สิวมีกี่ประเภท อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เนื่องจากลักษณะสิวที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกัน เกิดจากสาเหตุที่ต่างกัน อีกทั้งวิธีการรักษาก็อาจแตกต่างกัน ดังนั้น หากเป็นสิวจึงควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอเกี่ยวกับวิธีการรักษาสิวอย่างเหมาะสม และไม่ควรเลือกใช้ยารักษาสิวเอง เพราะอาจทำให้สิวอักเสบ และอาการของสิวแย่ลง
[embed-health-tool-ovulation]
สาเหตุที่ทำให้เกิดสิว
สิวอาจเกิดขึ้นจากรูขุมขนอักเสบ เนื่องจากต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป อีกทั้งสิ่งสกปรก เซลล์ผิวที่ตายแล้ว และเชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปอุดตันในรูขุมขน จนก่อให้เกิดการอักเสบ ทำให้เกิดเป็นสิวประเภทต่าง ๆ บนผิวหนัง
นอกจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่เป็นตัวกระตุ้นที่นำไปสู่การเกิดสิวหรือทำให้สิวที่เป็นอยู่แย่ลง ดังนี้
- พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเป็นสิว ก็อาจส่งผลให้บุตรหลานมีแนวโน้มเป็นสิวได้เช่นกัน
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หากฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อมีปริมาณเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ต่อมไขมันขยายและผลิตน้ำมันออกมามาก จนอุดตันในรูขุมขนและก่อให้เกิดสิว ซึ่งพบได้มากในช่วงวัยรุ่น
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ลิเทียม (Lithium) ยาฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ที่อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้น
- ความเครียด อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป นำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนที่ก่อให้เกิดสิว หรืออาจทำให้สิวที่เป็นอยู่แย่ลง
- พฤติกรรมการดูแลผิวไม่ดี เช่น การขัดผิวอย่างรุนแรง การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของสารก่อความระคายเคืองและน้ำมัน การล้างหน้าไม่สะอาดหลังแต่งหน้า หรือการแต่งหน้าทิ้งไว้ข้ามคืน อาจส่งผลให้รูขุมขนอุดตันจากเครื่องสำอาง น้ำมันและสิ่งสกปรก รวมถึงอาจส่งผลให้ผิวระคายเคือง นำไปสู่การเกิดสิวหรือทำให้สิวที่เป็นอยู่อักเสบมากขึ้น
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ช็อกโกแลต ของทอด ขนมหวาน อาจมีแนวโน้มทำให้สิวที่เป็นอยู่เกิดการอักเสบและมีอาการแย่ลงได้
สิวมีกี่ประเภท
สิวที่พบได้บ่อย มี 6 ประเภท ดังนี้
- สิวหัวดำ (Blackheads) มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีดำ ซึ่งอาจเกิดจากน้ำมัน เซล์ผิวที่ตายแล้ว และแบคทีเรียเข้าไปอุดตันในรูขุมขน ทำให้เกิดเป็นสิวหัวเปิด เมื่อสัมผัสกับอากาศจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) และทำให้หัวสิวมีสีเข้มขึ้นจนกลายเป็นสีดำ
- สิวหัวขาว (Whiteheads) เป็นสิวหัวปิดที่มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ คล้ายสิวหัวดำนูนขึ้นมาจากใต้ผิวหนัง ไม่สามารถกดให้หัวสิวออกมาได้
- สิวตุ่มนูนแดง (Papule) เป็นสิวอักเสบที่มีลักษณะตุ่มหนองเล็ก ๆ ที่มีเลือดปนและอาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดเมื่อสัมผัสหรือถูกเสียดสี
- สิวหัวหนอง (Pustule) มีลักษณะคล้ายสิวตุ่มนูนแดง แต่จะมีการสะสมของหนองสีขาวอยู่บริเวณตรงกลางและผิวหนังสีแดงอยู่รอบนอก
- สิวอักเสบ (Nodule) เป็นสิวหัวปิดที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนใหญ่และแข็งที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด
- สิวซีสต์ (Cyst) เป็นสิวที่รุนแรงที่สุด มีลักษณะเป็นก้อนหนองขนาดใหญ่สะสมใต้ผิวหนัง อาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดและเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นถาวร
วิธีรักษาสิว
เมื่อทราบแล้วว่า สิวมีกี่ประเภท ก็ควรรักษาสิว ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
วิธีรักษาสิวด้วยเทคนิคทางการแพทย์
- ยาเรตินอยด์ เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) เตรทติโนอิน (Tretinoin) ทาซาโรทีน (Tazarotene) เหมาะสำหรับใช้ยารักษาสิวหัวดำ สิวหัวขาว สิวตุ่มนูนแดง สิวหัวหนอง สิวอักเสบและสิวซีสต์ ใช้เพื่อช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน โดยในช่วงแรกควรทายาเพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จนกว่าผิวจะชินกับยา แล้วจึงปรับเป็นทาทุกวันตามช่วงเวลาที่คุณหมอแนะนำ ยาเรตินอยด์อาจทำให้ผิวไวต่อแสง ทำให้ผิวหมองคล้ำ ดังนั้นจึงควรทาครีมกันแดดร่วมด้วยหรืออาจใช้ทาในช่วงก่อนนอน
- ยาปฏิชีวนะ ในรูปแบบทา เช่น คลินดามัยซิน (Clindamycin) เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) หรือรูปแบบรับประทาน เช่น ยาแมคโครไลด์ (Macrolide) ยาเตตราไซคลีน (Tetracyclines) เหมาะสำหรับผู้เป็นสิวตุ่มนูนแดง สิวหัวหนอง สิวอักเสบ และสิวซีสต์ ใช้เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดสิว ช่วยลดการอักเสบของสิว และลดรอยแดง คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ร่วมกับยาในกลุ่มเรตินอยด์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาสิวและป้องกันการดื้อยา โดยควรทายาปฏิชีวนะในช่วงเช้า และทายากลุ่มเรตินอยด์ช่วงเวลาก่อนนอน
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวอุดตัน สิวตุ่มนูนแดง สิวหัวหนอง สิวอักเสบ และสิวซีสต์ ใช้เพื่อช่วยป้องกันการอุดตันในรูขุมขน และต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยทาบริเวณที่มีสิวแล้วล้างออก หรือทาทิ้งไว้ข้ามคืนตามคำแนะนำของคุณหมอ
- ยาคุมกำเนิด ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินและเอสโตรเจน ที่อาจช่วยปรับความสมดุลของฮอร์โมน และควรใช้ร่วมกับวิธีรักษาสิวอื่น ๆ ผลข้างเคียงของการรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิวคืออาจส่งผลให้รู้สึกคลื่นไส้ น้ำหนักขึ้น เจ็บหน้าอก เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทาน
- ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน อาจช่วยชะลอการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เป็นสาเหตุทำให้ต่อมไขมันขยาย และส่งผลให้ผลิตน้ำมันมากขึ้น จนนำไปสู่การอุดตันในรูขุมขน
นอกจากนี้ ยังมีการฉีดยาสเตียรอยด์ (Steroid) การกดสิว การกรอผิว การบำบัดด้วยแสง และการผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี โดยคุณหมออาจพิจารณาตามสภาพผิว ประเภทของสิว และอาการของสิวก่อนการรักษา
วิธีรักษาสิวด้วยตัวเอง
- ล้างหน้าให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อกำจัดน้ำมันส่วนเกิน สิ่งสกปรก และเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ช่วยป้องกันการอุดตันในรูขุมขนที่อาจก่อให้เกิดสิวขึ้นใหม่หรือทำให้อาการของสิวที่เป็นอยู่แย่ลง
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน เพราะอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน
- ก่อนเข้านอน ควรล้างเครื่องสำอางที่อยู่บนผิวออกให้หมด ไม่ควรนอนทั้งที่ยังแต่งหน้า เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน
- ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป หรือสวมหมวกปีกกว้าง เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยารักษาสิวที่อาจทำให้ผิวไวต่อแสง
- ใช้ยารักษาสิวตามที่คุณหมอแนะนำสม่ำเสมอ
- ไม่ควรบีบสิวด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้สิวที่เป็นอยู่อักเสบ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาสิวอย่างถูกต้อง