backup og meta

สิวเห่อ เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    สิวเห่อ เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไรบ้าง

    โดยทั่วไป ต่อมไขมันจะผลิตซีบัมหรือน้ำมันเคลือบผิวออกมาเพื่อช่วยให้ผิวชุ่มชื้น แต่หากมีน้ำมันมากเกินไป น้ำมันส่วนเกินอาจรวมตัวกับเซลล์ผิวที่ตายและสิ่งสกปรกจนทำให้รูขุมขนอุดตันและเกิดสิวได้ และหากผิวบริเวณนั้นติดเชื้อแบคทีเรียก็อาจส่งผลให้สิวรุนแรงขึ้น ลักษณะและความรุนแรงของสิวที่พบจะแตกต่างกันไป แต่บางครั้งสิวอาจขึ้นรุนแรง หรือที่เรียกว่า สิวเห่อ ซึ่งอาจเกิดจากผิวหน้าสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เร่งการผลัดเซลล์ผิว ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เป็นต้น ทั้งนี้ การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เช่น ใช้ยาแต้มสิว หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงทำให้สิวลุกลาม อาจช่วยให้สิวที่เห่อดีขึ้นได้

    สิวเห่อ เกิดจากอะไร

    สิวเห่อที่พบโดยทั่วไปแบ่งได้เป็นสิวเห่อดีและสิวเห่อร้าย ซึ่งแต่ละชนิดอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • สิวเห่อดี (Skin Purging) เป็นสิวตุ่มขนาดเล็กขึ้นกระจายตัวบนผิวหนัง อาจเกิดจากการลองใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น เรตินอยด์ กรดเอเอชเอ (AHA) ที่มีความเข้มข้นสูงและออกฤทธิ์เร่งการผลัดตัวของเซลล์ผิว ผิวจึงอาจพยายามกำจัดสารเหล่านั้นออกไปในรูปแบบสิว ทั้งนี้ เมื่อผิวปรับสภาพได้แล้วก็จะหายได้เร็วกว่าสิวทั่วไป มักเกิดขึ้นบริเวณเดิมที่เคยเกิดสิวเห่อมาก่อน
  • สิวเห่อร้าย (Breakout) เป็นสิวที่ขึ้นกระจายตามผิวหนัง อาจเป็นสิวอักเสบบวมแดง สิวอุดตันแบบหัวดำหรือหัวขาว สิวผดขนาดเล็ก อาจเกิดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ สิ่งสกปรก มลภาวะ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียด งผิวหนังถูกเสียดสีซ้ำ ๆ จากการใส่แมสก์เป็นประจำ เป็นต้น มักเกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่ค่อยเป็นสิว และหายได้ช้ากว่าสิวทั่วไป
  • ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สิวเห่อ

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สิวเห่อ อาจมีดังนี้

    • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เมื่อฮอร์โมนแอนโดรเจนเพิ่มขึ้น อาจทำให้ต่อมไขมันขยายตัวและผลิตน้ำมันออกมามากเกินไปจนมีน้ำมันส่วนเกินบนใบหน้า มักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น นอกจากนี้ ความแปรปรวนของฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน และฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในช่วงก่อนเป็นประจำเดือน ระหว่างตั้งครรภ์ และช่วงหมดประจำเดือน ก็อาจทำให้เกิดสิวได้เช่นกัน
    • ภาวะสุขภาพ การมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน โรคไทรอยด์ ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) จะทำให้ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลและกระตุ้นการเกิดสิว
    • พฤติกรรมการบริโภค การบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เช่น มันฝรั่งทอด น้ำหวาน หมูกระทะ อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้น ส่งผลให้สิวเห่อหรือลุกลามได้
    • ความเครียด เมื่อเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนบางชนิดมากขึ้น เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล ฮอร์โมนแอนโดรเจน จนส่งผลให้ระดับฮอร์โมนดังกล่าวเสียสมดุลและกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน จนอาจทำให้สิวที่เป็นอยู่แย่ลงและลุกลามได้
    • ยาบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาเทสโทสเตอโรน ยาลิเธียม ยากันชัก อาจกระตุ้นให้สิวเห่อได้

    สิวเห่อ ใช้อะไรดี

    การใช้ยารักษาสิวต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาอาการสิวเห่อได้

    • การใช้ยาเฉพาะที่ เช่น ยาเบนโซอิล เปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) กรดอะเซลาอิก (Azelaic acid) อาจช่วยลดจำนวนสิวที่ลุกลามบนผิวหนังได้ บางกรณีอาจใช้ร่วมกับยาทากลุ่มวิตามินเอหรือเรตินอยด์ และยารับประทาน เช่น ยาปฏิชีวนะ ยากลุ่มวิตามินเอ
    • การฉีดยาสเตียรอยด์ อาจช่วยลดความรุนแรงของสิวเห่อที่เป็นสิวอักเสบแดง (Nodules) และสิวซีสต์ (Cyst) ซึ่งเป็นสิวชนิดที่ควรรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดแผลเป็นถาวรบนผิวหนัง
    • การใช้ยาฮอร์โมน สำหรับผู้หญิงที่มีปัญหาสิวเห่อจากฮอร์โมนโดยเฉพาะในช่วงเป็นประจำเดือน คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อลดจำนวนสิวที่ลุกลาม รวมไปถึงยาไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) ที่อาจช่วยปรับสมดุลผิว ลดการผลิตน้ำมัน ช่วยต้านแบคทีเรีย และลดอาการบวมแดง

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสิวเห่อ

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสิวเห่อ อาจทำได้ดังนี้

    • ควรล้างหน้าอย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน ด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เหมาะกับสภาพผิว และควรซับหน้าเบา ๆ ด้วยผ้าขนหนูสะอาดหรือกระดาษเช็ดหน้า หลีกเลี่ยงการถูผิวแรง ๆ เนื่องจากอาจทำให้ผิวระคายเคืองและสิวเห่อได้
    • หลีกเลี่ยงการใช้มือหรือวัตถุอื่น ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ สัมผัสผิวหน้าบ่อย ๆ เพราะอาจมีเชื้อโรคหรือแบคทีเรียที่ทำให้ผิวหน้าเป็นสิวได้
    • ล้างเครื่องสำอางให้สะอาดทุกครั้งก่อนเข้านอน เพื่อลดการสะสมของเครื่องสำอาง เซลล์ผิวที่ตายแล้วและแบคทีเรียในรูขุมขน ซึ่งอาจทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดสิว
    • ควรสระผมเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันและสิ่งสกปรกจากหนังศีรษะและเส้นผมมาสัมผัสกับผิวบริเวณหน้าผากและส่วนอื่น ๆ ของใบหน้าจนทำให้สิวเห่อและลุกลาม ทั้งนี้ ไม่ควรซักสระผมบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้ผมแห้งจนยิ่งกระตุ้นให้ต่อมไขมันที่หนังศีรษะขับน้ำมันออกมาเคลือบผม จนอาจทำให้ผมมันมากขึ้นและเกิดสิวได้
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวสูง อาจช่วยให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันลดลง และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหารูขุมขนอุดตันจนเกิดสิว ทั้งยังดีต่อสุขภาพโดยรวมด้วย
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจากนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดสิว
    • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถควบคุมฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น ฮอร์โมนเครียดอย่างคอร์ติซอล ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หากนอนไม่หลับหรือนอนน้อย คอร์ติซอลอาจเพิ่มสูงขึ้นและกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้น จนทำให้เสี่ยงเกิดสิวหรือสิวเห่อ
    • หลีกเลี่ยงการสวมแมสก์หรือหน้ากากอนามัยเป็นเวลานาน หรือเปลี่ยนแมสก์บ่อยขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเหงื่อออกมาก อาจลดการเสียดสีของผิวหนังและลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา