backup og meta

ลดสิวผด ป้องกันสิวขึ้นซ้ำควรทำอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    ลดสิวผด ป้องกันสิวขึ้นซ้ำควรทำอย่างไร

    สิวผด คือ ปัญหาผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นเมื่อท่อเหงื่ออุดตันจากเซลล์ผิวเก่า สิ่งสกปรก และเหงื่อ โดยอาจสังเกตได้จากตุ่มเล็ก ๆ คล้ายสิวไม่มีหัวขึ้นบริเวณหน้าผาก แก้ม และกรอบหน้า สิวผดสามารถหายไปได้เองแต่สำหรับผู้ที่ต้องการ ลดสิวผด อย่างเร่งด่วนอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยยาที่คุณหมอแนะนำ รวมถึงควรศึกษาวิธีการดูแลผิวอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้สิวผดขึ้นซ้ำ

    สิวผด เกิดจากอะไร

    สิวผดเกิดจากการอุดตันของท่อเหงื่อ ทำให้เหงื่อไม่สามารถระบายออกและสะสมอยู่ภายในรูขุมขนใต้ผิวหนัง นำไปสู่การอักเสบ หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มมาลาสซีเซีย (Malassezia species) โดยสังเกตได้จาก ตุ่มนูนเล็ก ๆ คล้ายสิวไม่มีหัว พบได้มากบริเวณหน้าผาก แก้ม หน้าอก และหลัง

    นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบางอย่างที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา รวมถึงเพิ่มการขับเหงื่อที่นำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนจนก่อให้เกิดสิวผด ดังนี้

  • สภาพอากาศที่ร้อนชื้น
  • การออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายขับเหงื่อ
  • การสวมเสื้อผ้าหลายชั้น รัดรูป หรือระบายอากาศไม่ดี ทำให้มีเหงื่อออกมากและเพิ่มความอับชื้นนำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา จนเกิดเป็นสิวผด
  • การนอนติดเตียงเป็นเวลานาน
  • สิวผดอาจพบบ่อยในเด็กทารก เนื่องจากท่อเหงื่อยังพัฒนาไม่สมบูรณ์
  • วิธีลดสิวผด

    วิธีลดสิวผด อาจทำได้ดังนี้

    วิธีลดสิวผดด้วยตัวเอง

    • ประคบเย็น นำผ้าสะอาดชุบกับน้ำเย็นหรืออาบน้ำเย็น เพื่อช่วยลดอุณหภูมิของผิว และช่วยลดสิวผด
    • คาลาไมน์โลชั่น ใช้สำหรับทาผิวบริเวณที่ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันที่เกิดจากสิวผด
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เช่น มอยเจอร์ไรเซอร์ เครื่องสำอาง ครีมกันแดด เพราะอาจก่อให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน
    • ทำความสะอาดผิวหน้าเป็นประจำ เพื่อขจัดน้ำมัน เซลล์ผิวเก่า และสิ่งสกปรกที่ตกค้างบนใบหน้า ซึ่งอาจช่วยลดสิวผดได้

    วิธีลดสิวผดด้วยวิธีทางการแพทย์

    วิธีลดสิวผดด้วยวิธีทางการแพทย์ อาจเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวผดจากการติดเชื้อรา โดยคุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยา ดังต่อไปนี้

  • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) มีในรูปแบบครีม โลชั่น แชมพูและแบบรับประทาน ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรใช้วันละ 1-2 ครั้ง และควรทำความสะอาดผิวและซับผิวให้แห้งก่อนทายา สำหรับรูปแบบรับประทานควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง พร้อมอาหาร เพื่อป้องกันอาการปวดท้อง
  • โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) มีในรูปแบบครีม ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรทำความสะอาดผิวบริเวณที่ได้รับผลกระทบและเช็ดผิวให้แห้งก่อนทา ควรทาวันละ 2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด
  • ไมโคนาโซล (Miconazole) มีในรูปแบบครีม ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรทำความสะอาดผิวและเช็ดผิวให้แห้งก่อนทา ควรทาวันละ 2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด นอกจากนี้ ยังมีในรูปแบบสเปรย์ที่ควรเขย่าขวดก่อนใช้ แต่ควรระวังไม่ให้ละอองเข้าสู่ดวงตา ปาก และจมูก
  • อีโคนาโซล (Econazole) มีในรูปแบบครีม ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรทำความสะอาดผิวและเช็ดผิวให้แห้งก่อนทา ควรทาวันละ 1-2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด
  • ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) เป็นยาสำหรับรับประทานในรูปแบบเม็ดและแบบน้ำ ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อรา ควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง สำหรับยาในรูปแบบน้ำควรเขย่าขวดก่อนรับประทานและใช้ช้อนสำหรับรับประทานยาโดยเฉพาะหรือใช้ถ้วยตวงยาเพื่อให้ได้รับปริมาณยาตามที่คุณหมอกำหนด
  • ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) เป็นยาสำหรับรับประทานในรูปแบบแคปซูล ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรรับประทานพร้อมอาหารวันละ 1-2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด และควรกลืนทั้งเม็ด ไม่ควรแบ่งยา
  • การดูแลผิวเพื่อลดสิวผด

    การดูแลผิวเพื่อลดสิวผดและป้องกันสิวผดขึ้นซ้ำ อาจทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน โดยอาจเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยถ่ายเทอากาศ ทำให้บริเวณนั้นมีอุณหภูมิเย็นขึ้น เพื่อช่วยลดการขับเหงื่อ ที่อาจส่งผลให้อุดตันในรูขุมขนและเกิดสิวผด
    • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้ารัดรู หรือการสวมเสื้อผ้าหลายชั้น และควรเลือกสวมเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย ที่ระบายอากาศและเหงื่อได้ดี ซึ่งอาจช่วยลดสิวผดได้
    • อาบน้ำเย็นแทนน้ำอุ่น และไม่ควรอาบน้ำนานเกินไป รวมถึงควรเลือกใช้สบู่หรือเจลอาบน้ำที่ปราศจากน้ำหอม เพื่อป้องกันผิวแห้งและระคายเคือง
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพื่อลดการอุดตันของท่อเหงื่อและรูขุมขน
    • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจกระตุ้นการขับเหงื่อ เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) และยาในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) หรือหากจำเป็นต้องใช้ยาควรดูแลตัวเองร่วมกับวิธีข้างต้น เพื่อป้องกันเหงื่ออุดตันในรูขุมขน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา