่น ยุง เห็บ ไรฝุ่น หมัด สามารถทำให้ผิวหนังเป็นตุ่มหรือผื่นแดง ผื่นคันได้ นอกจากนี้ การเกาบริเวณที่ถูกกัด อาจทำให้ตุ่ม ผื่นแดง ผื่นคัน อักเสบหรือลุกลามได้ด้วย

ผื่นคัน เกาแล้วลาม รักษาได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

หากเป็นผื่นคันแล้วเกาจนผื่นลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ คุณหมออาจเลือกรักษาคนไข้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • รับประทานยาแก้แพ้ เพื่อบรรเทาอาการคันเนื่องจากผื่นลมพิษ ร่วมกับการรับประทานยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ที่มีฤทธิ์แก้อักเสบในระยะสั้น ๆ
  • ทาครีม ที่มีส่วนผสมของยาแก้อักเสบอย่าง คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นตัวเลือกหนึ่งในการรักษาผื่นคันเนื่องจากผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหรือพิษของแมลง ทั้งนี้ การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เกินขนาดติดต่อกันนาน ๆ อาจเกิดผลข้างเคียงคือทำให้ผิวหนังบางลงได้
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อรา หากผื่นคัน เกิดจากการติดเชื้อราหรือโรคผิวหนังเนื่องจากเชื้อรา คุณหมอจะรักษาโดยให้ใช้ผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อราในรูปแบบของครีม โลชั่น ผงแป้ง หรือสเปรย์ นอกจากนั้น หากการติดเชื้อมีความรุนแรง คุณหมออาจให้คนไข้รับประทานยาต้านเชื้อราแบบเม็ดร่วมด้วย

ผื่นคันเกาแล้วลาม ป้องกันได้อย่างไร

เพื่อป้องกันการเกิดผื่นคันเกาแล้วลาม สามารถปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น อาหาร ยาบางชนิด เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น
  • อ่านฉลากของอาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก่อนเลือกซื้อ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสารที่ทำให้แพ้หรือระคายเคืองเป็นส่วนผสม
  • ใช้มอยส์เจอไรเซอร์สม่ำเสมอ ในกรณีของผู้ที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง และป้องกันผิวหนังจากสารก่อภูมิแพ้ และสารสร้างการระคายเคืองต่าง ๆ
  • กำจัดแมลงด้วยยาฆ่าแมลง หรือสารกำจัดแมลงจากธรรมชาติ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพื่อลดโอกาสถูกยุงกัด หรือแมลงกัดหรือต่อย และทำให้เป็นผื่นคัน
  • อาบน้ำและทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อกลับจากการออกไปเผชิญกับแสงแดด มลภาวะต่าง ๆ เพื่อลดการหมักหมมของเชื้อโรคและแบคทีเรียอันอาจก่อให้เกิดผื่นคัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Atopic dermatitis (eczema). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/atopic-dermatitis-eczema/symptoms-causes/syc-20353273. Accessed April 26, 2022

Insect bites and stings. https://www.nhs.uk/conditions/insect-bites-and-stings/treatment/. Accessed April 26, 2022

Hives and angioedema. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hives-and-angioedema/diagnosis-treatment/drc-20354914. Accessed April 26, 2022

Jock itch. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/jock-itch/diagnosis-treatment/drc-20353812. Accessed April 26, 2022

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (ATOPIC DERMATITIS). https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=22. Accessed April 26, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผื่นแพ้ยา เป็นอย่างไร มีอาการและวิธีการรักษาอย่างไร

ผื่นคัน แพ้เหงื่อ อาการเป็นอย่างไร และรักษาได้อย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 7 วันก่อน

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา