backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

สิวที่ไม่มีหัว สาเหตุ อาการและการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

สิวที่ไม่มีหัว สาเหตุ อาการและการรักษา

สิวที่ไม่มีหัว เป็นสิวที่เกิดจากการอุดตันของน้ำมันส่วนเกินกับเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ในรูขุมขนภายใต้ผิวหนัง อาจมีลักษณะเป็นตุ่มนูนไม่อักเสบและไม่มีอาการเจ็บปวด นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การใช้ยาบางชนิด หรือกรรมพันธุ์ การรักษาและการป้องกันอาจช่วยลดโอกาสเกิดสิวที่ไม่มีหัวได้

คำจำกัดความ

สิวที่ไม่มีหัว คืออะไร

สิวที่ไม่มีหัว คือ ภาวะทางผิวหนังรูปแบบหนึ่งที่รูขุมขนเกิดการอุดตันใต้ผิวหนัง ด้วยเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และน้ำมันส่วนเกินบนผิว ทำให้เกิดตุ่มนูนแต่ไม่มีหัวหนองหรือการอักเสบ ที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือมีเลือดคั่ง หากสิวที่ไม่มีหัวติดเชื้อแบคทีเรีย ได้รับการเสียดสี หรือความระคายเคือง อาจทำให้เกิดอาการอักเสบ เป็นหนอง และมีอาการเจ็บปวดได้

อาการ

อาการสิวที่ไม่มีหัว

สิวที่ไม่มีหัวมักไม่มีอาการหากไม่ติดเชื้อหรือเกิดการอักเสบ ซึ่งมีลักษณะเป็นสิวที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนัง เป็นตุ่มนูนไม่มีหัว ไม่มีหนอง บางครั้งสิวที่ไม่มีหัวอาจเกิดการอักเสบ มีอาการบวม แดง และเจ็บปวด จากการติดเชื้อด้วยหลายปัจจัย เช่น การบีบ แกะเกา ความระคายเคือง

สาเหตุ

สาเหตุสิวที่ไม่มีหัว

สิวที่ไม่มีหัวอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

  • ฮอร์โมน ในช่วงวัยรุ่นจะเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมาก โดยฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) จะเพิ่มขึ้น ทำให้ต่อมไขมันขยายใหญ่และผลิตน้ำมันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงวัยกลางคนที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงมีประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์ น้ำมันที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดเป็นสิว
  • เชื้อแบคทีเรีย น้ำมัน และเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วอาจเข้าไปอุดตันในรูขุมขน รวมกับน้ำมันส่วนเกินที่ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป ทำให้รู้ขุมขนอุดตันและกลายเป็นสิวที่ไม่มีหัว ในบางกรณีเชื้อแบคเรียอาจเข้าไปอุดตันในรูขุมขนด้วย จนทำให้เกิดการอักเสบกลายเป็นก้อนเนื้อ ตุ่มหนอง หรือซีสต์
  • กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวมีปัญหาสิวเรื้อรัง ปัญหาเหล่านี้อาจสืบต่อทางพันธุกรรมได้เช่นกัน
  • การใช้ยาบางชนิด ยาบางชนิดอาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาสิวได้ เช่น ยาที่มีคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลิเธียม (Lithium)
  • ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดสิวได้ เช่น เครื่องสำอางที่สร้างความระคายเคืองให้กับผิว ความเครียด มลพิษทางอากาศ การเกา บีบ หรือกดสิว และแรงเสียดสีจากสิ่งของเครื่องใช้ เช่น โทรศัพท์ หมวก

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงสิวที่ไม่มีหัว

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดสิวที่ไม่มีหัว ดังนี้

  • อายุ มักเกิดมากในวัยรุ่นและผู้หญิงที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
  • ความระคายเคืองผิวหนังจากเครื่องสำอาง สารเคมี เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันมาก สีย้อมผม การใช้สารเคมีลอกผิว
  • แรงกดหรือการเสียดสี เช่น การบีบ กด เกาสิว การขัดผิวที่รุนแรงเกินไป
  • ไม่ทำความสะอาดผิวเป็นประจำทุกวันจนทำให้รูขุมขนอุดตัน

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยสิวที่ไม่มีหัว

การวินิจฉัยสิวที่ไม่มีหัว คุณหมออาจประเมินอาการของผิวหนังภายนอก ลักษณะ และความรุนแรงของสิวในเบื้องต้น เพื่อเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับสภาพผิวและระดับความรุนแรงของสิว

การรักษาสิวที่ไม่มีหัว

การรักษาสิวที่ไม่มีหัวหากไม่เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง สามารถรักษาได้ด้วยยาที่สามารถซื้อตามร้านขายยาทั่วไป ดังนี้

การรักษาเฉพาะที่

เป็นวิธีรักษาทางผิวหนังโดยตรง ลักษณะของยาอาจเป็นแบบครีมหรือเจล ที่ใช้ทาภายนอก ได้แก่

  • เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) มีลักษณะเป็นครีมหรือเจล คุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง
  • เรตินอยด์ (Retinoids) มีลักษณะเป็นครีมหรือเจล ช่วยเร่งการผลัดเซลล์ผิวและลดการผลิตน้ำมัน
  • ยาปฏิชีวนะ มีลักษณะเป็นครีมหรือเจล ช่วยลดแบคทีเรียบนผิวหนังที่อาจทำให้เกิดสิว

ยารับประทาน

หากสิวเกิดขึ้นเรื้อรังและรุนแรงมากขึ้น หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเฉพาะที่ คุณหมออาจต้องให้ยารับประทานเพิ่มเติม

  • ยาปฏิชีวนะ ช่วยลดแบคทีเรียที่ผิวหนังจากภายในสู่ภายนอก เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin)  อีริโทรมัยซิน (Erythromycin) ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline)
  • รักษาด้วยฮอร์โมน มักใช้รักษาสำหรับผู้หญิงที่มีปัญหาสิว โดยคุณหมออาจให้รับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิว หรือใช้ยาสโปรโนแลคโตน (Spirolactone) เป็นตัวยับยั้งตัวรับฮอร์โมนแอนโดรเจน
  • โคไซปรินดิออล (Co-cyprindiol) ช่วยลดการผลิตน้ำมัน มักใช้ในสิวที่มีอาการรุนแรงมาก

การรักษาสิวที่ไม่มีหัวแบบไม่ใช้ยา

  • ใช้เลเซอร์รักษาสิว 
  • การฉายแสง การฉายแสงแสงสีน้ำเงินลงบนผิวเพื่อปรับปรุงสภาพผิวและช่วยรักษาสิว
  • ฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid injections) กำจัดซีสต์หรือก้อนสิวที่ลึกและเจ็บปวด ช่วยเร่งการรักษาและลดความเสี่ยงเกิดแผลเป็น

การรักษาสิวที่ไม่มีหัวอาจใช้ระยะเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดสิว

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการสิวที่ไม่มีหัว

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันปัญหาสิวไม่มีหัวที่อาจเกิดขึ้น สามารถทำได้ดังนี้

  • ล้างหน้าอย่างน้อยวันละสองครั้งและอาบน้ำเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังออกกำลังกายหรือวันที่อากาศร้อนจนมีเหงื่อออกมาก
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดสิว ปราศจากแอลกอฮอล์ และไม่สร้างความระคายเคือง
  • เมื่อเป็นสิวไม่ควรใช้มือแกะ เกา กด หรือบีบสิว เพราะอาจทำให้สิวติดเชื้อละอักเสบได้ นอกจากนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดแผลเป็นจากสิว
  • ทาครีมกันแดด สวมหมวก และเสื้อผ้าที่ป้องกันยูวี เพราะแสงแดดอาจสร้างความเสียหายให้กับผิวและยารักษาสิวบางชนิดอาจทำให้ผิวไวต่อแสงขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา