เลเซอร์สิวที่หลัง เป็นวิธีรักษาสิวที่ขึ้นอยู่บริเวณแผ่นหลังด้วยการใช้แสงเลเซอร์จี้เม็ดสิว เพื่อลดการอักเสบหรือทำให้หัวสิวหลุดออก ทั้งนี้ สิวที่หลังมักเกิดจากการอุดตันของรูขุมขน ก่อให้เกิดสิวได้หลายประเภท เช่น สิวหัวดำ สิวหัวขาว สิวหัวหนอง การเลเซอร์สิวที่หลัง ควรได้รับคำแนะนำจากคุณหมอผิวหนังหรือผู้เชี่ยวชาญในการเลือกใช้แสงเลเซอร์ที่เหมาะกับสิวแต่ละประเภท เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาสิวและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด
[embed-health-tool-bmr]
สิวที่หลัง เกิดจากกอะไร
สิวที่หลัง มักเกิดจากการอุดตันของรูขุมขน เนื่องจากไขมัน หรือเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และอาจนำไปสู่การบวมหรืออักเสบตามมาได้ นอกจากนั้นแล้ว ยังเกิดจากระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนซึ่งเพิ่มสูงขึ้น มีส่วนทำให้ต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตไขมันออกมามากเกินไป จนเป็นเหตุให้ไขมันอุดตันในรูขุมขนบ่อย ๆ หรือเป็นสิวได้ง่ายโดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น หรือหากพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นสิว ลูกมักมีโอกาสสูงที่จะเป็นสิวเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้น สิวที่หลังยังอาจเกิดได้จากเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ซึ่งอาศัยอยู่ตามผิวหนัง อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเม็ดคล้ายสิวบนร่างกาย หรือ “สิวยีสต์” ได้ด้วย โดยเชื้อราชนิดนี้มักเติบโตได้ดีในบริเวณที่อับชื้น เช่น บนแผ่นหลังของนักกีฬาหรือผู้ที่แผ่นหลังชุ่มเหงื่ออยู่เสมอ
โดยทั่วไป สิวที่หลัง มักพบเป็นสิวหัวดำ สิวหัวขาว สิวผด หรือสิวซีสต์ ซึ่งมีลักษณะเป็นถุงน้ำขนาดใหญ่ใต้ผิวหนัง
เลเซอร์สิวที่หลัง คืออะไร มีขั้นตอนอย่างไร
เลเซอร์สิวที่หลังเป็นวิธีรักษาสิวด้วยการใช้แสงเลเซอร์จี้เม็ดสิวเพื่อลดการอักเสบหรือบวมแดงของสิว และทำให้สิวค่อย ๆ ยุบตัวลงในเวลาต่อมา โดยคุณหมอมักเลือกใช้แสงเลเซอร์แตกต่างกันเพื่อรักษาสิวที่หลังแต่ละชนิดตามความเหมาะสม ดังนี้
- สิวอักเสบทั่วไป คุณหมอจะรักษาด้วยแสงเลเซอร์สีแดงหรือน้ำเงิน รวมถึงแสงอินฟาเรด เพื่อลดการอักเสบของสิว
- สิวอุดตัน คุณหมอจะรักษาด้วยการยิงแสงเลเซอร์จำนวนมากลงไปบนใบหน้า หรือเรียกว่า โฟโตนิวเมติก (Photopneumatic Therapy) เพื่อเปิดหัวสิว ก่อนบีบสิวเพื่อขับของเหลวข้างในออกมา
- สิวอักเสบรุนแรง คุณหมอมักเลือกใช้การรักษาสิวที่เรียกว่า โฟโตไดนามิก (Photodynamic Therapy) ซึ่งจะช่วยลดปริมาณไขมันที่ต่อมไขมันผลิตทำให้โอกาสเป็นสิวเนื่องจากการอุดตันของไขมันในรูขุมขนลดลง สำหรับวิธีการรักษา คุณหมอจะทาหรือฉีดสารเคมีลงบนแผ่นหลังคนไข้ จากนั้นฉายแสงเลเซอร์เพื่อกระตุ้นให้สารดังกล่าวออกฤทธิ์ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีราคาค่อนข้างสูง
เลเซอร์สิวที่หลัง จะเห็นผลลัพธ์ภายในกี่วันหลังการรักษา
สำหรับผู้ที่มีเม็ดสิวจำนวนน้อย และเป็นสิวชนิดไม่รุนแรง โดยทั่วไปมักเห็นผลหลังจาก 7 วันไปแล้วหลังจากทำเลเซอร์สิวที่หลัง และควรต้องเข้ารับการทำเลเซอร์ทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ หรือตามลักษณะอาการของสิวที่เป็น เพื่อให้การรักษาเห็นผลอย่างชัดเจน สำหรับผู้ที่เป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรง อาจใช้เวลานานกว่านั้น และมักต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคุณหมออาจใช้วิธีการรักษาแบบอื่นร่วมด้วย เช่น การรับประทานยาเพื่อลดการอักเสบของสิว
เลเซอร์สิวที่หลัง ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง
หลังจากการเลเซอร์สิวที่หลัง ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ อาจมีดังนี้
- รู้สึกเจ็บบริเวณที่ได้รับการรักษา
- ผิวบริเวณที่ฉายแสงเลเซอร์อาจเกิดเป็นรอยดำ รอยแดง หรือเป็นแผลเป็น
- แผ่นหลังระคายเคืองง่าย ทำให้ช่วงแรก ๆ หลังการรักษา ควรหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป และเลือกใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี รวมทั้งหลีกเลี่ยงการออกแดดหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน
- เกิดการติดเชื้อ โดยเฉพาะในกรณีเข้ารับการเลเซอร์สิวที่หลังในสถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน
ข้อดีและข้อเสียของการเลเซอร์สิวที่หลัง
ข้อดี
- สิวหายได้ไวกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่น
- หลังเข้ารับการเลเซอร์สิวที่หลังแล้วไม่ต้องนอนพักฟื้น สามารถกลับบ้านได้เลย
- เป็นตัวเลือกรักษาสิวที่หลังสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกทาครีมบนแผ่นหลัง
ข้อเสีย
- ค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะถ้าเป็นสิวที่หลังจำนวนมาก
- ต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้งและต่อเนื่อง เพื่อให้การรักษาเห็นผลชัดเจน
- อาจเกิดแผลเป็นนูนหลังการเลเซอร์ได้
วิธีป้องกันการเกิดสิวที่หลัง
สิวที่หลัง อาจสามารถป้องกันด้วยวิธีการต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป รวมถึงเลือกสวมใส่เสื้อผ้าซึ่งทำจากผ้าฝ้าย เพื่อลดการหมักหมมและอับชื้น
- ทำความสะอาดผิวหนังอย่างเบามือ งดการแคะ แกะ เกา หรือเลี่ยงการขัดผิวหนังอย่างรุนแรง
- งดใช้ผลิตภัณฑ์ซึ่งทำให้ผิวหนังระคายเคืองหรืออักเสบ
- ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว หรือเครื่องสำอาง ที่ไม่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม
- หากเป็นสิว ไม่ควรบีบหรือกด เพราะจะทำให้อาการของสิวแย่ลงหรืออักเสบ
- เปลี่ยนจากใช้เป้สะพายหลังเป็นกระเป๋าถือ เพราะการสะพายเป้จะทำให้เหงื่อที่หลังไม่แห้ง หรือแห้งได้ช้า ซึ่งอาจส่งผลให้หลังมีความชื้นสะสมเป็นเวลานาน และทำให้เชื้อราเติบโตได้ดี