ส้นเท้าแตก (Cracked heels) เป็นลักษณะของผิวหนังกำพร้าบริเวณส้นเท้าที่แตกเป็นร่องลึก อาจเกิดจากผิวแห้งเนื่องจากขาดความชุ่มชื้นร่วมกับผิวหนังผลิตเคราตินมากเกินไป วิธีแก้ส้นเท้าแตก โดยทั่วไป อาจทำได้ด้วยการดูแลส้นเท้าอย่างถูกวิธี เช่น ทาครีมให้ส้นเท้าชุ่มชื้น สวมรองเท้าที่รองรับแรงกระแทกได้ดี สวมรองเท้าพื้นนิ่ม ตะไบหนังหนาบริเวณส้นเท้าออกอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยควรดูแลส้นเท้าให้ดีอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้ส้นเท้าแตกจนเป็นรอยลึก เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อราหรือแบคทีเรียได้
[embed-health-tool-bmi]
ส้นเท้าแตก เกิดจากอะไร
ส้นเท้าแตก เป็นลักษณะของผิวหนังบริเวณส้นเท้าที่หยาบกร้าน แข็งด้าน หรือเป็นขุย เมื่อสัมผัสแล้วจะรู้สึกถึงความสากและแห้งของผิวหนัง มีสาเหตุหลักมาจากผิวสูญเสียความชุ่มชื้นจนแห้งกร้านมากและเกิดร่องขาวเป็นทางยาวบริเวณส้นเท้า โดยอาจเกิดขึ้นกับเท้าข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้
ส้นเท้าแตกโดยทั่วไปไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่สำหรับผู้ที่มีส้นเท้าแตกลึกอาจทำให้รู้สึกเจ็บหรืออาจมีเลือดออก และอาจนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่เท้าได้ นอกจากนี้ เมื่อลงน้ำหนักที่ส้นเท้าซึ่งแห้งแตกอยู่แล้วเป็นประจำ แรงกดที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ อาจทำให้เกิดตาปลาที่ส้นเท้า ลักษณะเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลเข้ม หากตาปลามีขนาดใหญ่มากขึ้นและลึกขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้รู้สึกเจ็บเมื่อยืนหรือทิ้งน้ำหนักลงบนส้นเท้าได้
ปัจจัยเสี่ยงส้นเท้าแตกอาจมีนี้
- อายุ สภาพผิวจะเสื่อมลงตามอายุที่มากขึ้น อาจผลิตน้ำมันเคลือบผิวได้น้อยลง ปริมาณคอลลาเจนในชั้นผิวที่ช่วยให้ผิวหนังยืดหยุ่นลดลง และผิวหนังอาจบางลง ส่งผลให้ผิวแห้ง กร้าน และอาจทำให้ส้นเท้าแตกได้
- การบาดเจ็บ การเสียดสีกับพื้นผิวที่หยาบบ่อยครั้ง หรือการสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่รุนแรง เช่น อากาศแห้ง เป็นเวลานานหลายปี อาจส่งผลให้ส้นเท้าบาดเจ็บ แห้งแตกได้
- การไม่ดูแลส้นเท้า เช่น การไม่สวมถุงเท้า การไม่ทาครีมบริเวณส้นเท้า การเดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็ง อาจทำให้ส้นเท้าแตกและแห้งกร้าน
- ภาวะสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot) อาจทำให้ส้นเท้าแตกได้
วิธีแก้ส้นเท้าแตก
วิธีแก้ส้นเท้าแตก อาจทำได้ดังนี้
- ใช้ครีมทาเท้า (Foot cream) ที่มีส่วนผสม เช่น ยูเรีย กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha-hydroxy acid) แซคคาไรค์ ไอโซเมอเรท (Saccharide isomerate) ซึ่งช่วยให้ผิวหนังอ่อนนุ่มขึ้น และช่วยขจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว อาจช่วยให้ส้นเท้าหนาน้อยลง และเรียบเนียนขึ้น โดยควรทาครีมขณะที่ผิวหมาด ๆ หลังอาบน้ำเสร็จ เพื่อช่วยให้กักเก็บความชุ่มชื้นไว้ในผิวได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนประกอบดังกล่าวอาจทำให้แสบหรือระคายเคืองผิวได้ จึงควรทดสอบก่อนใช้ หรือหากใช้แล้วเกิดผลข้างเคียง ควรเลิกใช้แล้วเปลี่ยนไปใช้ครีมทาเท้าที่มีส่วนประกอบอื่นแทน
- ก่อนนอนให้ทาปิโตรเลียมเจลลี (Petroleum jelly) บริเวณส้นเท้าที่แตก เพื่อให้ความชุ่มชื้นและฟื้นบำรุงรอยแตกที่ส้นเท้า แล้วสวมถุงเท้าเพื่อป้องกันไม่ให้คราบมันเลอะที่นอน
- ทาพลาสเตอร์เจลฟิล์มใสหรือฟิล์มใสกันน้ำ (Liquid bandage) ที่รอยแตกของส้นเท้าเมื่อต้องเดินเยอะ ๆ อาจช่วยสร้างเกราะป้องกันให้กับส้นเท้า ลดอาการเจ็บ เร่งการสมานตัวของผิวหนัง และยับยั้งไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ผิว
สำหรับอาการส้นเท้าแตกที่มีอาการรุนแรงหรือไม่สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นด้วย วิธีแก้ส้นเท้าแตก ดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรปรึกษากับคุณหมอผิวหนังเพื่อรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมกับอาการมากที่สุด
การดูแลส้นเท้าเพื่อป้องกันไม่ให้แห้งแตก
การดูแลส้นเท้าเพื่อป้องกันไม่ให้แห้งแตก อาจทำได้ดังนี้
- ทาครีมทาเท้าหรือโลชั่นเป็นประจำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวและป้องกันไม่ให้ผิวหนังแห้งแตกจนทำให้ส้นเท้าแตก โดยควรทาหลังอาบน้ำเสร็จใหม่ ๆ ขณะที่ผิวหนังอ่อนนุ่ม ช่วยให้เนื้อครีมซึมสู่ผิวได้ง่ายขึ้น
- หากผิวหนังที่ส้นเท้าหนากว่าปกติ สามารถแช่เท้าในน้ำ 10-15 นาที แล้วจึงใช้หินภูเขาไฟตะไบผิวหนังบริเวณส้นเท้าที่หนาหรือด้านอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและหนังบริเวณส้นเท้าที่แห้งเป็นขุยออกไป และช่วยให้ครีมที่ทาสามารถดูดซึมเข้าสู่ผิวและให้ความชุุ่มชื้นได้ดีขึ้น
- ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์เข้มข้นที่ปราศจากน้ำหอมทาบริเวณส้นเท้า เพื่อช่วยไม่ให้ผิวแห้งจนเกินไป และป้องกันเท้าสูญเสียน้ำมันตามธรรมชาติ หากส้นเท้าหนาควรเลือกใช้ครีมที่มีส่วนผสมของยูเรียหรือกรดซาลิไซลิค
- รักษาความสะอาดของเท้าอยู่เสมอ และเช็ดเท้าให้แห้งทันทีหากเท้าสัมผัสน้ำ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เย็นหรือแห้งจัด เพราะอาจทำให้ส้นเท้าแตกได้
- ไม่ควรอาบน้ำอุ่นเกินเกิน 5-10 นาที เพื่อป้องกันการสูญเสียความชุ่มชื้นในชั้นผิวที่อาจทำให้ส้นเท้าแห้งแตกหรือทำให้อาการส้นเท้าแตกแย่ลงกว่าเดิม
- สวมถุงเท้าหรือรองเท้าแตะภายในบ้าน เพื่อช่วยไม่ให้ส้นเท้าเสียดสีกับพื้นผิวโดยตรง
- สวมรองเท้าที่รองรับแรงกระแทกจากการเดินหรือวิ่งได้ดี ช่วยลดการกระแทกของส้นเท้ากับพื้นผิวแข็ง ๆ และเลือกรองเท้าที่มีขนาดพอดี ไม่บีบรัดเท้า