backup og meta

ใส่แมสแล้วสิวขึ้น เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

    ใส่แมสแล้วสิวขึ้น เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

    การใส่แมสหรือหน้ากากอนามัย เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการป้องกันเชื้อโรคและมลภาวะ เช่น เชื้อไวรัสโคโรน่า (CoVs) ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 คนส่วนใหญ่จึงยังคงใส่แมสอยู่เป็นประจำทุกวันเพื่อความปลอดภัย แต่การสวมใส่แมสเป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวหน้าระคายเคืองจนเกิดปัญหาผิวตามมา หลายคนอาจ ใส่แมสแล้วสิวขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากน้ำมันบนผิว เซลล์ผิวที่ตายแล้ว และสิ่งสกปรกต่าง ๆ อุดตันรูขุมขน หรืออาจมีผื่นคันเนื่องจากผิวเสียดสีกับแมสจนระคายเคือง การใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์และใช้ยาแต้มสิวที่เหมาะกับผิว ทาครีมกันแดด ล้างหน้าให้สะอาดก่อนนอน เปลี่ยนแมสทุก ๆ 4-5 ชั่วโมง รวมถึงไม่แต่งหน้าเมื่อต้องใส่แมส อาจช่วยรักษาสิวที่เกิดจากการใส่แมสได้

    ใส่แมสแล้วสิวขึ้น เกิดจากอะไร

    โดยทั่วไปแล้ว สิวมักเกิดจากต่อมไขมันหลั่งน้ำมันเคลือบผิวหรือซีบัมออกมามากเกินไป เมื่อน้ำมันส่วนเกินรวมตัวกับเซลล์ผิวที่ตายแล้ว สิ่งสกปรก ก็อาจทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดเป็นสิว และหากมีแบคทีเรียเจริญเติบโตในสิว ก็อาจทำให้กลายเป็นสิวอักเสบหรือสิวหัวช้าง สำหรับผู้ที่ใส่แมสเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อหายใจหรือพูดคุย แมสที่ใส่อาจกักเก็บอากาศที่อุ่นชื้นเอาไว้ ทำให้แบคทีเรียหรือเชื้อยีสต์เจริญเติบโตได้มากกว่าปกติ และเมื่อผิวหนังภายในแมสเสียดสีกับแมสบ่อยครั้ง อาจกระตุ้นให้เกิดสิวได้ง่ายขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ ใส่แมสแล้วสิวขึ้น อาจมีดังนี้

  • รูขุมขนอุดตัน ส่งผลให้ผิวหนังอักเสบจนเกิดสิวที่ผิวหนังใต้แมส
  • ผิวหนังระคายเคืองจากการเสียดสีกับแมสที่ใส่
  • ผิวหนังมีปฏิกิริยาตอบสนองหรือแพ้ผงซักฟอกที่ใช้ซักแมสผ้า สีย้อมหรือสารอื่น ๆ ในแมสชนิดใช้แล้วทิ้ง
  • สิวที่ขึ้นจากการใส่แมส มีลักษณะอย่างไร

    อาการของสิวที่เกิดจากการใส่แมส อาจมีดังนี้

    • เกิดสิวหนอง สิวหัวขาว หรือสิวหัวดำขนาดเล็ก
    • ผิวหนังรอบ ๆ สิวมีสีแดง แสบร้อน หรือคัน
    • สิวขึ้นบริเวณรอบจมูก แก้ม ปาก กรอบหน้า คาง หรือบริเวณที่สัมผัสแมส

    วิธีรักษาเมื่อ ใส่แมสแล้วสิวขึ้น

    วิธีรักษาเมื่อ ใส่แมสแล้วสิวขึ้น สามารถทำได้ดังนี้

    • สำหรับอาการอักเสบ ควรใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ในรูปแบบครีม อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ บวมแดง คัน หรือระคายเคืองเนื่องจากผิวเสียดสีกับแมส หรือสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ และหยุดใช้เมื่ออาการดีขึ้น
    • ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีส่วนผสมช่วยให้ความชุ่มชื้นและลดการระคายเคืองของผิว เช่น เซราไมด์ (Ceramide) กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) ไดเมทิโคน (Dimethicone) ทั้งนี้ ควรใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่เหมาะกับสภาพผิว เพื่อป้องกันการเกิดสิวเห่อ เช่น ผิวมันและผิวเป็นสิวใช้แบบเจล ผิวธรรมดาหรือผิวผสมใช้แบบโลชัน ผิวแห้งหรือแห้งมากใช้แบบครีม
    • ทาครีม เจล หรือโลชันที่มีส่วนประกอบของเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) ซึ่งมีฤทธิ์กำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและช่วยลดความมันส่วนเกินที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน จึงอาจช่วยบรรเทาอาการของสิวหัวดำและสิวหัวขาวได้ ควรทาให้ทั่วบริเวณที่เป็นสิวแทนการทาเฉพาะจุด และอาจใช้ในระดับความเข้มข้นไม่เกิน 5.3% เพื่อไม่ให้ผิวระคายเคือง แห้งกร้าน หรือลอก

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสิวขึ้น

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้ใส่แมสแล้วสิวขึ้น สามารถทำได้ดังนี้

    • ล้างหน้าให้สะอาดเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อย 2 ครั้ง/วัน ในตอนเช้าและก่อนเข้านอน เพื่อชะล้างคราบเครื่องสำอาง ครีมกันแดด สิ่งสกปรก มลภาวะ ที่อาจทำให้รูขุมขนอุดตันจนเกิดสิว และซับหน้าเบา ๆ ด้วยผ้าขนหนูสะอาด ทาครีมบำรุงผิวขณะผิวหน้ายังหมาดอยู่ หลีกเลี่ยงการถูผิวหน้าแรงเพราะอาจระคายเคืองผิวได้
    • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่เหมาะกับสภาพผิว หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบที่อาจทำให้ผิวอุดตันหรือระคายเคือง เช่น น้ำหอม แอลกอฮอล์ พาราเบน ซิลิโคน
    • หลังทำกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก เช่น ออกกำลังกาย ทำความสะอาดบ้าน ควรล้างหน้าให้สะอาด และเปลี่ยนแมสอันใหม่ เพื่อไม่ให้ผิวหน้าสัมผัสกับเหงื่อและสิ่งสกปรกที่สะสมอยู่ที่แมสนานเกินไป
    • หากต้องใส่แมสตลอดทั้งวัน ควรงดแต่งหน้า เพราะเครื่องสำอางอาจทำให้รูขุมขนอุดตันและเกิดสิวได้ง่ายขึ้น หรือหากต้องแต่งหน้าควรเลือกเครื่องสำอางที่ระบุบนฉลากว่าไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน (Non-comedogenic)
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวใหม่ ๆ ที่ไม่เคยใช้มาก่อน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดฤทธิ์แรง เช่น เรตินอยด์ กรดผลไม้อย่างเอเอชเอ (AHAs) บีเอชเอ (BHAs) เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเกิดสิวได้ง่ายขึ้น
    • เลือกแมสที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด โดยเลือกแมสที่มีลักษณะกระชับใบหน้า แนบไปกับจมูก แก้ม และใต้คางได้พอดี สวมใส่สบาย ไม่หลวมหรือรัดใบหน้ามากเกินไปจนทำให้สายแมสหรือแมสเสียดสีกับผิวหนังบ่อยครั้ง อาจช่วยป้องกันไม่ให้ใส่แมสแล้วสิวขึ้นได้
    • ผู้ที่ใช้แมสผ้าควรซักแมสทุกครั้งหลังใช้งาน หลีกเลี่ยงการใส่แมสซ้ำติดต่อกันหลายวันโดยไม่ซัก และควรใช้ผงซักฟอกที่อ่อนโยน ไม่มีส่วนผสมที่ทำให้ผิวระคายเคือง เช่น น้ำหอม
    • ผู้ที่ใช้แมสทางการแพทย์หรือแมสชนิดใช้แล้วทิ้ง ควรเปลี่ยนแมสใหม่ทุกวัน หรือหากใส่ติดต่อกันหลายชั่วโมง ควรเปลี่ยนแมสใหม่ทุก 4-5 ชั่วโมง เพื่อลดการสะสมของเหงื่อ เชื้อโรค ละอองน้ำลาย และแบคทีเรียบนแมส

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา