backup og meta

หน้าหย่อนคล้อย เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

หน้าหย่อนคล้อย เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

หน้าหย่อนคล้อย เป็นปัญหาผิวหน้าที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่ออายุมากขึ้น เนื่องจากร่างกายผลิตคอลลาเจน (Collagen) ที่ทำหน้าที่ยึดเกาะเนื้อเยื่อต่าง ๆ และเสริมสร้างความแข็งแรงให้ผิว และอิลาสติน (Elastin) ที่ทำหน้าที่รักษาความยืดหยุ่นของผิวได้น้อยลง นอกจากนั้น สาเหตุของหน้าหย่อนคล้อยยังเกิดจากปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต การสูบบุหรี่ รวมถึงภาวะวัยทองในเพศหญิง ทั้งนี้ หน้าหย่อนคล้อยอาจดูแลและรักษาให้เต่งตึงและกระชับขึ้นได้ชั่วคราว ด้วยวิธีการทางการแพทย์ต่าง ๆ เช่น ร้อยไหม ฉีดโบท็อก ฉายแสงเลเซอร์

[embed-health-tool-bmi]

หน้าหย่อนคล้อยเกิดจากอะไร

หน้าหย่อนคล้อย รวมถึงรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า เป็นปัญหาผิวหนังที่พบได้ทั่วไปเมื่ออายุมากขึ้น หรือตั้งแต่อายุ 35-40 ปีขึ้นไป สาเหตุของผิวหนังหย่อยคล้อย คือร่างกายผลิตโปรตีนคอลลาเจนและอิลาสตินได้น้อยลง โดยโปรตีนทั้ง 2 ชนิด มีคุณสมบัติช่วยให้ผิวหน้าและผิวหนังตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย มีความเต่งตึงและยืดหยุ่น

นอกจากนี้ เมื่ออายุมากขึ้น ระดับของกรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic Acid) ในร่างกายก็ลดลงเช่นกันโดยกรดไฮยาลูโรนิคนั้นมีหน้าที่ช่วยคงความชุ่มชื้นและรักษาให้ผิวหนังอิ่มน้ำ เมื่อกรดไฮยาลูโรนิคลดลง ผิวหนังจึงแห้งขึ้นและเห็นริ้วรอยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเป็นสาเหตุให้ผิวหน้าหย่อนคล้อยและเกิดริ้วรอยอื่น ๆ ได้แก่

  • แสงแดด รังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด มีส่วนทำลายสารต้านอนุมูลอิสระรวมถึงคอลลาเจนและอีลาสตินในผิวหนัง เมื่อผิวหน้าต้องเผชิญกับแสงแดดบ่อยครั้ง จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ผิวหน้าหย่อนคล้อย เกิดริ้วรอยและจุดด่างดำมากขึ้น
  • บุหรี่ การสูบบุหรี่มีส่วนทำให้คอลลาเจน อีลาสติน และสารโปรติโอไกลแคน (Proteoglycan) ในผิวหนังลดลง เนื่องจากเมื่อสารนิโคตินในบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะสร้างเอนไซม์ตัวหนึ่งขึ้นมา และไปรบกวนการทำงานของโปรตีนต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยรักษาความยืดหยุ่น ความแข็งแรงของเซลล์ผิวหนัง เมื่อสูบบุหรี่จึงเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้หน้าหย่อนคล้อย และมีสภาพผิวหน้าที่แก่เกินวัยได้อีกด้วย
  • วัยทอง เมื่อเพศหญิงเข้าสู่วัยทอง ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนน้อยลง ส่งผลให้เพศหญิงสูญเสียคอลลาเจนในผิวหนังมากขึ้น ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 5 ปีแรกเมื่อเข้าสู่วัยทอง
  • การนอนตะแคงและนอนคว่ำ หรือการนอนในท่าที่ทำให้ผิวหน้าถูกบี้หรือกดไว้ มีส่วนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใต้ชั้นผิวและส่งผลออกมาสู่ผิวหนังชั้นนอกได้ เช่น รอยย่น รอยพับ
  • การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อซ้ำไปซ้ำมา เช่น การขมวดคิ้ว การเลิกคิ้ว การย่นหน้า จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้ามากขึ้น

หน้าหย่อนคล้อย รักษาอย่างไรได้บ้าง

หน้าหย่อนคล้ายอาจรักษาได้ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ร้อยไหม คือการร้อยไหมละลายซึ่งมีตะขอเล็ก ๆ เข้าใต้ผิวหน้า เพื่อยกกระชับผิวหน้าที่หย่อนคล้อยให้เต่งตึง ทั้งนี้ การร้อยไหมเป็นวิธีการเห็นผลไว หรือภายใน 2 วัน และผลคงอยู่ประมาณ 1-3 ปี
  • ฉีดโบท็อก เป็นการฉีดสารโบทูลินัมท็อกซินเอ (Botulinum Toxin A) เข้าสู่ใบหน้า ซึ่งเป็นสารที่สกัดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า ทำให้ใบหน้าเต่งตึง ดูเหมือนไม่มีริ้วรอย การฉีดโบท็อก 1 ครั้ง จะใช้เวลาราว 10-20 นาที และจะเห็นผลได้ภายใน 1-2 สัปดาห์หลังจากการฉีด และผลของการฉีดโบท็อกหนึ่งครั้งจะคงอยู่นานราว ๆ 3-6 เดือน
  • อัลเทอร่าหรืออัลเทอราปี (Ulthera หรือ Ultherapy) เป็นการใช้เครื่องมือเฉพาะทางการแพทย์ปล่อยคลื่นความถี่สูง คลึงไปบนใบหน้า เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายผลิตคอลลาเจนเพิ่มขึ้น และทำให้ใบหน้ากระชับ เต่งตึง ริ้วรอยดูจางลง โดยทั่วไป การรักษาผิวหน้าแบบอัลเทอร่าจะเห็นผลภายใน 1-3 เดือน หลังจากการรักษา และผลการรักษาจะคงอยู่ประมาณ 1 ปี หรือมากกว่านั้นหากมีการรับประทานอาหารเสริมคอลลาเลน
  • เทอร์มาจ (Thermage) เป็นการปล่อยพลังงานคลื่นวิทยุความถี่สูง ผ่านอุปกรณ์เฉพาะ ไปยังผิวหน้า เพื่อทำให้เกิดความร้อน ซึ่งจะกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและการทำงานของคอลลาเจนในผิวหนัง มักเห็นผลหลังการรักษาผ่านไปแล้วภายใน 1 สัปดาห์ และผลการรักษาจะคงอยู่ประมาณ 6 เดือน-1 ปี
  • รับประทานคอลลาเจนทดแทน อาจช่วยให้ผิวหนังเต่งตึงขึ้น งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยประสิทธิภาพของคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมต่อผิวหนัง ตีพิมพ์ในวารสาร Skin Pharmacology and Physiology ปี พ.ศ. 2557 นักวิจัยสุ่มให้เพศหญิงอายุระหว่าง 35-55 ปี จำนวน 69 ราย รับประทานคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมและยาหลอก เป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยเมื่อครบกำหนดการทดลอง นักวิจัยพบว่า ผู้หญิงกลุ่มที่รับประทานคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมมีผิวหนังยืดหยุ่นกว่าเดิม เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก
  • ฉายแสงเลเซอร์ชนิดไม่ก่อให้เกิดแผล (Non-ablative Laser) เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอลลาเจนเพิ่มขึ้นด้วยการใช้ความร้อนจากแสงเลเซอร์ การรักษาหน้าหย่อนคล้อยด้วยวิธีนี้ ควรทำติดต่อกันประมาณ 3-5 ครั้ง เพื่อให้เห็นผลชัดเจน หากทำครบตามกำหนดอาจช่วยให้ผลการรักษาคงอยู่นานราว ๆ 1-2 เดือน

หน้าหย่อนคล้อย ป้องกันได้หรือไม่

หน้าหย่อนคล้อย ที่มีสาเหตุจากระดับคอลลาเจนและอิลาสตินที่ลดลง ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย

อย่างไรก็ตาม การป้องกันใบหน้าหย่อนคล้อยที่มีสาเหตุจากปัจจัยภายนอก อาจป้องกันได้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดด เพราะรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดเป็นตัวการสำคัญในการทำลายคอลลาเจนและอิลาสตินในผิวหนัง
  • หากจำเป็นต้องเผชิญแสงแดด ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป หรือสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวก แว่นตากันแดด เสื้อผ้าแขนยาวขายาว
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นของผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารไขมันสูง เนื่องจากไขมันชนิดเลวมักก่อให้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative stress) ซึ่งเป็นสาเหตุของผิวหนังเสื่อมสภาพ
  • งดการสูบบุหรี่ หรือพยายามเลิกสูบบุหรี่

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tobacco smoke causes premature skin aging. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17951030/#:~:text=Smoking%20increases%20MMP%20levels%2C%20which,smoke%2Dinduced%20premature%20skin%20aging. Accessed June 24, 2022

The Effects of Aging on Skin. https://www.webmd.com/beauty/cosmetic-procedures-aging-skin. Accessed June 24, 2022

Why your face ages and what you can do. https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/why-your-face-ages-and-what-you-can-do. Accessed June 24, 2022

Oral supplementation of specific collagen peptides has beneficial effects on human skin physiology: a double-blind, placebo-controlled study. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23949208/. Accessed June 24, 2022

Aging changes in skin. https://medlineplus.gov/ency/article/004014.htm#:~:text=With%20aging%2C%20the%20outer%20skin,%2C%20and%20clear%20(translucent). Accessed June 24, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/08/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

Salicylic Acid คือ อะไร มีประโยชน์อย่างไรกับผิวหนัง

ลายสัก อันตรายไหม ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผิวหนังอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา