backup og meta

สิวผดที่แก้ม สาเหตุ วิธีรักษาและการป้องกัน

สิวผดที่แก้ม สาเหตุ วิธีรักษาและการป้องกัน

สิวผดที่แก้ม มักเกิดจากผิวบริเวณแก้มสัมผัสกับแสงแดดและอากาศร้อน ทำให้เหงื่อออกเยอะ รูขุมขนและต่อมเหงื่ออุดตัน จนเกิดเป็นสิวผดที่แก้ม และอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การติดเชื้อยีสต์ การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ การเสียดสีบริเวณใบหน้าจากหน้ากากอนามัย เส้นผม และปลอกหมอน ทั้งนี้ การดูแลผิวอย่างถูกวิธี เช่น หลีกเลี่ยงอากาศร้อนและสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้ผิวระคายเคือง ทำความสะอาดผิวหน้าให้สะอาดโดยเฉพาะหลังออกแดดหรือเหงื่อออกเยอะ เปลี่ยนหน้ากากอนามัยบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเลอะเหงื่อ อาจช่วยให้สิวผดที่แก้มหายได้ในเวลาไม่นาน และช่วยป้องกันการเกิดสิวชนิดนี้ได้ด้วย

[embed-health-tool-bmi]

สิวผดที่แก้ม เกิดจาก อะไร

สิวผด เป็นสิวที่มีลักษณะเป็นตุ่มขนาดเล็กที่ไม่มีหัวหนองหรือหัวสิวเหมือนสิวทั่วไป มักขึ้นเป็นหย่อม ๆ และทำให้ผิวบริเวณนั้นดูไม่เรียบเนียนเสมอกัน หากผิวอักเสบอาจทำให้มีตุ่มแดงที่ทำให้คันและระคายเคือง หรือเกิดเป็นตุ่มหนอง สิวผดเป็นภาวะทางผิวหนังที่พบได้ในคนทุกวัย โดยเฉพาะในคนที่ผิวบอบบางและแพ้ง่าย

สิวผดอาจเกิดจากการสัมผัสปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดสิว เช่น อากาศร้อนและแสงแดดที่ทำให้เหงื่อออกมาก สารก่อภูมิแพ้อย่างขนสัตว์ สารเคมี สิ่งสกปรก น้ำ หรือมลภาวะ ผิวเสียดสีกับวัตถุอย่างหน้ากากอนามัย ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อยีสต์ในกลุ่มมาลาสซีเซีย (Malassezia species) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ทั่วไปบนผิวหนัง แต่หากเชื้อเจริญเติบโตมากผิดปกติจะทำให้รูขุมขนอุดตันและเกิดสิวผดที่แก้ม รวมถึงผิวบริเวณอื่น ๆ เช่น หน้าผาก คาง แก้มทั้งสองข้าง แขน ขา ตามลำตัว โดยทั่วไป หากดูแลผิวอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงอากาศร้อนและสารก่อภูมิแพ้ จะช่วยให้สิวผดหายไปได้เองภายในเวลาไม่นาน

สิวผดที่แก้ม รักษาอย่างไร

สิวผดที่แก้ม อาจรักษาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การใช้ยากลุ่มวิตามินเอ เช่น ยาทากลุ่มวิตามินเออย่างเตรติโนอิน (Tretinoin) อาจช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน และลดจำนวนและความรุนแรงของสิวผดที่แก้มได้
  • การใช้ยารักษาสิว เช่น เบนโซอิล เปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ที่ออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว อาจช่วยลดจำนวนแบคทีเรีย ลดการสะสมของสิ่งสกปรก ช่วยให้ผิวแห้ง ไม่อุดตันจนเกิดสิวผด
  • การใช้ยาฆ่าเชื้อรา เช่น คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) อาจช่วยรักษาสิวผดที่เกิดจากเชื้อยีสต์ได้
  • การใช้ยาแก้แพ้ (Antihistamine) อาจช่วยบรรเทาอาการคันที่เกิดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ได้
  • การใช้ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) อาจช่วยบรรเทาอาการบวมและคันของสิวผดได้ ทั้งนี้ เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีและหญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งก่อนใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงสัมผัสและแกะเกาสิวผด เพราะอาจทำให้ผิวระคายเคือง สิวหายช้ากว่าปกติ เกิดแผลเป็น และหากสิวผดเกิดจากการติดเชื้อ ก็อาจทำให้เชื้อลุกลามได้ด้วย
  • ทาครีมกันแดด ผู้ที่มีสิวผดควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป และไม่มีส่วนผสมที่อาจทำให้รูขุมขนและต่อมเหงื่ออุดตัน เช่น น้ำมัน น้ำหอม ซิลิโคน
  • ประคบเย็น ด้วยผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด อาจช่วยบรรเทาอาการคัน และลดการอักเสบของผิวหนังที่บวมแดงได้

วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดสิวผดที่แก้ม

วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดสิวผดที่แก้ม อาจทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก เพราะอาจทำให้รูขุมขนอุดตันและก่อให้เกิดสิวผดได้
  • หากสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากชนิดอื่น ๆ ควรเปลี่ยนหน้ากากบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเหงื่อออกมาก
  • ห้องนอนควรมีอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ร้อนจนเกินไป อากาศถ่ายเทได้สะดวก และควรรักษาความสะอาดของผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนให้ดี ด้วยการนำไปซักเป็นประจำอย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์
  • ล้างหน้าให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะหลังออกกำลังกายและทำกิจกรรมที่เหงื่อออกเยอะ และควรล้างเครื่องสำอางบนใบหน้าให้สะอาดหมดจดทุกครั้งก่อนเข้านอน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เหงื่อออกมาก เช่น โคลนิดีน (Clonidine) เบตา บล็อกเกอร์ (Beta blocker) สารในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids)

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Acne. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/symptoms-causes/syc-20368047.  Accessed October 5, 2022

Acne. https://www.healthdirect.gov.au/acne. Accessed October 5, 2022

ACNE: DIAGNOSIS AND TREATMENT. https://www.aad.org/public/diseases/acne/derm-treat/treat. Accessed October 5, 2022

Heat rash. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heat-rash/symptoms-causes/syc-20373276. Accessed October 5, 2022

Heat rash (prickly heat). https://www.nhs.uk/conditions/heat-rash-prickly-heat/. Accessed October 5, 2022

สิวเชื้อรา และการรักษา. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/272/การรักษาสิว-สิวเชื้อรา/. Accessed October 5, 2022

Heat rash. https://www.healthdirect.gov.au/heat-rash. Accessed October 5, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/12/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

สิวผด คืออะไร รักษา และป้องกันอย่างไร

สิวผดเกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา