เชื้อราในร่มผ้า เป็นปัญหาผิวหนังที่ควรเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วด้วย ยาทาแก้เชื้อราในร่มผ้า เมื่อสังเกตว่ามีผื่นขึ้น อาการคันรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังรอบอวัยวะเพศ เพราะหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจส่งผลให้อวัยวะเพศบวมแดง รู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะและทำให้ปัสสาวะลำบากที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม ก่อนการใช้ยารักษาควรเข้ารับการวินิจฉัยกับคุณหมอและแจ้งอาการให้ทราบ เพื่อรับชนิดยาที่เหมาะสมกับอาการที่เป็น
[embed-health-tool-bmi]
เชื้อราในร่มผ้า เกิดจากอะไร
เชื้อราในร่มผ้า เกิดจากติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) ที่ก่อให้เกิดโรคกลากและโรคน้ำกัดเท้า การติดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ที่ก่อให้เกิดโรคเกลื้อน การติดเชื้อราแคนดิดา (Candida albicans) ซึ่งเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนังตามธรรมชาติ โดยมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างไปกระตุ้นให้กลุ่มเชื้อราเจริญเติบโตมากเกินไปจนนำไปสู่การติดเชื้อราในร่มผ้า ดังนี้
- ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน เช่น รองเท้า ถุงเท้า เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อราจากผู้ติดเชื้อ
- สภาพอากาศร้อนชื้น ที่ทำให้ร่างกายขับเหงื่อมากในร่มผ้า โดยเฉพาะผู้ที่เลือกสวมเสื้อผ้ามีการระบายอากาศและความอับชื้นได้ไม่ดี จจนนำไปสู่การกระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโต
- สวมเสื้อผ้าตัวเดิมซ้ำ ๆ เพราะอาจทำให้มีการสะสมของเชื้อราและเกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนังในร่มผ้า
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถต้านการติดเชื้อราหรือทำให้ควบคุมการติดเชื้อได้ยาก
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตไขมันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ผิวมันและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา
- สวมถุงเท้าหรือรองเท้าที่คับและรัดแน่นจนเกินไป ส่งผลให้เหงื่อออกมาก เท้าอับชื้น ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อราที่เท้าและเล็บเท้า
- ไม่ทำความสะอาดสิ่งที่สัมผัสกับผิวหนังบ่อย ๆ เช่น พรมเช็ดเท้า รองเท้า ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว เพราะอาจทำให้มีการสะสมของคราบเหงื่อและสิ่งสกปรก ที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา
ดังนั้น หากสังเกตว่า มีอาการคันผิว มีตุ่ม หรือจุดเล็ก ๆ และผื่นที่มีลักษณะเป็นวงแหวนและรอบนอกเป็นสะเก็ด ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็วเพื่อรับการวินิจฉัยและยาทาแก้เชื้อราในร่มผ้า
ยาทาแก้เชื้อราในร่มผ้า มีอะไรบ้าง
ยาทาแก้เชื้อราในร่มผ้า มักมีในรูปแบบครีม เจล สเปรย์ และทิงเจอร์ โดยคุณหมออาจกำหนดให้ตามความเหมาะสมกับอาการ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
- โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ใช้เพื่อช่วยรักษาการติดเชื้อราบนผิวหนังโดยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา ที่ทาบนผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบวันละ 2 ครั้ง ยกเว้นด้านในตา ปาก จมูก และช่องคลอด นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดผิวและเช็ดให้แห้งสนิทก่อนทา ผลข้างเคียงของโคลไตรมาโซลอาจส่งผลให้มีอาการแสบร้อนผิว ตุ่มขึ้น หากมีอาการแย่ลงควรเข้าพบคุณหมอทันที
- คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ใช้เพื่อช่วยรักษาการติดเชื้อราบนผิวหนังโดยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา ควรทาบนผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบวันละ 1-2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอแนะนำ ยกเว้นด้านในตา ปาก จมูก และช่องคลอด นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดผิวและเช็ดให้แห้งสนิทก่อนทายา อีกทั้งควรสังเกตอาการผิดปกติหลังจากใช้ยา หากพบว่าผิวบวม แสบผิว มีผื่นเพิ่มขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอทันที
- ลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium sulfide) ใช้เพื่อช่วยรักษาการติดเชื้อราบนผิวหนัง บรรเทาอาการคัน ควรทาบนผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน หรือตามที่คุณหมอกำหนด
- ไมโคนาโซล ไนเทรต (Miconazole Nitrate) ใช้เพื่อช่วยรักษาการติดเชื้อราบนผิวหนังโดยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา ควรทาบนผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบวันละ 2 ครั้ง สำหรับไมโคนาโซลรูปแบบสเปรย์ควรเขย่าขวดก่อนใช้พ่นบนผิวหนังที่เป็นเชื้อราและควรระวังละอองเข้าตาหรือปาก ผลข้างเคียงของยานี้ อาจส่งผลให้ผิวระคายเคือง รู้สึกแสบร้อน บางคนอาจมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก วิงเวียนศีรษะ ใบหน้า ลิ้นและคอบวม
- ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) ใช้เพื่อช่วยรักษาการติดเชื้อราที่เล็บเท้าหรือเล็บมือ โดยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา ก่อนเริ่มใช้ยานี้ควรตัดเล็บให้สั้น ถอดเล็บปลอมออกและทำความสะอาดเล็บ ที่ควรตามซอกเล็บหรือรอบเล็บวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน และหลีกเลี่ยงการนำมือเข้าปาก เพื่อป้องกันอันตรายกระทบต่อสุขภาพจากส่วนประกอบของยา
วิธีป้องกันการติดเชื้อรา
วิธีป้องกันการติดเชื้อรา อาจทำได้ดังนี้
- อาบน้ำเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก เช่น ออกกำลังกาย ยกของ ฝึกซ้อมกีฬา เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและเหงื่อที่อาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา
- ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นและหนาเกินไป โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาพอากาศร้อน เพราะอาจทำให้ร่างกายผลิตเหงื่อมาก ส่งผลให้เกิดความอับชื้นซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา
- ควรเลือกสวมเสื้อผ้าและกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้ายเพื่อช่วยให้ระบายอากาศและลดความอับชื้นได้ดี
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขนหนู เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อราและแพร่กระจายติดต่อกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว โลชั่น เครื่องสำอางและครีมกันแดดที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพื่อป้องกันผิวมันมาก เพราะน้ำมันบนผิวอาจเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโต
- สวมรองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่คับและแน่นจนเกินไปและทำความสะอาดรองเท้าเป็นประจำเพื่อลดการสะสมของเชื้อรา
- ควรสวมรองเท้าแตะหรือรองเท้ากันน้ำ เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องสัมผัสกับน้ำโดยตรง เช่น สระว่ายน้ำ ห้องซาวหน้า ห้องน้ำสาธารณะ
- ตัดเล็บเท้าและเล็บให้สั้นเพื่อลดการสะสมของเชื้อราและเชื้อโรคในซอกเล็บ ลดความเสี่ยงเล็บติดเชื้อ