ลมพิษ มีสาเหตุจากอะไร และรักษาอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/04/2022

    ลมพิษ มีสาเหตุจากอะไร และรักษาอย่างไร

    ลมพิษ (Hives) เป็นอาการที่ผิวหนังเป็นผื่นแดง หรือมีผื่นนูน และมักจะมีอาการคันร่วมด้วย มักเกิดจากอาการแพ้สารบางอย่าง เช่น แพ้ยา แพ้สารเคมี แพ้อาหาร แต่ก็สามารถเกิดจากสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ เช่น ความเครียด อากาศร้อน อย่างไรก็ตาม ลมพิษสามารถหายได้ด้วยการดูแลตนเองเบื้องต้น แต่หากลมพิษไม่หายภายใน 24 ชั่วโมง ควรไปพบคุณหมอ

    ลมพิษ คืออะไร

    ลมพิษ คือ ผื่นคันที่บวมขึ้น นับเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดผื่นคัน แต่อาจทำให้รู้สึกเหมือนผิวไหม้จนแสบผิว หรือรู้สึกเหมือนโดนกัดที่ผิว สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย บริเวณที่พบบ่อยได้แก่ ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น คอ หู หน้าอก บริเวณผิวหนังที่เป็นลมพิษจะกินความกว้างไม่เท่ากัน ตั้งแต่ความกว้างเท่ายางลบไปจนถึงขนาดเท่าจานข้าว และอาการอาจรวมเข้าด้วยกันจนกลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ เรียกว่า “Plaques” ลมพิษมีโอกาสเกิดขึ้น 15-20% ในชีวิตของทุกคน และมีแนวโน้มที่จะเกิดในผู้หญิงและเด็กมากกว่าผู้ชาย

    โดยทั่วไป ลมพิษ มีอยู่ 3 ประเภทขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดลมพิษ ได้แก่

    • ลมพิษ ฉับพลัน (Acute Urticaria)

    ผู้ที่เป็น ลมพิษ ฉับพลันจะมีอาการเป็นผื่นไม่เกิน 6 สัปดาห์ มักมีสาเหตุมาจากอาการแพ้อาหารหรือแพ้ยาบางประเภท แต่การติดเชื้อและแมลงกัดต่อยก็ทำให้เกิดผื่นคันชนิดนี้ได้เช่นกัน

    • ลมพิษ เรื้อรัง และแองจิโออีดีมา (Chronic Urticaria And Angioedema)

    หากมีอาการผื่นจาก ลมพิษ นานเกิน 6 สัปดาห์ ผื่นนี้มีสาเหตุมาจากโรคบางอย่าง เช่น ไทรอยด์ โรคมะเร็ง โรคตับอักเสบ หากเป็น ลมพิษเรื้อรัง อาจทำให้รู้สึกไม่สะดวกสบาย รบกวนการนอนหลับและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หลายคนบรรเทาอาการด้วยการใช้ยาต้านฮิสตามีน และยาแก้คัน

    ลมพิษชนิดเรื้อรังนี้ ส่วนใหญ่แล้วคุณหมอจะไม่สามารถระบุสาเหตุของอาการ หรือสาเหตุที่ทำให้ ลมพิษ เฉียบพลันกลายเป็นปัญหาระยะยาวได้ คลมพิษ เรื้อรังและแองจิโออีดีมา (ลมพิษ ที่ทำให้เกิดภาวะบวมในชั้นลึกของหนังแท้ ทำให้เกิดผื่นนูนแดง) เป็น ลมพิษ ที่รุนแรงกว่า ลมพิษฉับพลัน เนื่องจาก สามารถแพร่กระจายไปยังบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ ปอด กล้ามเนื้อ และทางเดินอาหาร ส่วนแองจิโออีดีมา (Angioedema) ซึ่งเป็นอาการบวมของผิวหนัง ปกติจะเป็นลมพิษที่ไม่มีอาการคัน ผื่นลมพิษจากปัจจัยทางกายภาพ (Physical urticaria)

    เกิดจากการระคายเคืองของผิวหนัง อากาศที่ร้อนหรือหนาวเกินไป การตากแดด การมีเหงื่อออกมากเกินไป หรือการเสียดสีของเสื้อผ้ากับผิวหนังเวลาออกกำลังกาย ต่างก็เป็นสาเหตุให้เกิดผื่นลมพิษได้ทั้งสิ้น ซึ่งผื่นลมพิษชนิดที่เกิดจากปัจจัยทางกายภาพจะไม่ค่อยแพร่กระจายออกไปจากจุดเดิม

    สาเหตุที่ทำให้เกิด ลมพิษ

    ผื่นลมพิษจะปรากฏขึ้นเมื่อระดับฮิสตามีนสูงซึ่งเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างขึ้นในร่างกาย และสารเคมีที่เป็นสารสื่อประสาทบางอย่างหลั่งออกมาสู่ผิว ทำให้เกิดผื่นคันและอาการอื่น ๆ ที่พื้นผิวหนัง โดยทั่วไปแล้ว ลมพิษ จะเกิดจากอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น แพ้อาหาร แพ้สารเคมี แต่ในขณะเดียวกัน ลมพิษ ก็อาจเกิดขึ้นได้จากสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับอาการแพ้ อย่างเช่น

    • ความเครียด
    • แมลงกัดต่อย
    • การระคายเคืองจากพืช เช่น ใบตำแย
    • การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ
    • แสงแดด
    • การติดเชื้อ เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้อหวัด
    • ยาบางชนิด ส่วนใหญ่แล้วยาแอสไพรินและไอบูโพเฟน (Ibuprofen) ยาลดความดันโลหิตบางชนิด (ACE Inhibitors) และโคเดอีน เป็นยาที่มักเกี่ยวข้องกับอาการลมพิษ
    • อาการของโรคบางอย่าง

    การระบุปัจจัยที่ทำให้เกิด ลมพิษ เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อสามารถระบุปัจจัยที่ทำให้แพ้ได้แล้ว ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นได้ โดยทั่วไปแล้ว ลมพิษ มักจะหายไปได้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ก็อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้อาการลมพิษแย่ลง ซึ่งควรต้องระวัง ได้แก่

    • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • คาเฟอีน
    • ความเครียด
    • อุณหภูมิภายนอกสูงเกินไป

    การดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อรักษาอาการลมพิษ

    ส่วนใหญ่แล้วเมื่อเกิดลมพิษ สิ่งที่ควรทำคือ การบรรเทาอาการคันและระคายเคือง ซึ่งมีหลายวิธีที่สามารถใช้เพื่อรักษาอาการลมพิษได้ด้วยตนเอง เช่น

    • ประคบเย็น

    การประคบเย็นจะช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองได้ โดยอาจใช้ผ้าขนหนูห่อน้ำแข็ง วางไว้ตรงผิวบริเวณที่เป็นลมพิษ ประมาณ 10 นาที และทำซ้ำตลอดวัน จะช่วยบรรเทาอาการคันและลดอาการอักเสบ

    • ใช้ว่านหางจระเข้

    การใช้เนื้อว่านหางจระเข้โปะลงบริเวณผิวที่เป็นลมพิษ จะช่วยปลอบประโลมผิวและลดอาการลมพิษ แต่อย่างไรก็ตาม ควรลองทดสอบโดยการทาว่านหางจระเข้ลงบนผิวในปริมาณน้อย ก่อนที่จะทาว่านหางจระเข้ลงบนผิวบริเวณที่เป็นลมพิษทั้งหมด

    • วิชฮาเซล

    วิชฮาเซล (Witch Hazel) เป็นพืชชนิดหนึ่งที่อุดมด้วยสารแทนนิน มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ และเป็นสารกระชับรูขุมขน หรือแอสตริงเจนท์ (Astringent) ตามธรรมชาติที่ช่วยเยียวยาผิวได้ จึงอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองของลมพิษได้ โดยสามารถซื้อหาสารสกัดวิทฮาเซลได้ในร้านขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ หรือจากร้านค้าออนไลน์ที่เชื่อถือได้ วิธีการใช้คือ ใช้สำลีแผ่นชุบวิชฮาเซลแล้วแต้มลงบนผื่นคันโดยตรง จะช่วยบรรเทาอาการคันและอักเสบได้

    • เบกกิ้งโซดา

    เบกกิ้งโซดาเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีโซเดียมไบคาร์บอเนต นิยมใช้เพื่อทำความสะอาดผิวและบรรเทาอาการระคายเคืองผิวหนังมาตั้งแต่โบราณ วิธีใช้คือ ผสมเบกกิ้งโซดากับน้ำเย็นเล็กน้อยให้ได้เนื้อข้น ๆ ทาลงบนผิว ปล่อยให้แห้งแล้วจึงล้างออก วิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการคันและช่วยไม่ให้ผื่นลุกลาม

    • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวกระตุ้น

    ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือทำความสะอาดผิวหลายชนิด เช่น สบู่ น้ำหอม โลชั่น ครีมบำรุงผิว อาจมีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดลมพิษ ได้ หากสภาพผิวหนังมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการแพ้ได้ง่าย ให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวหรือผลิตภัณฑ์สำหรับผู้มีผิวแพ้ง่าย และอาจพยายามหลีกเลี่ยงส่วนผสมที่เป็นน้ำหอมหรือสารให้ความหอม เพราะมีแนวโน้มจะทำให้ผิวระคายเคืองได้มากที่สุด

    • หลีกเลี่ยงอากาศร้อน

    ความร้อนทำให้อาการคันแย่ลง ดังนั้น ผู้ที่เป็น ลมพิษ จึงควรสวมเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าเบาสบาย ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน และอยู่ในห้องที่อุณหภูมิเย็นสบาย รวมถึงหลีกเลี่ยงแสงแดดด้วย

    ยารักษาอาการ ลมพิษ

    หากการเยียวยาอาการลมพิษด้วยวิธีธรรมชาติไม่ได้ผล อาจต้องใช้ยารักษา ยาเหล่านี้อาจใช้เพื่อรักษาอาการต่าง ๆ จากลมพิษ ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

    1. คาลาไมน์โลชั่น

    ผลิตภัณฑ์ที่มีคาลาไมน์จะช่วยทำให้ผิวเย็นลง จึงสามารถบรรเทาอาการคันได้ โดยทาคาลาไมน์โลชั่นผิวหนังบริเวณที่เป็น ลมพิษ ได้เลย

    2. ยาไดเฟนไฮดรามีน

    ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) เป็นยาต้านฮิสตามีนแบบรับประทาน สามารถช่วยลดผื่นและอาการอื่น ๆ เช่น อาการคัน ด้วยการรักษาจากภายในสู่ภายนอก ให้ทำตามคำแนะนำในการรับประทานยา ยาจะออกฤทธิ์ภายในเวลา 1 ชั่วโมง และอาการลมพิษจะดีขึ้น ข้อควรระวัง คือ การรับประทานยานี้อาจทำให้ง่วงซึม

    3. ยาเฟกโซเฟนาดีน ยาลอราทาดีน และยาเซทิไรซีน

    ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ยาลอราทาดีน (Loratadine) และยาเซทิไรซีน (Cetirizine) เป็นยาต้านฮีลตามีนที่จะออกฤทธิ์ภายใน 12 หรือ 24 ชั่วโมง และมีแนวโน้มที่จะทำให้ง่วงนอนน้อยกว่ายาไดเฟนไฮดรามีน

    อาการแบบไหนที่ควรไปพบคุณหมอ

    ปกติอาการลมพิษจะหายไปภายในเวลา 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่หากเป็นลมพิษ และมีอาการของอาการแพ้รุนแรงเหล่านี้ร่วมด้วย ให้รีบไปพบคุณหมอทันที

    • วิงเวียนศีรษะ
    • บวมบริเวณคอหรือใบหน้า
    • หายใจลำบาก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/04/2022

    โฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    โฆษณา
    โฆษณา
    โฆษณา