backup og meta

สิวใต้คาง สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง วิธีรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

    สิวใต้คาง สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง วิธีรักษาและการป้องกัน

    สิวใต้คาง เช่น สิวอักเสบ สิวหัวดำ สิวหัวขาว เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อายุ พันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การสัมผัสผิว ผิวเสียดสีกับหน้ากากอนามัยหรือสายรัดหมวกกันน็อก โดยทั่วไป สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาแต้มสิวที่ออกฤทธิ์ลดการอุดตันของรูขุมขน ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และช่วยผลัดเซลล์ผิว ร่วมกับการดูแลผิวหน้าอย่างถูกวิธีและทำความสะอาดเครื่องใช้ส่วนตัวที่สัมผัสผิวใต้คางบ่อย ๆ เป็นประจำ ทั้งนี้ หากรักษาด้วยตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นสิวซ้ำบ่อย ๆ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม

    สาเหตุที่ทำให้เกิด สิวใต้คาง

    สิวใต้คาง มักเกิดจากการอุดตันของรูขุมขนเนื่องจากเซลล์ผิวที่ตายแล้วและสิ่งสกปรกรวมตัวกับซีบัมหรือน้ำมันบนผิว บางครั้งอาจเกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนังเจริญเติบโตมากเกินไป นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากผิวหนังเสียดสีหรือระคายเคืองจากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การสวมหมวกกันน็อกรัดคาง การสวมหน้ากากอนามัย การสัมผัสกับเครื่องนอนที่ไม่ได้ซักเป็นประจำ แต่สิวส่วนใหญ่มักเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน

    ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดสิวใต้คาง

    ปัจจัยเสี่ยงเกิดสิวใต้คาง อาจมีดังนี้

    • อายุ ในช่วงวัยรุ่น ระดับเทสโทสเตอร์โรนจะเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตซีบัม (Sebum) หรือน้ำมันเคลือบผิวในปริมาณมากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้รูขุมขนอุดตัน และเกิดสิวบนใบหน้า รวมไปถึงสิวใต้คางได้ง่าย
    • พันธุกรรม ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นสิว จะเสี่ยงเกิดสิวมากกว่าคนทั่วไป
    • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ฮอร์โมนที่แปรปรวนในช่วงเป็นประจำเดือนหรือขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดสิวฮอร์โมนที่ใต้คางได้
    • การมีสิวในบริเวณอื่น หากมีสิวในบริเวณใกล้เคียง เช่น รอบปาก แก้ม คาง แล้วมีการเสียดสีบ่อยครั้งอาจทำให้สิวที่มีลุกลามหรืออักเสบมากขึ้นได้
    • การใช้เครื่องสำอาง เครื่องสำอางบางชนิด อาจมีส่วนประกอบที่ก่อให้เกิดสิว เช่น น้ำมัน แอลกอฮอล์ พาราเบน ทำให้ผิวระคายเคืองหรือรูขมขนอุดตันจนอาจทำให้เกิดสิวใต้คางได้
    • การใช้ยา เช่น ยาสเตียรอยด์ (Steroid medicines) ยาลิเธียม (Lithium) ยารักษาโรคลมบ้าหมู อาจกระตุ้นให้เกิดสิวใต้คางได้
    • การรับประทานอาหาร เช่น อาหารที่มีแป้งอย่างขนมปัง ขนมเค้ก อาหารไขมันสูงอย่างไก่ทอด มันฝรั่งทอด นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวอย่างนม ช็อกโกแลต ชีส อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้น และเกิดสิวใต้คางได้
    • การเสียดสีหรือแรงกดบนผิว อาจเกิดจากของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หมวกกันน็อก หน้ากากอนามัย เครื่องนอน เสียดสีบริเวณใต้คางเป็นประจำ อาจกระตุ้นให้เกิดสิวได้

    สิวใต้คาง รักษา อย่างไร

    การรักษาสิวใต้คาง อาจทำได้ดังนี้

  • ใช้ยาแต้มสิวที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิว ลดความมัน ลดการอุดตันของรูขุมขน อย่างเรตินอยด์ (Retinoids) กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) ยาปฏิชีวนะอย่างคลินดาไมซิน (Clindamycin)
  • คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเพื่อช่วยควบคุมฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดสิว หากใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือยิ่งแย่ลง ควรหยุดใช้ทันทีแล้วใช้วิธีอื่นในการรักษาสิว
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ อาจช่วยลดจำนวนแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวบริเวณคางได้
  • การรักษาด้วยการผลัดเซลล์ผิว เป็นการผลัดเซลล์ผิวชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้ด้วยกรดธรรมชาติ เช่น เอเอชเอ บีเอชเอ พีเอชเอ
  • หลีกเลี่ยงการแกะเกาสิวบริเวณคาง เพราะอาจทำให้สิวที่มีอยู่แย่ลง หายช้า หรือเป็นรอยดำ
  • ใช้ครีมกันแดดที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน โดยควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป ก่อนออกแดดประมาณ 15-30 นาที และทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงแสงแดดด้วยการสวมหมวก เนื่องจากการสัมผัสแสงแดดโดยตรงอาจทำให้สิวแย่ลงหรือหายช้าลงได้
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้เกิดสิว เช่น ถอดหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่คนเดียว เปลี่ยนหน้ากากอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งหรือเมื่อหน้ากากเลอะเหงื่อมาก ทำความสะอาดหมวกกันน็อกบ่อย ๆ โดยเฉพาะบริเวณสายรัดคาง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น แฮมเบอร์เกอร์ หมูย่าง หมูติดมัน ข้าวมันไก่มีหนัง
  • จัดการความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่สนใจ เช่น อ่านหนังสือ เล่นเทนนิส หรือพบจิตแพทย์ เนื่องจากความเครียดอาจทำให้สิวที่มีอยู่แย่ลง ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพด้านอื่นได้ด้วย
  • การดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน สิวใต้คาง

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสิวใต้คาง อาจทำได้ดังนี้

    • ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน และควรล้างหน้าหลังทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออก โดยเฉพาะเมื่อสวมหมวก หมวกกันน็อก หรือมีอุปกรณ์เสียดสีหรือปิดบังใบหน้า ซึ่งอาจมีการสะสมของแบคทีเรียสะสมจนเกิดสิวได้
    • ใช้ครีมหรือโฟมล้างหน้าที่มีส่วนผสมที่อ่อนโยนต่อผิวและเหมาะกับสภาพผิวของตัวเอง ไม่มีน้ำหอมหรือแอลกอฮอล์ที่อาจทำให้ผิวระคายเคืองหรือทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดสิว
    • ล้างหน้าและลบเครื่องสำอางบนใบหน้าและลำคอให้หมดจดก่อนนอนทุกครั้ง
    • ทำความสะอาดเครื่องนอน เช่น ปลอกหมอน ปลอกหมอนข้าง ผ้าปูที่นอน อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
    • ทำความสะอาดมีดโกนหนวดทุกครั้งหลังใช้ และควรใช้ที่โกนหนวดไฟฟ้า โกนทางเดียวกับรูขุมขน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา