backup og meta

สิวขึ้นรอบปาก สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    สิวขึ้นรอบปาก สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

    สิวขึ้นรอบปาก อาจเกิดจากเซลล์ผิวที่ตายแล้วอุดตันในรูขุมขน การติดเชื้อแบคทีเรีย การสัมผัสกับใบหน้าบ่อย เป็นต้น โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสิวรอบปาก เช่น อายุ พันธุกรรม ฮอร์โมนในร่างกาย การใช้เครื่องสำอาง ความเครียด อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะและครีมที่มีส่วนผสมของสารลดสิวอย่างกรดวิตามินเอ เบนโซอิล เปอร์ออกไซด์ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนวิธีทำความสะอาดและดูแลผิวหน้าให้เหมาะสมและการงดบุหรี่ อาจช่วยรักษาสิวที่ขึ้นรอบปากและช่วยไม่ให้กลับเป็นสิวซ้ำได้

    สิวขึ้นรอบปาก เกิดจากอะไร

    สิวบนใบหน้า รวมไปถึงสิวที่ขึ้นรอบปาก มักเกิดจากต่อมไขมันสร้างซีบัม (Sebum) หรือน้ำมันที่ช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นให้แก่ผิวออกมามากเกินไป เมื่อซีบัมรวมตัวกับเซลล์ผิวที่ตายแล้วและสิ่งสกปรกบนผิวอาจทำให้รูขุมขนอุดตัน จนเกิดสิวรูปแบบต่าง ๆ เช่น สิวอักเสบ สิวอุดตัน สิวหัวดำ สิวบนในหน้าหรือสิวรอบปากในบางกรณีอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างเชื้อคูติแบคทีเรียม แอคเน่ (Cutibacterum acnes) หรือที่รู้จักกันในชื่อเชื้อพี แอคเน่ (P. acnes หรือ Propionibacterium acnes) ซึ่งทำให้ต่อมไขมันและรูขุมขนอักเสบจนเกิดสิว โดยแบคทีเรียชนิดนี้จะยิ่งเจริญเติบโตได้ดีหากรูขุมขนมีสิ่งอุดตันในปริมาณมาก

    ปัจจัยเสี่ยงสิวขึ้นรอบปาก

    การสัมผัสหรือเสียดสีผิวหนังบริเวณรอบปากและคางบ่อยครั้ง ซึ่งอาจเป็นผลจากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การสวมหมวกกันน็อกแบบรัดคาง การทาลิปสติก การเล่นเครื่องดนตรีที่สัมผัสหรือเสียดสีบริเวณปากและคางอย่างฟรุตหรือไวโอลิน การใช้มีดโกนขนหรือหนวด การใช้มือสัมผัสใบหน้า รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดสิวรอบปากได้

    • อายุ คนสามารถเป็นสิวได้ทุกวัย แต่วัยรุ่นมักเป็นสิวได้บ่อยกว่าช่วงวัยอื่น ๆ เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่มีระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงมากกว่าปกติ
    • พันธุกรรม ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นสิว อาจเสี่ยงเป็นสิวได้ง่ายและบ่อยกว่าคนทั่วไป
    • ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เมื่อระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนเพิ่มขึ้นอาจทำให้ต่อมไขมันขยายใหญ่ขึ้นและขับซีบัมมากเกินไป เมื่อรวมกับสิ่งสกปรกและเซลล์ผิวที่ตายแล้วอาจอุดตันรูขุมขน และเกิดสิวขึ้นรอบปากได้
    • การใช้ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลิเธียม (Lithium) อาจเสี่ยงเกิดสิวบนใบหน้า รวมถึงรอบปากและคางได้
    • ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เช่น โลชั่น มอยส์เจอร์ไรเซอร์ ลิปบาล์ม รวมไปถึงเครื่องสำอางบางชนิด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน อาจเพิ่มความมันส่วนเกินบนใบหน้าและทำให้เกิดสิวได้ โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้ทำความสะอาดผิวให้ดี
    • อาหารบางชนิด เช่น นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว อาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูงอย่างขนมปังขาว เค้ก เป็นต้น อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตซีบัมมากขึ้น เมื่อซีบัมรวมตัวกับเซลล์ผิวที่ตายแล้วและสิ่งสกปรก เช่น ฝุ่นควัน ก็อาจอุดตันรูขุมขนจนเกิดสิวได้
    • ความเครียด ความเครียดอาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลที่กระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตซีบัมมากเกินไปจนเสี่ยงอุดตันรูขุมขนและเกิดสิวขึ้นรอบปาก ทั้งยังอาจทำให้สิวที่เป็นอยู่แย่ลงได้

    สิวขึ้นรอบปาก รักษายังไง

    การรักษาสิวที่ขึ้นรอบปาก อาจทำได้ดังนี้

    • ใช้ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของกรดวิตามินเอหรือเรตินอยด์ เช่น เตรติโนอิน (Tretinoin) อะดาพาลีน (Adapalene) ทาซาโรทีน (Tazarotene) อาจช่วยลดการอุดตันของเซลล์ผิวที่ตายแล้วในรูขุมขน และกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวใหม่ ทำให้สิวขึ้นน้อยลงได้ อย่างไรก็ตาม วิตามินเอมีฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิว ผู้ที่มีผิวบอบบางจึงควรทดสอบการแพ้ครีมก่อน โดยทาครีมปริมาณเล็กน้อยที่ผิวหนังบริเวณท้องแขนหรือข้อพับ ทิ้งไว้สักพักจึงสังเกตอาการแพ้ หากทดสอบแล้วผิวระคายเคืองควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเกี่ยวกับยารักษาสิวตัวอื่นที่เหมาะสมขึ้น
    • ใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น คลินดาไมซิน (Clindamycin) อาจช่วยลดปริมาณและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ลดการอักเสบและรอยแดง โดยอาจใช้ร่วมกับเบนโซอิล เปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและช่วยลดการอุดตันของเซลล์ผิวที่ตายแล้วด้วยการกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวใหม่
    • ใช้ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของกรดอะเซลาอิก (Azelaic acid) และกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ซึ่งเป็นกรดธรรมชาติที่ช่วยลดการอุดตันในรูขุมขน ด้วยการเร่งการผลัดเซลล์ผิวและสลายซีบัมที่อุดตันในรูขุมขน
    • หลีกเลี่ยงการบีบหรือแกะสิว เพราะอาจทำให้สิวหายช้าลง เกิดรอยแผลเป็น และทำให้สิวลุกลามได้
    • ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่อ่อนโยนต่อผิวและไม่เพิ่มความมันบนผิว เช่น โฟมล้างหน้าที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ น้ำหอม หรือน้ำมัน
    • ป้องกันผิวจากแสงแดดด้วยการทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไปเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อออกแดด และควรทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เนื่องจากการใช้ยารักษาสิวบางชนิด เช่น กรดวิตามินเอ อาจทำให้ผิวไวต่อแสงแดดได้
    • หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลภาวะหรือฝุ่นควันเยอะ เพราะอาจทำให้ผิวหน้าระคายเคืองและมีสิ่งสกปรกสะสมจนก่อให้เกิดสิวได้
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษในบุหรี่อาจกระตุ้นการผลิตซีบัมและลดวิตามินอีในผิว อาจทำให้เกิดสิวและยังทำให้สิวหายได้ช้าลง

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสิวขึ้นรอบปาก

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสิวขึ้นรอบปาก อาจทำได้ดังนี้

    • ล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่เหมาะสมกับสภาพผิวของตัวเองอย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน หลีกเลี่ยงการล้างหน้าเกิน 2 ครั้ง เนื่องจากอาจทำให้ผิวหน้าแห้งเกินไปจนต่อมไขมันยิ่งผลิตซีบัมมากขึ้น และหลังล้างหน้าควรซับหน้าให้แห้งด้วยกระดาษทิชชูหรือผ้าขนหนูสะอาด ไม่ขัดถูผิวหน้าแรง ๆ
    • หลีกเลี่ยงการใช้มือหรือสิ่งของต่าง ๆ สัมผัสหรือเสียดสีใบหน้าและรอบปาก เพื่อป้องกันผิวบริเวณนั้นสัมผัสสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรค
    • หลีกเลี่ยงการออกแดดหรืออยู่ในที่อากาศร้อนเป็นเวลานาน เพื่อไม่ให้เหงื่อออกมากจนเสี่ยงเกิดสิว หากมีเหงื่อออก ควรรีบซับเหงื่อให้แห้งด้วยกระดาษทิชชูหรือผ้าสะอาด
    • สระผมอย่างน้อย 2-3 วัน/ครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีผมปรกหน้าหรือสัมผัสใบหน้าเป็นประจำ แต่ไม่ควรสระผมบ่อยเกินไปเนื่องจากอาจทำให้ผมมันเร็ว
    • ใช้เครื่องสำอางที่ไม่ก่อให้เกิดสิว (Non-comedogenic products) หรือไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน และควรเช็ดล้างเครื่องสำอางด้วยผลิตภัณฑ์เช็ดเครื่องสำอางก่อน จึงค่อยล้างหน้าให้สะอาดก่อนเข้านอน

    สิวขึ้นรอบปาก ควรไปพบคุณหมอหรือไม่

    ตามปกติแล้ว การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมและใช้ยารักษาสิวและรอยสิว สามารถช่วยให้สิวที่ขึ้นรอบปากยุบและค่อย ๆ หายไปได้เอง แต่หากสิวไม่หาย มีสิวขึ้นที่เดิมบ่อยครั้ง และมีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น ผิวแดง คัน เป็นหนองลุกลาม ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม สิวขึ้นรอบปากอาจเป็นสัญญาณของโรคบางขนิดได้ด้วย เช่น

    • โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS) เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อที่ทำให้เกิดถุงน้ำหลายใบภายในรังไข่ ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจากโรคนี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีสิว ผมร่วง ผิวหนังคล้ำและหนาขึ้น เป็นต้น
    • โรคเพอริออรัล เดอร์มาไทติส (Perioral dermatitis) หรือโรคผื่นผิวหนังอักเสบ ทำให้มีตุ่มแดงหรือตุ่มหนองคล้ายสิวกระจายรอบปากร่วมกับมีอาการแสบร้อนที่ผิวหนัง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจทำให้มีอาการเรื้อรังเป็นเดือนหรือเป็นปี
    • โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ลักษณะเป็นผื่นแดง ตุ่มหนองหรือตุ่มแดงคล้ายสิว โรคนี้จำเป็นต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา