backup og meta

อาการคันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

    อาการคันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดจากอะไร

    อาการคันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นอาการของโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคลมพิษ ผิวแห้ง หรืออาการแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือสารก่อความระคายเคือง ซึ่งมักเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างสบู่ ผงซักฟอก หรือเครื่องสำอาง โดยปกติ อาการคันตามตัวโดยไม่มีสาเหตุมักหายไปหลังจากดูแลตนเองในเบื้องต้น แต่หากอาการคันไม่ดีขึ้น หรือไม่หายไปภายใน 2 สัปดาห์ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการคัน และประเมินการรักษาด้วยการให้ทายาแก้อักเสบหรือรับประทานยา

    อาการคันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดจากอะไรได้บ้าง

    อาการคันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุมักเกิดจากโรคหรือภาวะสุขภาพต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    • โรคหรือภาวะสุขภาพเกี่ยวกับผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคสะเก็ดเงิน โรคหิด โรคลมพิษ ผิวแห้ง ผิวไหม้ แมลงหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย รวมถึงการสัมผัสกับสารที่ทำให้ผิวหนังระคายเคืองหรือแพ้ เช่น สบู่ เกสรดอกไม้ สเปรย์กำจัดแมลง สารกันเสียในอาหารหรือเครื่องสำอาง ครีมกันแดด ยาใช้ภายนอกบางชนิด โลหะบางชนิด ยางของพืชหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำจากยางพารา
    • โรคหรืออาการป่วยที่ไม่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง เช่น โรคตับวาย ซึ่งผู้ป่วยบางคนจะมีเกลือน้ำดี (Bile Salt) สะสมอยู่ตามผิวหนังในปริมาณมาก ทำให้เกิดอาการคันตามตัว ภาวะโลหิตจาง และภาวะเลือดข้น  มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด โรคทัยรอยด์ และภาวะโรคไตวายเรื้อรัง
    • ภาวะทางจิต เช่น ความเครียดหรือวิตกกังวล อาจส่งผลต่อระบบประสาท และทำให้เกิดอาการแสบร้อนหรือคันตามร่างกาย อาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือเมื่อเกิดอาการคันแล้วจะเป็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อาจรู้สึกคันพร้อมกับมีอาการเครียดวิตกังวลหรืออาจเป็นก่อนหรือหลังภาวะทางจิตก็ได้
    • การลดลงของฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) เมื่อเพศหญิงเข้าสู่วัยทองหรืออยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ อาจเกิดอาการคันตามตัวได้เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการผลิตโปรตีนคอลลาเจนในผิวหนัง และการผลิตน้ำมันจากต่อมใต้ผิวหนังด้วย เมื่อเอสโตรเจนลดลงจะส่งผลให้คอลลาเจนและน้ำมันจากต่อมใต้ผิวหนังลดลงตามไปด้วย และในบางครั้งอาจทำให้ผิวหนังบางลงและเกิดอาการคันตามมา

    อาการคันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุและการดูแลตนเองเบื้องต้น

    เมื่อมีอาการคันตามตัวอาจดูแลตนเองเบื้องต้นเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ทาครีมหรือมอยส์เจอไรซ์เซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้งหลังทำความสะอาดผิว
  • ทาครีมแก้คันบริเวณที่มีอาการเพื่อบรรเทาอาการคัน
  • ประคบเย็นบริเวณผิวหนังที่มีอาการ
  • เลือกใช้สบู่สูตรอ่อนโยนทำความสะอาดผิว
  • หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าที่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือสารก่อความระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการสวมเครื่องประดับที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น นิกเกิล เครื่องเงิน โลหะ
  • อาการคันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    เมื่อมีอาการคันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ ปกติแล้วอาการมักค่อย ๆ หายไปหลังจากดูแลตัวเองในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ควรไปพบคุณหมอผิวหนังหากอาการคันมีลักษณะดังต่อไปนี้

    • คันทั่วทั้งตัวตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
    • คันต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์
    • อาการคันไม่ดีขึ้นเมื่อดูแลตัวเองหรือทายาแล้ว
    • เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและอาการคันไม่หายไป
    • อาการคันเกิดขึ้นพร้อมอาการอื่น ๆ เช่น น้ำหนักตัวลดลง มีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน อารมณ์แปรปรวน

    อาการคันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุรักษาอย่างไร

    เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอมักสอบถามอาการและประวัติสุขภาพโดยทั่วไป และตรวจหาสาเหตุของโรคด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ตรวจเลือด
    • ทดสอบอาการแพ้ต่อสารต่าง ๆ
    • นำผิวหนังบางส่วนไปตรวจในห้องปฏิบัติการ

    ทั้งนี้ เมื่อทราบสาเหตุของอาการคันแล้ว คุณหมอจะเลือกรักษาคนไข้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

    • ให้ยาทาชนิดครีม เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ซึ่งมีฤทธิ์แก้อักเสบ หรือแคลซินูริน อินฮิบิเตอร์ (Calcineurin Inhibitors) ที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันและใช้รักษาอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน อย่างโรคสะเก็ดเงินหรือโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
    • ให้รับประทานยา เช่น ยาต้านฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการออกฤทธิ์ของสารฮิสตามีนที่หลั่งจากระบบภูมิคุ้มกันเมื่อมีอาการแพ้ แล้วทำให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ รวมถึงอาการคัน โดยปกติคุณหมอจะจ่ายยาชนิดนี้ให้คนไข้เพื่อรักษาอาการแพ้ต่าง ๆ นอกจากนี้ ในกรณีที่อาการคันเกิดจากความวิตกกังวล คุณหมอจะจ่ายยาสำหรับรักษาภาวะทางจิตให้คนไข้ เช่น ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) โคลนาซีแพม (Clonazepam) หรือคลอร์ไดอาซีพอกไซด์ (Chlordiazepoxide)
    • ส่องไฟ (Phototherapy) เป็นวิธีรักษาอาการป่วยในกรณีที่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล เพื่อควบคุมปริมาณสารไซโตไคน์ (Cytokines) ที่หลั่งออกมาจากระบบภูมิคุ้มกันและก่อให้เกิดอาการคันหรืออักเสบตามผิวหนัง

    อาการคันตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ ป้องกันด้วยวิธีใดได้บ้าง

    อาการคันตามตัว อาจป้องกันได้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • ทามอยส์เจอไรเซอร์สม่ำเสมอเพื่อป้องกันผิวแห้ง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการคัน
    • ทาครีมกันแดดก่อนออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันผิวไหม้หรือผิวเสียหายจากรังสีอัลตราไวโอเลต
    • ใช้สบู่สูตรอ่อนโยนต่อผิวพื่อลดสาเหตุที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้
    • จัดการความเครียดและความวิตกกังวลด้วยการทำสมาธิ เล่นโยคะ หรือทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ

    นอกจากนี้ ไม่ควรเกาหากมีอาการคัน เพราะหากยิ่งเกาจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ผิวหนังอักเสบหรือติดเชื้อได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา