backup og meta

รักษาสิวผด มีวิธีอะไรบ้าง และป้องกันได้อย่างไร

รักษาสิวผด มีวิธีอะไรบ้าง และป้องกันได้อย่างไร

รักษาสิวผด หมายถึง การรักษาสิวที่มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ  ตามบริเวณใบหน้า หน้าผาก หน้าอก หรือแผ่นหลัง ซึ่งเกิดจากอากาศร้อน แพ้เหงื่อ สัมผัสเชื้อแบคทีเรีย รา บางชนิด มีน้ำมันส่วนเกินบนใบหน้า หรือร่างกายผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนมากเกินไป ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง รักษาสิวผดสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะ การใช้ยาทาสิวที่มีสรรพคุณต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยทำให้ผิวแห้ง และผลัดเซลล์ผิว การดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้สิวผดเป็นเพิ่มขึ้นและป้องกันสิวผดกลายเป็นสิวเชื้อรา สิวอักเสบ หรือสิวอุดตัน

[embed-health-tool-bmi]

สิวผดคืออะไร

สิวผดเป็นปัญหาผิวหนังแบบหนึ่ง มีลักษณะเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ จำนวนมากบนผิวหนัง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 มิลลิเมตร สิวผดเกิดขึ้นได้ตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิหน้าผาก คาง ต้นแขน หัวไหล่ หน้าอก แผ่นหลัง

สาเหตุหลักของสิวผดคือความร้อนและแสงแดดซึ่งทำให้ร่างกายมีเหงื่อออกมาจนต่อมเหงื่อไม่สามารถระบายเหงื่อออกได้หมด ส่งผลให้เกิดการอุดตันเป็นตุ่มสิวเล็ก ๆ แต่ไม่มีหนองหรือหัวสิว โดยมักเกิดหลังจากออกแดดไปแล้ว 1-3 วัน และหายเองได้ เพียงแต่อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ มักไม่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้ ยกเว้นแคะ แกะ เกา บีบ สิวจนทำให้เกิดการติดเชื้อเพราะสิวผดอาจพัฒนากลายเป็นสิวอักเสบหรือสิวอุดตันได้

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ นอกเหนือจากความร้อนและเหงื่อที่ทำให้เป็นสิวผดได้แก่

  • อาการแพ้สารประกอบในผลิตภัณฑ์ดูแลหรือประทินผิวต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง ครีมกันแดด น้ำหอม รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่ไม่เหมาะกับสภาพผิว จนอาจทำให้เกิดอาการแพ้
  • การล้างหน้าไม่ถูกวิธี เช่น การล้างด้วยน้ำอุ่น ล้างบ่อย ๆ รวมถึงการเช็ดหน้าแรง ๆ หลังล้างหน้าเสร็จ ซึ่งทำให้ใบหน้าระคายเคือง
  • ติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราในกลุ่มมาลาสซีเซีย (Malassezia)
  • อาการแพ้ จากมลภาวะต่าง ๆ เช่น น้ำ ฝุ่น
  • ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่อ่อนแอ

รักษาสิวผด มีวิธีอย่างไรบ้าง

รักษาสิวผด อาจทำได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • ทายาปฏิชีวนะ เช่น ยาทากลุ่มวิตามิน A  ซึ่งเป็นยาที่นิยมใช้รักษาและป้องกันการเกิดสิว เพราะมีคุณสมบัติช่วยป้องกันการก่อตัวของสิว ช่วยลดอาการบวมและอักเสบที่ผิวหนัง หรือเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) อันมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วไม่ให้อุดตันรูขุมขนและต่อมเหงื่อ
  • ทาสารสกัดจากคาโมมายล์ บริเวณสิวผด เพื่อลดการระคายเคืองหรืออักเสบ รวมทั้งป้องกันการอุดตันของผิวหนัง และช่วยยับยั้งและต้านเชื้อแบคทีเรีย
  • รับประทานยาแก้แพ้ เพื่อลดอาการคัน ซึ่งบางครั้งอาจเกิดร่วมกับสิวผด
  • หลีกเลี่ยงการเกาหรือบีบสิว เพื่อป้องกันสิวผดอักเสบมากกว่าเดิม รวมทั้งป้องกันการติดเชื้อและลุกลามจนกลายเป็นสิวอักเสบได้
  • ประคบเย็น หากบริเวณที่เป็นสิวผดมีอาการบวมแดงร่วมด้วย ความเย็นอาจช่วยลดการอักเสบของผิวหนังบริเวณนั้น

สิวผด ป้องกันได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

นอกจากวิธี รักษาสิวผด อาจดูแลตนเองเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นสิวผด โดยสามารถทำได้ดังนี้

  • ทาครีมกันแดด ทุกครั้งก่อนออกนอกบ้าน ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป บริเวณใบหน้า ลำคอ และผิวหนังในส่วนที่อาจต้องสัมผัสกับแสงแดด เช่น แขน ขา เพื่อป้องกันอันตรายจากแสงอาทิตย์ หากกังวลว่าจะมีอาการแพ้ หรืออุดตัน อาจใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติปราศจากสารเคมี เนื้อบางเบา ครีมที่ไม่มีส่วมผสมของอิมัลซิไฟเออร์และไขมัน และเลือกให้เหมาะกับสภาพผิว หากผิวมันอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดในรูปแบบของเจลหรือสเปรย์
  • หลีกเลี่ยงการออกแดดเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ช่วยปกปิดผิวหนัง หรือหาอุปกรณ์ป้องกันหากต้องอยู่กลางแจ้ง เช่น หมวกปีกกว้าง ร่ม ผ้าคลุมศีรษะ แว่นตากันแดด
  • ล้างหน้าอย่างถูกวิธี เช่น ล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง ล้างหน้าด้วยน้ำเปล่าอุณหภูมิปกติ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่อ่อนโยนต่อผิว เพื่อป้องกันอาการแพ้จากสารที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง หรือทำให้ใบหน้าหน้าแห้ง และหลีกเลี่ยงการเช็ดหรือขัดถูหน้าแรง ๆ อันเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดสิวผด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน: สิวเชื้อรา และการรักษา. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/272/การรักษาสิว-สิวเชื้อรา/. Accessed July6, 2022.

Mallorca-Akne (Acne aestivalis). https://www.researchgate.net/publication/300805547_Mallorca-Akne_Acne_aestivalis. Accessed July6, 2022.

Acne aestivalis. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/125069/. Accessed July6, 2022.

Malassezia-Associated Skin Diseases, the Use of Diagnostics and Treatment. https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fcimb.2020.00112/full. Accessed July6, 2022.

Emulsifier. https://www.britannica.com/science/emulsifier. Accessed July6, 2022.

คลังข้อมูลยา. https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/QA_full.php?id=2147. Accessed July6, 2022.

 

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/07/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฉีดสิว เหมาะกับใคร มีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง

วิธีลดรอยแดงจากสิว มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา